การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ยืดเยื้อ ล่าช้า 4 ปีกว่าแล้ว ซีพี ผู้รับสัมปทาน ไม่ยอมลงมือก่อสร้างเสียที ส่งผลกระทบต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ คุณภาพการบริการ และความปลอดภัย
รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่วิ่งระหว่างสถานีมักกะสันกับสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ตามสัญญาร่วมลงทุนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามกับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ซีพีตั้งขึ้นมาทำโครงการนี้ และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท เอเชีย เอ ราวัน’ รฟท. จะโอนแอร์พอร์ตลิงค์ ให้เอเชีย เอราวัน ภายใน 2 ปีนับจากวันเซ็นสัญญา โดย เอเชีย เอราวัน ต้องจ่ายค่าสิทธิ 10,671 ล้านบาท ให้ รฟท.ทันที
รฟท. โอนแอร์พอร์ตลิงค์ให้เอเชีย เอราวัน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564 แต่ซีพี หรือเอเชีย เอราวัน ยังไม่ยอมจ่ายค่าสิทธิ 10,671 ล้านบาท แม้จะผ่านไปเกือบ 3 ปีแล้ว เพราะต้องการแก้สัญญา จากที่ต้องจ่าย 10,671 ล้านบาท ก้อนเดียว ก็ขอผ่อนชำระเป็น 7 งวด 7 ปี โดยอ้าง ผลกระทบจากโควิด ทำให้รายได้ลดลง
รัฐบาลชุดที่แล้ว อนุมัติให้แก้สัญญาในเรื่องนี้ แต่ซีพี ขออีกเรื่องหนึ่งคือขอให้ รฟท.จ่ายเงินอุดหนุนเร็วขึ้น จากเดิมที่จะจ่ายเมื่อก่อสร้างเสร็จและเปิดบริการแล้ว ซีพี ขอให้จ่ายในปีที่ 2 ของการก่อสร้าง คือ สร้างไปจ่ายไป แต่รัฐบาลไม่ยอม เพราะผิดหลักการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
ขอไป 2 เรื่อง แต่ได้มาเรื่องเดียว ทำให้การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนถูกยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า จะมีการเซ็นสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไข ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จะได้ลงมือก่อสร้างเสียที เพราะจะเข้าปีที่ 5 ซีพียังไม่ทำอะไรเลย
แต่แล้วก็ทำท่าว่า จะมีการใช้ลูกยื้อต่อไปอีก เมื่อซีพี เสนอใหม่ว่า จะขอเอาเงินค่าก่อสร้างช่วง บางซื่อ-ดอนเมือง มูลค่า 9,207 ล้านบาท ไปหักลบกลบหนี้ ออกจากเงินค่าสิทธิแอร์พอร์ตลิงค์10,671 ล้านบาท ที่ซีพียังไม่ได้จ่ายให้ รฟท.
ถึงแม้ว่า เอเชีย เอราวัน จะเป็นคนบริหาร จัดเก็บรายได้ แอร์พอร์ตลิงค์ มาตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2564 แต่ยังไม่มีการโอนสิทธิแอร์พอร์ต ลิงค์ให้ เอเชีย เอราวัน เพราะรอการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ถ้าแอร์พอร์ตลิงค์ มีกำไร ต้องส่งกำไรให้ รฟท.ถ้าขาดทุน เอเชีย เอราวัน ต้องแบกรับเอง ซึ่งที่ผ่านมา มียอดขาดทุนประมาณเดือนละ 70 ล้านบาท
เอเชีย เอราวัน จึงไม่มีการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการ เพิ่มขบวนรถ อัพเดทระบบอาณัติสัญญาณ แก้ไข ซ่อมแซมราง ประแจสับราง ที่ชำรุดหลายจุด เพราะต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ในขณะที่สัญญาร่วมลงทุนยังไม่มีความแน่นอน รวมทั้ง อนาคตของโครงการว่า ซีพี จะไปต่อไหม
แอร์พอร์ตลิงค์ ให้บริการมา 12 ปีแล้ว ขบวนรถ 9 คัน ไม่มีการซื้อเพิ่ม แต่เดินรถจริงเพียง 6 ขบวน อีก 3 ขบวน จอดทิ้งเป็นอะไหล่ เพราะไม่มีเงินซื้ออะไหล่ใหม่ ระบบอาณัติสัญญายังเป็นของเดิม ไม่มีการอัพเดท ระบบราง ไม่มีการเจียร ทำให้รถไฟต้องลดความเร็ว ประแจสับรางเสีย ต้องปิดตาย 3-4 จุด รถที่วิ่งสวนกัน ต้องจอดรอหลีก ไม่มีระบบไฟฟ้าสำรอง
ทั้งหมดนี้คือ ความเสี่ยงต่อชีวิต ความปลอดภัยของผู้โดยสาร ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะแอร์พอร์ตลิงค์ ไม่เคยมีการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ตั้งแต่เปิดให้บริการ
เป็นความเสี่ยงที่ไม่มีวันจบ เพราะไม่รู้ว่า ซีพี จะยื้อโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินไปอีกนานเท่าไร