จาก สว.สีน้ำเงิน...สู่ดุลการเมืองใหม่

28 มิ.ย. 2567 - 08:29

  • ติดตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง สว.

  • สว.สีน้ำเงิน กวาดหมด ดับฝัน สว.สีแดง และ สว.สีส้ม

  • จากนี้เกมการเมืองของภูมิใจไทยจะเปลี่ยนไป

deep-space-senate-election-blue-new-politic-SPACEBAR-Hero.jpg

มาถึงตอนนี้ คงไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนกันแล้วว่า การเลือกสว.นัดประวัติศาสตร์ที่เพิ่งจะผ่านไป มีการฮั้ว จัดตั้ง หรือบล็อกโหวตเกิดขึ้นหรือไม่ และไม่ต้องไปโทษใครให้เสียเวลา เพราะคงทำด้วยกันทุกฝ่ายนั่นแหละ

ไม่อย่างนั้นจะไม่มีคำว่า ‘สึนามิสีน้ำเงิน’ กวาด สว.สีส้ม-สีแดงพ่ายยับ

งานนี้ ‘แพ้-ชนะ’ ตัดสินกันที่การจัดการล้วนๆ ซึ่งผลที่ออกมาย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ค่ายสีน้ำเงิน มีระบบ ‘การจัดการ’ ที่เหนือชั้น วางแผนมาดี มีประสิทธิภาพ แม่นยำ เข้าเป้าได้มากกว่า จึงยึดสภาสูงเอาไว้ได้เกือบเบ็ดเสร็จ น่าจะเหลือที่นั่งประมาณ 1 ใน 3 ให้ค่ายแดง-ส้ม และกลุ่มอิสระ นำไปแบ่งกันตามความสามารถของการจัดการ

ในเมื่อกติกาออกแบบมาอย่างนี้จะไปว่าใครได้ อย่างดีก็แค่ไปถาม ‘ลุงหมวก’ มือเขียนรัฐธรรมนูญกับชาวคณะว่า ที่เขียนป้องกันไว้แน่นหนาหลายชั้น ไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงสภาสูงนั้น ตอนนี้คิดอย่างไร

หากเปรียบสภาสูงชุดใหม่เหมือนแจกันดอกไม้ ค่ายสีแดง-สีส้ม คงเป็นได้แค่ ‘ใบเฟิร์นกับหินเขียวรองก้นแจกัน’ เท่านั้น ส่วนดอกไม้ที่โดดเด่นอยู่กลางแจกัน คือ กลุ่มสว.สีน้ำเงิน ที่พากันแลนด์สไลด์เข้ามา

นาทีนี้ ไม่ต้องไปถามเรื่อง ‘ใครหักใคร ดับฝันใคร’ ไม่ให้เข้ามานั่งเก้าอี้ประมุขสภาสูง หรือเป็นเกมเอาคืนนายเก่าของหมอเขมรที่ไหน แต่มองไปข้างหน้ากันดีกว่าว่า หลังสภาสูงกลายเป็น ‘สภาเซาะกราว’ ไปแล้ว จะเกิดดุลการเมืองใหม่ตามมาอย่างไร

แน่นอนว่า 71 เสียงของพรรคภูมิใจไทยในสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ ต่อให้ถูกกกต.แจกใบแดงอีกมากกว่า 2 ใบ แม้จะเหลือสส.ไม่เท่าเดิม แต่จะเป็นพรรคอันดับสองในรัฐบาล ที่มีพลังต่อรองสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว ไม่ต่างจาก 36 เสียง ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่มี 200 เสียงของ สว. ณ เวลานั้น เป็นตัวชี้ขาดจะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี

ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อสภาสูงตกไปอยู่ในมือของค่ายสีน้ำเงิน ก็จะทำให้มีอำนาจต่อรองเหลือล้น ซึ่งไม่ใช่แค่การผ่านกฎหมายสำคัญๆ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแต่งตั้งองค์กรอิสระ การรับรองตำแหน่งหลักๆ ตามรัฐธรรมนูญอีกมากมาย ซึ่งได้ ‘รวมเอาอำนาจ’ เท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของสภาสูงไว้ในมือ

พรรคภูมิใจไทย จึงเป็นดุลอำนาจใหม่ทางการเมืองของไทยต่อจากนี้

นอกจากนั้น ผลงานจากการซุ่มเงียบยึดสภาสูงเอาไว้ได้ของค่ายสีน้ำเงิน ทำให้ภาพการเป็นตัวแทน**‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’** เพียงพรรคเดียวของเพื่อไทย ถูกสั่นคลอนและมีตัวเลือกให้กับฝ่ายอนุรักษ์เพิ่มขึ้น ยิ่งตลอด 9 เดือนเศษของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นอกจากผลิตผลงานไม่ออกแล้ว ยังทำลายต้นทุนประเทศลงมากมาย โดยเฉพาะความเป็นนิติรัฐ

ความโดดเด่นในฐานะตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์ ที่จะเข้ามาแทนที่เพื่อไทยของภูมิใจไทยต่อจากนี้ จึงเป็นไปได้สูงยิ่ง เพราะมีความสามารถในการจัดการที่ทะลุทะลวงได้มากกว่า

แต่การสร้างปรากฎการณ์ สว.สีน้ำเงินเที่ยวนี้ ก็ไม่ได้เป็นคำตอบของการเมืองไทยทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะชัยชนะที่ได้มาในวันนี้เกิดจาก ‘กติกาเฉพาะ’ ที่ออกแบบไว้ให้การเลือกสว.มาจากผู้สมัครใน 20 กลุ่มอาชีพ โดยประชาชน 60 กว่าล้านคน ไม่มีสิทธิลงคะแนน ดังนั้น จะนำไปเป็นตัววัดการเลือกตั้ง สส.ในครั้งต่อไปไม่ได้ เพราะคนละกติกากัน

ดุลใหม่ทางการเมืองในมือค่ายสีน้ำเงินที่ได้มา จึงนำไปสร้างพลังให้กับตัวเองในช่วงเวลาต่อจากนี้เท่านั้น หรืออย่างมากก็ให้วุฒิสภารักษากติกาเดิมที่ทำให้ตัวเองชนะเอาไว้ เพื่อ ‘ส่งคนในคาถา’ กลับมาตามช่องทางเดิมอีกหลังสว.ชุดนี้ครบวาระ แม้จะไม่ง่ายเหมือนเดิมก็ตาม เพราะต่างรู้ช่องทางกันหมดแล้ว

และดุลอำนาจในมือพรรคภูมิใจไทย คงไม่ใช่อำนาจที่มั่นคง ยั่งยืน อย่างมากก็แค่ประกาศศักดา ‘วัดรอยเท้านายเก่า’ และเร่งสร้างเครือข่ายของตัวเองเพิ่มขึ้นในห้วงเวลาต่อจากนี้

ส่วนในระยะยาวอารมณ์สะสมของผู้คนที่ ‘ไม่พอใจการกินรวบ’ ประเทศของกลุ่มนักการเมืองสายอนุรักษ์ รวมทั้ง ความฟอนเฟะ เลอะเทอะ ที่มีให้เห็นมากมายในปัจจุบัน 

สุดท้ายเมื่อถึงคราวต้องเลือกตั้งใหม่ กระแสอาจจะไหลไปเข้าทางพรรคก้าวไกล โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาออกแบบนานข้ามปี เหมือนปรากฎการณ์สว.สีน้ำเงินในเวลานี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์