‘ช้าง’ ซื้อ ‘โรบินฮู้ด’ ต่อยอดธุรกิจอาหาร

8 ก.ย. 2567 - 10:09

  • กลุ่มไทยเบฟฯ เจรจาซื้อ โรบินฮู้ดจากธนาคารไทยพาณิชย์

  • วางแผนต่อยอดธุรกิจอาหาร สินค้า รับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป

  • แพลตฟอร์ม Food Delivery ไทย สู้กับต่างชาติ

deep-space-thai-beverage-buy-robin-hood-rider-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังจากกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศปิดแพลตฟอร์มบริการจัดส่ง โรบินฮู้ด เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็มีการคาดการณ์กันว่า จะมีกลุ่มทุนใหม่มาซื้อเพื่อไปดำเนินการต่อ เพราะตัวแพลตฟอร์มน่าสนใจ เป็นที่รู้จัก ที่สำคัญไปไม่ต้องไปสร้างใหม่

ความคืบหน้าล่าสุด มีความเป็นไปได้สูงว่า  ‘กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ’ หรือเบียร์ช้าง  จะซื้อ ‘โรบินฮู้ด’

โดยจัดตั้งบริษัท ลิตเติ้ล จอห์น ดิจิทัล จำกัด เพื่อทำธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล  ทุนจดทะเบียน 1 หมื่นล้านบาทขึ้นมาใหม่    และให้บริษัทลูกคือ บริษัทโอเพน อินโนเวชั่น จำกัด ที่ลงทุนด้านเทคโนโลยี และดิจิทัล ถือหุ้น 99 % 

สำหรับราคาซื้อขาย ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ

ตั้งแต่ปี 2562 ไทยเบฟฯ ได้จัดทัพในเรื่องธุรกิจอาหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการร่วมทุนจัดตั้ง 6  บริษัทธุรกิจอาหาร และเข้าซื้อร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ร้านไก่ทอด เคเอฟซี ร้านอาหารญี่ปุ่นหลายแบรนด์  

‘วัลลภา ไตรโสรัส’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) หรือ AWC เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในวันเปิดโครงการ Phenix ประตูน้ำ ที่ปรับปรุงมากจากโครงการพันธ์ทิพย์ ประตูน้ำว่า ต้องการ ให้ Phenix เป็นศูนย์ค้าส่งอาหารระดับโลก กับแพลตฟอร์มการค้าส่งอาหารครบวงจรเชื่อมต่อออนไลน์และออฟไลน์ 

เธอย้ำว่า ต้องการทำ ‘ Destination ด้านอาหารระดับโลก’ จึงได้เพิ่มเติมโมเดลด้านไลฟ์สไตล์อาหาร รวมอาหารดังจากทั่วโลก ร้านอาหารมิชลินฟู้ด สตรีทฟู้ดระดับตำนาน ร้านอาหารและ คาเฟ่ชื่อดังกว่า 265 ร้าน เพื่อทำให้ย่านประตูนํ้า เป็น เวิลด์ ฟู้ด โฮลเซลล์ ฮับ และ ฟู้ดเลาจน์ ใหญ่สุดในไทย 

นอกจากนี้กลุ่มไทยเบฟยังมี ‘Big C’ ซูเปอร์เซ็นเตอร์  ดีสเคาท์สโตร์ขนาดใหญ่ รวมไปถึง ‘Mini Big C’  ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กกระจายไปตามชุมชนต่าง ๆ  

โรบินฮู้ด จึงเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ B to C ที่รองรับธุรกิจอาหารและค้าปลีกของไทยเบฟฯ

แรงกดดันอีกด้านหนึ่งคือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป  การซื้อสินค้า และอาหารผ่านออนไลน์  เป็นทางเลือกมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่ามูลค่าตลาด Food Delivery ในปี 2567  อยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.0% จากปี 2566 ราคาเฉลี่ยในการสั่งต่อครั้งเพิ่มขึ้น 2.8% เป็น 185 บาท  

สำหรับธุรกิจอาหารของ ไทยเบฟฯ รายได้ 9 เดือน มีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรก่อนหักภาษี 1,438 ล้านบาท ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

โรบินฮู้ด ดำเนินการโดยบริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ SCB X ถือหุ้น 100 % เปิดบริการโรบินฮู้ดในปี 2563 ผลประกอบการขาดทุนสะสม 5,500  ล้านบาท ที่โรบินฮู้ดขาดทุนเพราะวางตำแหน่งตัวเอง เป็นผู้ให้การช่วยเหลือสังคมในช่วงโควิด โดยการไม่เก็บค่า GP จากร้านค้า เพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชน เป็นเครื่องมือแข่งขันกับ Grab ,Lineman หรือ Panda 

ว่ากันว่า ทำธุรกิจแบบไม่มีรายได้มีแต่ค่าใช้จ่าย ก็เหมือนเผาเงิน เผาแบงก์ทิ้ง  รอวันเจ๊งเท่านั้น  คนที่รวยคือผู้บริหารกิจการ  วันหนึ่งเจ้าของเงินคือผู้ถือหุ้นก็หมดความอดทนก็ต้องทุบโต๊ะเลิกกิจการ 

โมเดลโรบินฮู้ด เป็นไอเดียของ ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’ อดีตผู้บริหารการตลาดของดีแทค ที่นำไปขายให้ ‘อาทิตย์ นันทวิทยา’ ซีอีโอ SCB X อาทิตย์ฟังแล้วชอบ จึงมอบหมายให้ธนาเป็นผู้รับผิดชอบ ให้เงินทุนมาทำ โรบินฮู้ดประสบความสำเร็จในแง่ตัวเลขผู้ใช้งาน ร้านในระบบ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่เดือน เพราะให้ใช้ฟรี ไม่มีค่า GP  

การเข้ามาซื้อโรบินฮู้ดของไทยเบฟ ฯ  ทำให้ SCB ไม่ต้องแบกภาระการขาดทุนต่อไป ในขณะที่การอยู่ของโรบินฮู้ด เป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทย ที่เป็นทางเลือกของผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้บริโภค และไรเดอร์ นอกเหนือจาก แพลตฟอร์มต่างชาติคือ Grab และ Lineman

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์