ทฤษฎี ‘ธนูสามดอก’ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

2 ก.ค. 2568 - 01:45

  • ความชะงักงันของภาคเศรษฐกิจไทย รอการแก้ไข

  • ทฤษฎีธนูสามดอกของญี่ปุ่นถูกนำมาเป็นโมเดลแก้ปัญหา

  • ข้อเสนองานวิจัยจาก วตท.35 ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

ทฤษฎี ‘ธนูสามดอก’ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

Mission 2000

ปฏิบัติการฉุดเศรษฐกิจ-ตลาดทุนไทย

ไปดวงดาว

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับตลาดหุ้นไทย  ในมุมมองของการฟื้นตัว  และมองถึงการหาเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  โดยมีเนื้อหาดังนี้

หากใครพูดว่า ‘จะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยไป 2,000 จุด’ ได้นั้น ฟังดูตลก เพราะปัจจุบัน ดัชนีจะไปถึง 1,200 จุด ยังยาก แต่คณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 35 (วตท.35) ไม่สิ้นความหวัง

โดยเมื่อไม่นานมานี้ ได้นำเสนอโครงการวิจัย ‘Mission 2000: Confidence, Continuity and Connectivity’ ที่มุ่งหวังพลิกโฉมตลาดหุ้นไทยให้ทะยานสู่เป้าหมาย 2,000 จุด ภายใน 5 ปี

หากเปรียบเทียบแล้ว ดัชนีหุ้นนั้น เปรียบเสมือนแผนที่ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจ พิจารณาได้จากตลาดหุ้นไทย ที่เพียง 2 ปีก่อน วิ่งอยู่ในระดับ 1,600-1,700 จุด แต่ปัจจุบันกลับมาวิ่งอยู่แถว 1,100 จุดเท่านั้น และเสี่ยงที่จะหลุด 1,000 จุดอยู่ทุกเมื่อ และหากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ ‘ชะงักงัน’ ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมายาวนาน

โดยเฉพาะหลัง Covid-19 ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่เพียง 2.2% ต่อปี โดยปัญหาหลักที่เราเผชิญคือการขาด ‘New Growth Engine’ หรือเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ดังนั้นงานวิจัยของ วตท.35 จึงได้นำแนวคิด ‘ลูกธนูสามดอก’ หรือ ‘Abenomics’ ของญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้กับบริบทไทย เนื่องจากเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยในปัจจุบัน คล้ายกับญี่ปุ่นในช่วงปี 2012 โดยแบ่งเป็น 3 แนวทางหลัก

แนวทางที่หนึ่ง การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน (Hard Infrastructure) ข้อเสนอหลักคือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ครอบคลุมโครงการที่จะเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจได้จริง

โดยแบ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานน้ำและชลประทานเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม โครงสร้างระบบขนส่งทางรางและถนนหลวง โครงสร้างพื้นฐานป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โครงสร้างด้านการศึกษา และการลงทุนภาครัฐ-เอกชนอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงไทยกับภูมิภาคและโลก เช่น ท่าเรือฝั่งอันดามัน การลงทุนขนาดนี้คาดว่าจะเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ 0.54-1.27% ต่อปี

โดยผลกระทบทางตรงจะให้ผลใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ศักยภาพเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นในระยะยาว

แนวทางที่สอง การปฏิรูปเชิงนโยบาย (Soft Infrastructure) โดยแบ่งได้เป็น 5 ประเด็นย่อย

ประเด็นที่หนึ่ง ได้แก่การปฏิรูปการคลังที่เป็นหัวใจสำคัญของแผนนี้ เพราะต้องหาเงินมาใช้ในการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็ไม่ทำให้เสียวินัยการคลังจนถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยในระยะสั้นเน้นการขยายฐานภาษี ลดส่วนลดและข้อยกเว้นทางภาษีต่าง ๆ พร้อมเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะจาก 70% เป็น 80% ของ GDP เพื่อเตรียมเม็ดเงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ระยะยาวหลังจากการลงทุนเริ่มผลิดอกออกผลและทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว จึงค่อยปรับขึ้นภาษีเพื่อปรับลดเพดานหนี้สาธารณะ

ประเด็นที่สอง ได้แก่การปฏิรูปการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยีจะเน้นการเปลี่ยนจาก ‘ปริมาณ’ สู่ ‘คุณภาพ’ โดยจำกัดการขยายโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมากถึง 50% ของโรงเรียนรัฐ ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาจะสามารถลดค่าใช้จ่ายบุคลากร ทำให้งานของครูไม่หนักจนเกินไป โดยเป็นการนำ Education Technology อย่าง Kahoot, LingoAce, Duolingo, Eduten มาใช้เพื่อการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา

ประเด็นที่สาม การพัฒนาโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยจากงานวิจัยพบว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุด ได้แก่การลงทุนและนวัตกรรมใหม่ ดังนั้น ธุรกิจที่จะเติบโตได้ดี จะต้องเพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนให้ได้ 10-15% ของรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดนวัตกรรม แนวทางการผลิต-จัดจำหน่าย หรือผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ประเด็นที่สี่ การยกระดับธรรมาภิบาลและบทบาท ก.ล.ต.โดยข้อเสนอสำคัญคือการเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. ในการยับยั้งธุรกรรมที่มีความเสียหายสูง เพื่อป้องกันผลกระทบสู่ตลาดทุนเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีการยกระดับคุณภาพคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนด้วยการปรับจาก ‘ปริมาณ’ สู่ ‘คุณภาพ’ โดยแก้ไขกฎหมายให้กรรมการทุกคนต้องผ่านหลักสูตรอบรมภาคบังคับเรื่องหน้าที่ตามหลักความไว้วางใจ (Fiduciary Duty)

รวมถึงสนับสนุนให้ ก.ล.ต. และสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)  สามารถออกใบอนุญาตให้สถาบันการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์สามารถจัดหลักสูตรฝึกอบรมคณะกรรมการบริษัทได้

ประเด็นที่ห้า การปฏิรูปนโยบายการเงินและเพิ่มสภาพคล่อง โดยให้มีการทำหลายนโยบาย เช่น นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อให้เงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายที่่ 2% โดยรวดเร็ว ผลักดันมาตรการดูแลสภาพคล่องแบบเจาะจง (คล้าย TLTRO ของยุโรป) โดยให้สินเชื่อระยะยาวแก่ธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยผูกกับผลงานการปล่อยสินเชื่อ ประสานนโยบายการเงินและการคลังแบบบูรณาการ ควบคู่ไปกับการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดทุนไทยผ่านหลายมาตรการ เช่น การลด Tick Size / spread ระหว่างราคาเพื่อลดต้นทุนทางธุรกรรม (transaction cost) และพัฒนาสมดุลด้านอุปสงค์ และส่งเสริม Share Buyback เป็นต้น

แนวทางสุดท้าย ได้แก่การปฏิรูปรายภาคส่วน ซึ่งได้แก่ Medical Hub อันเป็น ‘เพชรยอดมงกุฎ’ ของแผน Mission 2000 นี้ โดย วตท. 35 มองว่าภาคการแพทย์เป็นเครื่องยนต์ที่สามารถผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ก้าวกระโดดได้

โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนมูลค่าตลาดกลุ่ม HEALTH จาก 6% เป็น 12% ใน 5 ปี หรือเติบโต 27.6% ต่อปี โดยแผนปฏิรูป มีหลายด้าน เช่น  ตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์ (Health Innovation Board) สร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovative Park) ปฏิรูปกฎระเบียบและนโยบายเพื่อสนับสนุนการผลิตและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น สนับสนุน Advanced Therapy Medicinal Products (ATMPs) และพัฒนาแบรนด์ "Thailand Medical Hub" ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก และการพัฒนา Next-Gen Medical Tourism รวมถึงพัฒนา Medical City เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวทางทั้งหมด อยู่บนสมมุติฐานว่า การดำเนินมาตรการทั้งหมดนี้ จะทำให้

(1) ความเชื่อมั่นมากขึ้น และเพิ่มค่า PE Multiple จาก 12 เท่าเป็น 18 เท่า

(2) การเติบโตของผลตอบแทน Earnings Growth ที่ 3.65% ต่อปีอย่างต่อเนื่อง 5 ปี ซึ่งจะทำให้

(3) การเติบโตของผลกำไรบริษัทจดทะเบียนและตลาดโดยรวมมากกว่า 5% ต่อปี

หากดำเนินการตามแผน จะทำให้ GDP ไทยเติบโตที่ 4-4.5% ต่อปี จากศักยภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ 2.5% รวมถึงสร้างงานคุณภาพสูง ดึงรายได้เข้าประเทศผ่าน Medical Tourism ขณะที่ภาคการคลังจะมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และทำให้หนี้สาธารณะลดลงในระยะยาวได้

โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่สุดคือความมุ่งมั่นทางการเมือง (Political Will) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน (PPP Collaboration) และความต่อเนื่องของนโยบาย (Policy Continuity)

ตลาดหุ้นไทยที่ 2,000 จุด เศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม  และการแพทย์ที่สามารถดูแลสุขภาพของประชาชนและเป็นแหล่งรายได้สำคัญ

นี่คือทางออกที่จะปลุกชีพเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย สร้างความไว้ใจและเชื่อมั่น (Trust and Confidence) และทำให้ไทยก้าวข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ในระยะยาว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์