ก่อนหน้าวันครบรอบ 10 ปีรัฐประหารคสช.หนึ่งวัน ในวันอังคารที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย โชว์ความเป็นเสือปืนไว ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารก่อนใคร โดยจั่วหัวเรื่องในแถลงการณ์ไว้ว่า
10 ปีที่ผ่านไป จากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
‘ยุติวงจรรัฐประหาร ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’
แม้ดูเป็นข้อความเรียบๆ แถมยังจับเอารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ ‘ยังเป็นวุ้น’ อยู่มาเป็นจุดขายด้วย แต่ส่องเข้าไปดูเนื้อในแถลงการณ์ มีหลายประโยคที่ชวนให้ ‘เคลิบเคลิ้ม’ ตาม กับการใช้ภาษาที่หนักหน่วงรุนแรง กึ่งๆ ปลุกระดม เช่นคำว่า
การรัฐประหาร คือ อาชญากรรมร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ เป็นอาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตย..เราจะร่วมกันต่อต้านการรัฐประหาร การรัฐประหารต้องหมดไปจากประเทศไทย
นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายประโยคใหญ่ อันเป็นวรรคทองที่บรรจงสื่อความออกมาว่า
‘พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า เราปฏิเสธการรัฐประหาร ไม่ยอมรับสารตั้งต้นที่อาจเป็นการสร้างเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหาร และปฏิเสธการนิรโทษกรรมต่อการรัฐประหารในทุกกรณี ศาลและองค์กรรัฐอื่นๆ ต้องยกเลิกบรรทัดฐานที่ว่า การรัฐประหารโดยใช้กำลังอาวุธสำเร็จ เป็นรัฏฐาธิปัตย์
เรายืนยันแนวคิดให้มีการตรากฎหมายต่อต้านการรัฐประหารขึ้น โดยห้ามมิให้ศาลยอมรับการรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และยืนยันในแนวคิดว่า ความผิดในการรัฐประหารไม่มีอายุความ โดยให้ถือเป็นประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย
พรรคเพื่อไทยในฐานะสถาบันการเมือง ในฐานะแกนนำรัฐบาลของพี่น้องประชาชน เราจะบริหารราชการแผ่นดินอย่างดีที่สุด เราจะร่วมมือกันกับคนไทยผู้รักประชาธิปไตย ไม่ให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก’
แถลงการณ์ดังกล่าวของพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาก่อนหน้าวันครบ 10 ปีรัฐประหาร คสช.( 22 พฤษภาคม 2557) จะมองเป็นการแสดงจุดยืนปกติของพรรคการเมืองก็ย่อมได้ เพราะเพื่อไทยเป็น**‘พรรคการเมืองที่บริหารประเทศ’** อยู่ ณ เวลานั้น และถูกรัฐประหารโดย คสช.
แต่ถ้ามองผ่านสถานการณ์ปัจจุบัน นับว่าไม่ธรรมดา เพราะอยู่ในห้วงเวลาที่พรรคเพื่อไทย ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ‘ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ’ ที่ทำให้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้เดินทางกลับประเทศแบบเท่ๆ และอยู่ระหว่างเตรียมการพา ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 น้องสาวที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน เดินทางกลับประเทศภายในปีนี้ด้วย
โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา หลังเดินทางกลับประเทศมารับโทษทัณฑ์ การเคลื่อนไหวของทักษิณ ถูกมองเป็น ‘อภิสิทธิ์ชน’ ทำลายระบบยุติธรรมไทย และ ‘ย่ำยี’ หัวใจคนไทยกลุ่มที่ลุกขึ้นมาขับไล่ระบอบทักษิณในอดีต จนเกิดเป็นอารมณ์สะสมปลุกให้ศัตรูเก่าลุกขึ้นมาทีละคนๆ จนนำไปสู่การก่อตัวของม็อบขนาดย่อมๆ ขึ้น
แม้จะเป็นม็อบจากคนกลุ่มเดิมๆ ที่อาจเพราะเคว้งคว้างไม่มีที่ไป แต่ก็ได้รวบรวมอารมณ์คนที่รู้สึกผิดหวัง ไม่พอใจ อยู่ในภาวะเหมือน ‘ถูกหลอกมาตลอดยี่สิบปี’ ของการต่อสู้ มาไว้ในที่เดียวกัน และเฝ้ารอว่าสถานการณ์จะถูกจุดติดขึ้นในวันไหน เพราะวันนี้ประเมินแล้วมีแต่อารมณ์หมั่นไส้ล้วนๆ
ที่สำคัญยังหาคนที่มีบารมีมานำม๊อบไม่ได้!!
ในขณะที่ทักษิณและพรรคเพื่อไทย ยังขยันเดินหน้าผูกปมใหม่ๆ ขึ้นไม่หยุดหย่อน กระทั่งมาถึงประเด็นล่าสุดกรณีของ ‘พิชิต ชื่นบาน’ ที่ตัดสินใจใช้วิธี ‘ตัดช่องน้อย’ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีไป ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง 40 สว.เพื่อยุติไม่ให้เรื่องลุกลามไปถึงตัวนายกรัฐมนตรี
ทว่าเป็นการปิดที่ไม่จบ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องเอาผิดนายกรัฐมนตรีไว้ดำเนินต่อ
ย้อนไปดูการแถลงเปิดใจก่อนการลาออกของพิชิต มีการเอ่ยคำว่า ‘วงจรอุบาทว์’ อยู่หลายครั้ง ที่สื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของเกมการเมืองที่ต้องการเอาเศรษฐาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
‘วันนี้ถือเป็นเงื่อนไข เพราะวงจรอุบาทว์เล่นแบบนี้ ตอนนี้เรามีนายกรัฐมนตรี บ้านเมืองปกติอยู่แล้ว มาทำให้บ้านเมืองยุ่งเหยิงขาดไร้นายกรัฐมนตรีทำไม’
พิชิตไม่ได้บอก วงจรอุบาทว์ ที่ว่านั้นมาจากกลุ่มอำนาจเก่าหรือไม่ โดยให้ไปพิจารณากันเอาเอง แต่ย้ำว่าถ้าติดใจเรื่องคุณสมบัติก็ยื่นดำเนินการเฉพาะตนคนเดียว
ใครที่ได้ประโยชน์หากเศรษฐา ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลุ่มอำนาจเก่าหรือคนในเพื่อไทยด้วยกันที่มีหลายปีก หลายบ้าน เรื่องนี้ต้องดูกันยาวๆ ในอนาคตว่า ต้องการให้เรือธงหลายนโยบายสิ้นสุดลงไปพร้อมกับตัวเศรษฐาด้วยหรือไม่
วกกลับมาที่แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ในสถานการณ์ที่การเมืองมีความคุกรุ่นต่อเนื่อง นับจากการปรับครม.เศรษฐา 1/2 ที่มีรัฐมนตรียื่นลาออกไปถึง 3 คน ในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน กระทั่งมาถึงปฏิบัติการปริศนาของ 40 สว.?!
ไม่ว่าเรื่องที่เกิดขึ้น ใคร ฝ่ายไหน จะนำไปใช้เป็น ‘สารตั้งต้น’ เพื่อทำสิ่งใดก็ตาม แต่ในแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย มุ่งไปที่การหยุดรัฐประหารมากกว่า ด้วยการ ‘สร้างกลไกทางกฎหมาย’ สร้างประเพณีวัฒนธรรมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และยกเลิกบรรทัดฐานเดิมที่ว่า รัฐประหารสำเร็จถือเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’
แน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากเห็นการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก เพราะมีบทสรุปชัดเจนของรัฐประหาร 13 ครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นคำตอบของปัญหาและการพัฒนาประเทศ เพียงแต่พรรคเพื่อไทย คงไม่สามารถหยุดรัฐประหารด้วยแถลงการณ์ที่มีข้อความสวยหรูเพียงไม่กี่บรรทัด
เพราะต่อให้เขียนกฎหมายขึ้นมาป้องกันรัฐประหารรัดกุมขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่หยุดสร้างเงื่อนไขอย่างที่ขยันทำอยู่ทุกวันนี้ ก็คงไปป้องกันอะไรไม่ได้
คาถาที่จะใช้ป้องกันรัฐประหารได้ดีที่สุด คือ นักการเมืองต้อง ‘สร้างศรัทธา’ ให้เป็นที่พึ่ง ที่หวังของประชาชนและประเทศชาติ โดยไม่สร้างเงื่อนไขให้ประชาชนเกิดความรู้สึก ‘เอือมระอา’หรือ‘เบื่อหน่าย’ หันไปหาอีกฝ่ายให้มาขับไล่นักการเมืองออกไป เพื่อจัดระเบียบบ้านเมืองกันใหม่แบบซ้ำๆ
หยุดรัฐประหารได้ ไม่ต้องแก้กฎหมาย แต่แก้ที่ตัวนักการเมือง เวลาได้เข้ามามีอำนาจต้องไม่สร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่วงจรอุบาทว์เสียเอง