แชร์ลูกโซ่ ลวงโลก #2 ‘บอสพอล’ กับการสร้างภาพ ปฐมบท‘ดิไอคอน กรุ๊ป’

18 ต.ค. 2567 - 02:30

  • กระบวนการปั้น ดิไอคอน กรุ๊ป จากดินมาเป็นดาว

  • จากบอสพอล สู่สารพัดบอสดารา คนดัง

  • หรูหรา ชีวิตดี มีของขวัญ แรงดึงดูดเหยื่อรายใหม่

Boss-Paul-and-the-image-making-beginning-of-The-Icon-SPACEBAR-Hero.jpg

ไม่น่าเชื่อว่าความสำเร็จในชั่วพริบตา 6 ปี ของ อาณาจักรหมื่นล้านบาท ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ ที่กำลังเป็นเรื่อง ‘ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์’ ร้อนทะลุจุดเดือด ชนิดสั่นสะเทือนไปในทุกอณูของสังคมไทยในนาทีนี้ ก่อนจะเดินทางมาถึงบทอวสาน เกือบทั้งหมดเกิดมาจากมันสมองของ ‘พอล’ วรัตน์พล วรัทย์วรกุล หนุ่มพันหน้าวัย 40 ต้นๆ ที่สถาปนาตัวเองเป็น ‘บอสใหญ่’ ของอาณาจักรแชร์ลูกโซ่ลวงโลกแห่งนี้

แผนการทั้งหมดถูกออกแบบและมีดำเนินการตามกระบวนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมาตลอดหลายปี โดยมีหัวใจสำคัญคือ การสร้างภาพและความน่าเชื่อถือให้ตัว ‘บอสพอล’ เพื่อใช้เป็น ‘จุดขาย’ ในการโน้มน้าวผ่านกลลวงที่สลับซับซ้อนและแยบยล จนทำให้ผู้คนจำนวนนับแสนคนต้องตกเป็น ‘เหยื่อ’ 

เพื่อถอดบทเรียนและทำความเข้าใจกับเบื้องหลัง ‘ธุรกิจขายตรง’ ลวงโลกรายนี้ คงต้องย้อนกลับไปดูเส้นทางชีวิตของ ‘บอสพอล’ ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อสิบปีก่อน ในยุคที่ ‘โซเชียลมีเดีย’ เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมไทย และแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่างFacebook เริ่มเปิดให้บริการแสดงโฆษณาได้ในประเทศไทย ทำให้เกิดรูปแบบการทำตลาดแบบออนไลน์เพื่อขายสินค้าโดยการกระตุ้นยอดขายด้วยการ ‘ยิงแอด’ ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการ ‘คลิก’ เข้ามาติดตามและสั่งซื้อสินค้าและบริการ 

ในช่วงแรกการใช้เม็ดเงินโฆษณาในการยิงแอดไปยังกลุ่มเป้าหมายยังมีต้นทุนค่อนข้างต่ำ ทำให้ ‘พอล’ มองเห็นโอกาสและเริ่มเรียนผิดเรียนถูกในการทำการตลาดออนไลน์ด้วยตัวเองจนมีความชำนาญ และเดินเข้าสู่วงการธุรกิจขายตรงกับ Jeunesse Global ซึ่งเป็นบริษัทขายตรงทั่วๆไปเหมือน ‘แอมเวย์’ และ ‘กิฟฟารีน’ โดยเข้าไปสมัครเป็น ‘ดาวน์ไลน์’ ของ ‘ธเนตร วงษา’ หนึ่งในปรมาจารย์ของวงการคนหนึ่งที่เป็นผู้พลิกตำราธุรกิจขายตรงเข้าสู่ยุคใหม่

ทั้งคู่ร่วมกันสร้างรูปแบบใหม่ในการทำการตลาดแบบออนไลน์ เพื่อชักชวนให้คนมาสมัครเป็นตัวแทนขาย แต่การสั่งซื้อสินค้ายังต้องสั่งซื้อผ่านหน้าเว็บไซด์ของ Jeunesse เนื่องจากยังเป็นกฎเหล็กของบริษัท เพื่อป้องกันไม่ให้มีการตัดราคาและเลี่ยงการที่ผู้บริโภคหรือ End Userจะไม่สั่งซื้อสินค้าผ่านบริษัทโดยตรง 

การ ‘รีมิกซ์’ นำรูปแบบการทำการตลาดแบบออนไลน์กับธุรกิจขายตรงมาผสมผสานให้เข้ากับยุคออนไลน์ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนทำให้ทั้งคู่สามารถสร้างยอดขายได้ระดับหลายร้อยล้าน จนทั้งสองคนได้รับเชิญไปออกรายการทอล์คโชว์ชื่อดังอย่าง ‘ตีสิบ’ จน ธเนตร และ พอลเริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมจนได้รับฉายาว่า ‘พอลตีสิบ’

หลังจากฝึกวิชาและเรียนรู้กลยุทธการทำการตลาดแบบขายตรงหรือ MLM- Multi Level Marketing จนแตกฉาน ‘พอลตีสิบ’ ในเวลานั้นก็ตัดสินใจแยกตัวจากธเนตร และเริ่มแผนการใหญ่ในการสร้างอาณาจักร The iCON Group ในปี 2561

แผนธุรกิจของในปีแรกของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ ถูกออกแบบให้มุ่งไปเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด คือกลุ่มคนวัยเกษียณ ทั้งกลุ่มคนสูงวัยที่มีเงินเก็บไม่มากนัก และคนที่สถานะการเงินไม่ดี เพราะทั้งสองกลุ่มมีจุดร่วมที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ มีความฝันที่อยาก ‘รวย’ และคาดหวังที่จะมีความสุขในช่วงบั้นปลายของชีวิต แต่เพราะขาดความรู้ จึงไม่แนวโน้มที่จะถูกหว่านล้อมให้ตกเป็น **‘เหยื่อ’**ได้ง่ายที่สุด

พอลค้นพบว่าเทพนิยายเรื่อง ‘อายุน้อยร้อยล้าน’ ของ ‘พอลตีสิบ’ ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักและกลายเป็นคนต้นแบบของ ‘คนสู้ชีวิต’ ที่ไต่เต้าจากเด็กในสลัมคนหนึ่งซึ่งเคยเผชิญอุปสรรคในชีวิตถึงขนาดเป็นหนี้สินจนคิดฆ่าตัวตาย แต่มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้ลุกขึ้นมาสู้ชีวิตด้วยความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อในการไล่ตามฝัน

จนสามารถสร้างธุรกิจของตัวเอง พลิกชีวิตกลายเป็นเศรษฐีระดับร้อยล้านได้ภายในเวลาไม่กี่ปี โดยมีการประดิษฐ์คำคมเพื่อจุดฝันให้กลุ่มเป้าหมายอย่างเช่น ‘ขยันผิดที่ อีก 10 ปี ก็ไม่รวย’ ที่เขาต่อยอดมาจากแนวคิด ‘ขยันถูกที่ ปีเดียวรวย’ ของธเนตร เพื่อนรุ่นพี่

เริ่มออกเดินสายสัมภาษณ์ผ่านรายการต่างๆ เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ของตัวเองที่พลิกชีวิตจากยาจกกลายเป็นเศรษฐี พร้อมกับโปรโมทให้ ‘เหยื่อ’ มาเข้า ‘คอร์ส’ สอนการทำการตลาดออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก อินสตราแกรม และ กลุ่มไลน์ โดยพยายามตอกย้ำว่า ‘ไม่ใช่ธุรกิจขายตรง’ ในรูปแบบเดิมๆ 

‘กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง’ และ อาหารเสริม ‘คอลลาเจน’ ถูกเลือกให้เป็นสินค้าหลักในช่วงแรก เพราะเป็นสินค้าที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย โดยมีการวางระบบ Incentive ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของ ‘ทริปท่องเที่ยว’ สำหรับตัวแทนจำหน่ายที่เปิดบิลซื้อสินค้าครั้งละมากๆ โดยในระยะแรกจะเน้นไปใกล้ๆกรุงเทพฯ เช่นพัทยา โดยนอกจากพาเที่ยวกินหรู อยู่สบายแล้วก็จะมีการจัดสัมมนาเพื่อ Motivate กระตุ้นให้ตัวแทนจำหน่ายไปขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น 

กลยุทธ์การตลาดของ ‘พอล’ ถูกออกแบบไว้ตั้งแต่แรกแล้ว โดยมีเป้าหมายคือการโน้มน้าวและหว่านล้อมให้เหยื่อผู้สูงวัย หลงเข้ามาติด ‘กับดัก’ โดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายเปิดบิลซื้อสินค้าครั้งละมากๆ เพื่อให้มีรายได้เข้ากระเป๋าทันที 

โดยไม่ได้เน้นในเรื่องของการส่งเสริมให้ตัวแทนจำหน่ายขายสินค้าอย่างจริงจัง โดยจะเริ่มจากการอ่อยเหยื่อให้ ‘เปิดบิล’ ซื้อสินค้าในระดับไม่มากนักในช่วงแรก ก่อนที่หว่านล้อมให้เปิดบิลเพิ่ม เพื่อให้ชวนเพื่อนมาเป็นเพื่อนเที่ยวด้วยกัน ทำให้มีเหยื่อหลงเข้ามาใน ‘กับดัก’ ของแชร์ลูกโซ่ของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

ทริปท่องเที่ยวเป็น ‘จุดขาย’ ที่ทำให้การเปิดบิลซ้ำและการเปิดบิลใหม่ ตามแผนการตลาดอันแยบยลของ ‘พอล’ และทำให้ปีแรกบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป สามารถทำรายได้เกือบแตะหลักร้อยล้านบาท และมีแนวโน้มจะเริ่มมีกำไรทันที

‘พอล’ เริ่มขยับไปสู่แผนการขั้นต่อไปในปีต่อมา โดยพุ่งเป้าไปสู่เป้าหมายใหม่คือลูกค้าในกลุ่มวัยทำงานที่เสพติด ‘โซเชียลมีเดีย’ และอยากไล่ตามความฝันที่จะ ‘รวย’ และมีชีวิตที่เลิศหรู เพื่อจะได้ไป ‘ตะโกน’ ประกาศให้ทั้งโลกรับรู้ในโลกโซเชียลมีเดีย

เมื่อต้องการจะยกระดับเข้าสู่ ‘โหมดความรวย’  พอลจึงต้องปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ดูดี เขาเริ่มไปทำศัลยกรรม เข้าฟิตเนส แปลงโฉมเป็นหนุ่มเกาหลี พร้อมกับยกระดับ ‘ไลฟ์สไตล์’ การใช้ชีวิตให้ ‘หรูหราหมาเห่า’ มากขึ้น โดยเริ่มใช้สินค้าแบรนด์เนมราคาแพง รวมทั้งลงทุนซื้อรถหรู Super Car มาประดับบารมี

ขณะเดียวกันเขาเริ่มสร้างทีมงาน และสถาปนาตัวเองเป็น ‘บอสพอล’ พร้อมกับดึงนักขายระดับ ‘มงกุฎ’ ที่ ‘คลิก’ กับแผนการตลาดอันแยบยลของเขาให้เข้ามาอยู่ในทีม และหนึ่งในนั้นคือ ‘บอสปัน’ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร ที่ต่อมานอกจากกลายมาเป็นคนสนิทแล้วยังเปรียบเสมือนมือขวาของเขา ถึงขนาดแบ่งหุ้นของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ ให้ถึง 4%

ในเวลาเดียวกันเขายังหว่านเม็ดเงินในการซื้อภาพลักษณ์ เดินสายรับรางวัลในสาขาต่างๆ เช่น นักบริหารดีเด่น บุคคลต้นแบบ นักธุรกิจเพื่อสังคม และอื่นๆอีกมากมาย รวมทั้งใช้เงินเพื่อสร้างภาพของ ‘นักบุญ’ โดยการบริจาคเงินทำบุญ และช่วยเหลือสังคมให้เห็นเป็นระยะ

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่บ้าดาราและคนดัง เขายังทุ่มทุนจ้างดาราดังๆที่มีภาพพจน์ดี มาเป็นพรีเซนเตอร์ และอุปโลกน์ให้นั่งแท่นผู้บริหาร โดยใส่คำว่า ‘บอส’ นำหน้าชื่อ เพื่อให้คนเข้าใจว่าดาราเหล่านั้นมั่นใจในธุรกิจของบริษัท และกล้าเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร

มีการสร้าง ‘คอนเทนต์’ ให้เห็นว่า ‘บอสพอล’ มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับดาราชนิดเป็นเสมือนคนในครอบครัว เช่น การจัดฉากให้ดารายก ‘เค้ก’ ไปเซอร์ไพรส์วันเกิด หรือ บอสซื้อของขวัญราคาแพงให้ดารา เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายอยากเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’

งบโฆษณาส่วนใหญ่ ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การโปรโมทสินค้าแต่กลับโหมกระหน่ำไปโปรโมทบรรดา ‘บอส’ ดารา ในทุกช่อทาง รวมทั้งการทุ่มทุนซื้อป้ายโฆษณาคัตเอ้าท์ขนาดใหญ่ ทั้งริมถนน บนตัวตึก กลางกรุงฯและเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ที่มีภาพของบรรดาบอสดาราดัง เพื่อกลายเป็นจุดสนใจที่ทำให้ผู้คนรู้จัก ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ 

ที่ขาดไม่ได้คือการจัด ‘อีเวนท์’ ใหญ่ เพราะเหมือน Finale ฉากสุดท้าย ที่จะเป็น **‘ไฮไลท์’**ของการปิดการขายในแต่ละรอบ และเพื่อประกาศศักดาที่บรรดา ‘บอส’ และคนในทีมจะต้องจัดเต็มเอารถหรู **‘ซูเปอร์คาร์’**ไปจอดเรียงเป็นตับหน้าโรงแรม หรือสถานที่จัดงาน โชว์ให้เห็นว่าถึงความสำเร็จจนน่าอิจฉาของทุกคนในทีมงาน 

สูตรสำเร็จของเกมลวงแบบเลือดเย็นผ่านโมเดลธุรกิจที่ซ่อนเงื่อนจนคนส่วนใหญ่ต้องหลงกลและตกเป็นเหยื่อจะเริ่มจากการเปิดคอร์สสอนการตลาดออนไลน์ราคาถูก ‘อ่อยเหยื่อ’ เพื่อดึงให้แหย่เท้าเข้ามาในวงจรอุบาทว์ หลังจากนั้นก็จะหว่านล้อมให้สมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายเริ่มเปิดบิลเพื่อซื้อสินค้าจากระดับแค่ 2,500 บาท และค่อยๆขยับขึ้นไปเป็น 2.5 หมื่นบาท 5 หมื่นบาท และ 2.5 แสนบาท 

เมื่อเหยื่อหลงเข้ามาติดกับดักของ ธุรกิจขายตรงลวงโลกของ ดิไอคอน กรุ๊ปแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องยอมเดินไปต่อตามเกมที่วางไว้ โดยจำยอมที่จะต้องหาตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ๆเพื่อมาต่อยอดให้กับบริษัท เพราะไม่อยากเสียหายเนื่องจากไม่สามารถขายสินค้าได้อย่างที่วาดหวัง 

จากแผนการตลาดแบบใหม่ที่ถูกออกแบบมาอย่างแยบยล ทำให้อาณาจักรของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ เติบโตแบบก้าวกระโดด มีรายได้เข้ามาจากยอดเปิดบิลของบรรดาตัวแทนจำหน่ายที่หลั่งไหลเข้ามา จนยอดเพิ่มขึ้นไปสู่หลัก 2-3 ร้อยล้านบาทในระยะเวลาเพียง 3 ปี !!!

ติดตามตอนต่อไป
โควิด-19 ยุคทองของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์