วันนี้ครบ 92 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย จาก 24 มิถุนายน 2475 ถึงปัจจุบัน สังคมไทย ประชาธิปไตยไทย ยังคงวนลูปอยู่กับเรื่องของรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ณ เวลานี้ เราได้ผ่านการมีรัฐธรรมนูญมาแล้วรวม 20 ฉบับ
ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับที่ 21 อันเป็นความพยายามของฝ่ายการเมืองที่เฝ้าเพียรกันมานาน เพื่อต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนจริง ๆ ไม่ใช่มาจากคณะรัฐประหาร
ประมาณว่า งาช้างไม่ได้งอกออกจากปากสุนัข ฉันใด ประชาธิปไตย ก็ย่อมไม่ได้มาจากปลายกระบอกปืน ฉันนั้น
จากบทสรุปที่ว่า จึงทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนทางการเมือง ที่ตีคู่มากับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ขึ้นในบ้านเมือง ที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาไว้ และฝ่ายค้านเองก็เห็นดีเห็นงามกับนโยบายดังกล่าวด้วย
เพียงแต่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ยังแตกต่างกันอยู่บ้างเท่านั้น
ล่าสุดความพยายามของฝ่ายการเมือง เดินมาถึงจุดที่ร่วมกันทำ "กุญแจ" ที่จะใช้ไขไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้ว ด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์ รับหลักการวาระแรกไปในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา
โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ จะประชุมนัดแรกเพื่อวางกรอบการพิจารณาให้เแล้วเสร็จภายใน 60 วัน ตามที่ได้รับมอบหมายจากสภาฯ ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567
นิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมาธิการชุดนี้ เชื่อว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ จะเสร็จทันตามระยะเวลาที่กำหนด เพราะเป็นร่างที่เสนอโดยครม.ซึ่งนำเนื้อหาจากร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล มายำรวมเข้าด้วยกัน
เมื่อรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ต่างก็ร้องเพลงคีย์เดียวกัน ต้องการปลดล็อคเงื่อนไขการทำประชามติเดิมจากเสียงข้างมากสองชั้น ให้เหลือเพียงชั้นครึ่งก็พอ เพื่อป้องกันไม่ให้ "ตกม้าตาย" เอาในตอนท้าย รวมทั้ง ประเด็นปลีกย่อยอื่น ๆ ด้วย ก็ล้วนเห็นไปในทางเดียวกัน
ในขณะที่วุฒิสภา ที่จะเป็นด่านต่อไป ก็คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาราว 60 วัน พอ ๆ กับสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน จากเดิมที่เคยกังวล "สว.ชุดใหม่จะมาตอนกี่โมง" แต่ตอนนี้ดูแล้วหนทางโล่ง คงผ่านได้ตลอด เพราะ สว.ชุดปัจจุบัน ได้ถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึกและทยอยเก็บข้าวของกันไปบ้างแล้ว
เมื่อสถานการณ์เป็นใจแบบนี้ จึงเชื่อว่าบวกลบแล้วไม่เกินปลายเดือนตุลาคมนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติคงแล้วเสร็จ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ได้ในราวพฤศจิกายนหรือเดือนถัดไป
จากนั้น เป็นกระบวนการของคณะรัฐมนตรี ที่จะส่งต่อให้ กกต.ไปดำเนินการ ซึ่งคาดว่าน่าจะออกเสียงประชามติได้ในราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อยู่ในช่วงเวลาเดียวกับการเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศพอดี
ดูช่างจั๊บเบ๊ะ..ลงตัวไปเสียทั้งหมด
เอาเป็นว่า การลงประชามติภายใต้กติกาใหม่ ที่ถือเอาเสียงข้างมากชั้นครึ่งเป็นเกณฑ์ ก็คงผ่านฉลุย เพราะคณะกรรมการชุดภูมิธรรม เวชยชัย ได้เช็กกระแสประชาชนมาแล้ว ส่วนใหญ่อยากเห็นการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่
หลังได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน ก็เสมือนได้กุญแจสำหรับไขไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเพิ่มเติมหมวดว่าด้วย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.เข้าไป
ตรง ส.ส.ร.นี่แหละ จะเป็นด่านสำคัญ เพราะทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ยังไม่สามารถตกผลึกร่วมกันได้ในเรื่องของที่มา โดยฝ่ายหนึ่งยึดแบบประชาธิปไตยจ๋า ให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนร้อยเปอร์เซนต์ แต่อีกฝ่ายให้เดินทางสายกลางยึด**"มัชฌิมาปฏิปทา"** เป็นหลัก
โดยวางตุ๊กตาเอาไว้ให้มี ส.ส.ร.จำนวน 100 คน 77 คนแรกมาจากการเลือกตั้งของประชาชนจังหวัดละ 1 คน ส่วนที่เหลืออีก 23 คน มาจากนักวิชาการ 15 คน และกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีกลุ่มเด็ก-เยาวชนรวมอยู่ด้วยอีก 8 คน
ส่วนพรรคก้าวไกล ต้องการให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด จำนวน 200 คน โดยมาจากสัดส่วนประชากรของแต่ละจังหวัด 100 คน และอีก 100 คน มาจากระบบัญชีรายชื่อ ที่ให้ประชาชนแต่ละกลุ่มรวมตัวกันเสนอตัวเองให้ประชาชนเลือก
ด่านแรก จึงเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่รัฐบาลและฝ่ายค้าน ต้องตกลงกันให้ได้ก่อนในเรื่องที่มาและจำนวน ส.ส.ร.ว่าฝ่ายค้านจะร่วมเดินทางสายกลางไปกับรัฐบาลด้วยหรือไม่?
หากตกลงกันได้ การทำประชามติครั้งที่สอง หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ก็คงไม่มีปัญหาเช่นกัน
นิกร จำนง ดีดลูกคิดรางแก้ว หักลบกลบหนี้ระยะเวลาที่เหลือทั้งหมดแล้ว เชื่อว่าหลังได้ ส.ส.ร.ในราวเดือนกรกฎาคม 2568 การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเสร็จทันในสภาชุดนี้แม้จะเป็นไปแบบเฉียดฉิวก็ตาม
แต่อาจมีปัญหาการจัดทำกฎหมายลูก ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งต้องดูจะกำหนดรายละเอียดไว้ในบทเฉพาะกาลอย่างไร
นี่คือ เส้นทางสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากประชาชนยังต้องผ่านอีกหลายด่าน ไม่นับการจ้องรื้อระบบสส. "ตัดทิ้ง" สส.บัญชีรายชื่อ ให้เหลือเฉพาะสส.เขต หวังดัดหลังพรรคก้าวไกล ที่ตกเป็นข่าวอยู่ขณะนี้