หลังสู้กันมาถึงฎีกา การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ตอนนี้อยู่ในมือของคณะกรรมาธิการ่วมสองสภา และนัดหมายลงมติกันในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ทำท่าว่าจะจอดสนิท ไปต่อไม่ได้
เมื่อตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ประยุทธ ศิริพาณิชย์ ประกาศจุดยืนชัดเจนยืนหลักการ เสียงข้างมากชั้นเดียว ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอถอยคนละก้าว หรือพบกันครึ่งทางที่ ‘ชั้นครึ่ง’ เพราะแค่ลดเงื่อนไขลงมา แต่หลักการยังเหมือนเดิม
ทั้งสงสัยรูปแบบการทำประชามติทางไปรษณีย์ ที่เคยใช้ที่อินโดนีเซีย แต่หากจะมาใช้กับประเทศไทยจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะต้องออกกฎหมายรองรับให้ลงคะแนนทางไปรษณีย์ได้ ซึ่งยังไม่รู้กฎหมายประชามติจะแก้ไขเสร็จเมื่อใด
‘สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือเรื่องการยืนยันตัวตนของผู้ลงคะแนนทางไปรษณีย์ จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนตัวจริง ไม่ใช่ให้คนอื่นลงคะแนนแทน ดูแล้วพิสูจน์ลำบาก แต่ต้องฟังข้อมูลจากบริษัทไปรษณีย์ไทยว่าจะมีวิธีการอย่างไร’
ในที่ประชุมกรรมาธิการร่วมวันพรุ่งนี้(20 พ.ย.67) ตัวแทนจากบริษัทไปรษณีย์ไทย และกกต.จะเข้าชี้แจงรายละเอียดก่อนที่จะมีการลงมติ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีด้วยกัน 3 แนวทาง ประกอบด้วย
แนวทางที่หนึ่ง ตัวแทนจากสว.ยืนยันให้ยึดตามร่างที่วุฒิสภาแก้ไข ซึ่งหากเสนอมาแบบนี้มีทางเป็นไปได้สูงที่จะชนะ เพราะตัวแทนสว.รวมกันมาเป็นกลุ่มก้อน แต่จากการสนทนาธรรมในการประชุมนัดแรก มีแนวโน้มที่จะยอมถอยให้
แนวทางที่สอง เป็นข้อเสนอของตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา นิกร จำนง ที่ขอให้ถอยมาครึ่งก้าวโดยใช้เสียงข้างมากแบบชั้นครึ่งแทน คือ ให้มีผู้มาออกเสียงเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ และยึดตามมติเสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน
แนวทางที่สาม เป็นไปตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ที่ให้กลับไปยึดร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร คือ ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว
ประเมินดูแล้ว แนวทางที่ 1 กับแนวทางที่ 2 มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด เพราะสว.มาเป็นกลุ่มก้อน มีความเป็นเอกภาพกว่า ในขณะที่แนวทางที่สอง ก็มีทางเป็นไปได้เช่นกัน เพราะตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ รวมทั้ง สว.ก็พร้อมจะถอยให้เช่นกัน
ส่วนแนวทางที่สาม คงปิดประตูตาย เพราะทั้งสว.และพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองไม่เอาด้วย เหลือแต่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ซึ่งรวมกันมี 8 เสียง ไม่สามารถเอาชนะอีกฝ่ายที่มีสว. 14 บวกตัวแทนจากพรรคการเมืองอีกอย่างน้อย 2-4 คน
เอาเป็นว่า เมื่อต่างฝ่ายต่างรอมชอมกันไม่ได้ ไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะ หลังเปิดสภามาในวันที่ 12 ธันวาคม ก็ต้องนำร่างที่คณะกรรมาธิการ่วมให้ความเห็นชอบ กลับไปให้แต่ละสภายืนยันอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนหากเป็นร่างเดิมของสส.วุฒิสภา ก็คงไม่เอาด้วยแน่
เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร หากผิดจากจุดยืนที่ประกาศไว้ พรรคเพื่อไทยก็คงไม่เอาเช่นกัน และพร้อมจะดับเครื่องชน หักกับวุฒิสภาเอาคืนอีกรอบ โดยไม่ได้วิตกกังวลถึงด่านต่อไปว่า สว.จะเทเสียง 1 ใน 3 สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 หรือไม่
"อย่าเพิ่งมองไปถึงขั้นนั้น อยากให้มองเป็นเรื่อง ๆ ไป การพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับไม่ควรมาผูกโยงกัน หรือเอามาเป็นเงื่อนไขผูกใจเจ็บ ไม่ใช่ตรรกะการแก้กฎหมาย"
"เดอะหัวเขียง" ประยุทธ ศิริพาณิชย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา จากพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงแข็งพอ ๆ กับสมัยที่นั่งเป็นประธานกมธ.พิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย เมื่อสิบกว่าปีก่อน อารมณ์เดียวกันเลย
ถ้าเป็นแบบนี้ ก็ไม่ต้องเดาให้เสียเวลาว่า เพื่อไทยจะไม่ยอมถอยให้ไม่ว่าจะหนึ่งก้าวหรือครึ่งก้าว แต่จะยอมนั่งหายใจทิ้งไปเรื่อย ๆ พอครบ 180 วัน ก็นำร่างเดิมที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร มายืนยันประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
เมื่อหักมาก็หักกลับ ไม่ต้องง้อ สว.สีน้ำเงินว่าอย่างนั้นเถอะ!!