ลวรณ แสงสนิท ต้นหนเรือธงดิจิทัลวอลเล็ต

25 เมษายน 2567 - 09:00

digitalwallet-money-ministry-of-finance-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ปลัดกระทรวงการคลัง ลวรณ แสงสนิท กลายเป็นผู้นำทางดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาล

  • ทำรายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงเปิดหน้าชนแบงก์ชาติที่ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงิน

  • การเร่งรีบทำโครงการนี้ หากสุดท้ายไปไม่รอด หรือล้ม ปลัดคลังจะต้องรับบทหนัก

ในแวดวงราชการแบบไทย ๆ คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ข้าราชการประจำ โดยเฉพาะระดับปลัดกระทรวงฯจะต้องทำงาน เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุค เพราะนอกจากเป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงแล้ว ยังหมายถึงการทำให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งได้อย่างปลอดภัย และที่สำคัญหากมีผลงานเข้าตา ในอนาคตหลังเกษียณก็อาจ ‘บุญหล่นทับ’ สามารถยกระดับขึ้นชั้นกลับมารับตำแหน่งใหญ่ ๆ ระดับเสนาบดีได้

เพราะอย่างนี้จึงไม่น่าประหลาดใจกับบทบาทของ ‘บั๊ด’ ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ที่จำเป็นจะต้องยอม ‘เปลืองตัว’ เข้าไปรับบทหนักในการผลักดันโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ชนิดสุดลิ่มทิ่มประตูอย่างที่เห็น จนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าเรื่องนี้อาจจะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เขาต้องเผชิญวิบากกรรมในอนาคตหรือไม่

หากย้อนกลับไปมองเส้นทางเติบโตในการรับราชการของปลัดบั๊ด ก็ต้องยอมรับว่ามีความน่าสนใจ โดยสามารถขึ้นระดับ10 ในตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังในปี 2555 และเริ่มมีผลงานที่โดดเด่นขึ้นมาในช่วงที่มารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในปี 2561 จากนั้นในปี 2563 โยกไปนั่งเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต และในปี 2565 ย้ายมานั่งตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร 

ล่าสุดในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากอดีตปลัดกระทวงการคลัง ‘กฤษฎา จีนะวิจารณะ’ ลาออกจากราชการมารับตำแหน่ง รมช.คลัง ในโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ ปลัด ลวรณ ก็ได้รับเลือกให้ขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงการคลัง ในวัยเพียง57 ปี

ต้องยอมรับว่าในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ปลัดบั๊ด เป็นมือทำงานที่อยู่เบื้องหลังโครงการสำคัญ ๆของรัฐบาลหลายโครงการ ตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐของ ‘ลุงตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาตั้งแต่โครงการแจกเงินในช่วงโควิด-19 โครงการคนละครึ่ง และโครงการเที่ยวด้วยกัน ทำให้มีความเข้าใจธรรมชาติของนักการเมือง และสามารถทำงานตอบโจทย์ในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของฝั่งการเมืองได้อย่างดี    

ยิ่งในเวลานี้ ปลัดลวรณ กลายเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญที่อยู่เบื้องหลังเหมือน ‘ต้นหน’ ของเรือธง ‘โครงการดิจิทัลวอลเล็ต’ ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นคนช่วยกำหนดทิศทาง วางแผน และเตรียมรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการทั้งหมด นอกเหนือจาก รมช.คลัง ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ และ‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’ เลขานุการ รมว.คลัง

คงเพราะเหตุนี้ ทำให้ ปลัดลวรณ อาจจะ ‘หงุดหงิด’ กับท่าทีของแบงก์ชาติ ที่คัดค้านในเรื่องนี้มาตลอด จึงออกมาเปิดหน้าสวนกลับหนังสือของ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ที่เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณาในเชิงไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

เขาแสดงท่าทีชัดเจนว่า คณะทำงานฯ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเห็นของแบงก์ชาติ โดยระบุว่าเป็นความเห็น และข้อเสนอเก่า​ และผู้ว่าฯแบงก์ชาติ​ ก็เป็นเพียงเสียงหนึ่งในคณะกรรมการฯ ในขณะที่กรรมการคนอื่น ๆ อีก 20 กว่าคน ไม่ได้มีความเห็นเช่นนี้​ ​ 

‘ความเห็นของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย​ ไม่ได้มีอะไรใหม่ที่เคยเสนอในที่ประชุมมาตลอด คงไม่ได้ส่งผลให้โครงการดังกล่าวสะดุด​ลง​ และขณะนี้ยังมีเวลาในการพิจารณา​ ซึ่งหลังจากนี้ต้องเริ่มดำเนินการได้แล้ว เนื่องจากได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว’

ปลัดลวรณ กล่าวพร้อมยืนยันว่า​ โครงการดิจิทัลวอ​ล​เล็ต​ จะเดินหน้าต่อตามแผนเดิม​ ส่วนจะมีการส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตีความเกี่ยวกับข้อกังวลของแบงก์ชาติหรือไม่​ ​**เป็นเรื่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร​ หรือ​ ธ.ก.ส.**​ ที่อาจจะส่งเรื่องไปยังกฤษฎีกาเพื่อความชัดเจน 

คงไม่มีใครปฎิเสธว่า ความเห็นและข้อเสนอของแบงก์ชาติเป็นเพียงเสียงหนึ่งจากคณะกรรมการ 20 คน แต่ปลัดลวรณ ก็ควรจะตระหนักว่าในฐานะที่เป็นเสาหลักในฝั่งของผู้กำหนดนโยบายด้านการเงินของประเทศที่เป็นอิสระจากการเมือง เสียงของแบงก์ชาติจึงควรได้รับการให้น้ำหนักและความสำคัญในการพิจารณามากกว่าจะถูกมองว่าเป็นเพียงหนึ่งเสียงหรือไม่ ?

ยิ่งไปกว่านั้น หากไปพิจารณาเอกสารที่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่เสนอให้ ครม.รับทราบและเห็นชอบในหลักการจะพบว่า คณะทำงานรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วน (คณะทำงานฯ) ได้มีการนำเสนอผลการสอบถามหน่วยงานรัฐและเอกชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯหลายเรื่องที่ สอดคล้องกับความเห็นของแบงก์ชาติ แต่กลับไม่ได้รับความสำคัญในการพิจารณาของ ครม.แต่อย่างใด

ตัวอย่างคำถามว่ารัฐบาลควรมีนโยบายแจกเงินดิจิทัลหรือไม่ จากการตอบแบบสอบถามของ 35 หน่วยงาน มีจำนวนถึง 35% ที่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ยั่งยืน ทำให้เกิดเงินเฟ้อและเศรษฐกิจอาจจะหดตัวเมื่อสินสุดโครงการ ในขณะที่มีเพียง 25% ที่เห็นด้วย

ส่วนความกังวลว่าการแจกเงินอาจจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ จาก 14 หน่วยงานที่ตอบแบบสอบถาม มีถึง 86% ที่จะทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น และรัฐบาลอาจจะต้องมีการควบคุมราคาสินค้า ในขณะที่มีเพียง 21% ที่เห็นว่าอาจจะทำให้เงินฟ้อขึ้นชั่วคราวในช่วงที่มีโครงการ

นอกจากนี้มี 28 หน่วยงานที่ตอบคำถามแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกำหนดคุณสมบัติของผู้รับเงินและร้านค้าที่ร่วมโครงการถึง 39% ในขณะที่เห็นด้วยเพียง25%

การเร่งรีบรวบรัดและมัดมือชกบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลให้ยอมเห็นชอบ เพียงเพื่อต้องการจะผลักดันให้โครงการฯนี้เดินหน้าต่อไป ทั้ง ๆ ที่มีหลายฝ่ายเตือนและทักท้วง สุดท้ายเมื่อทุกอย่างฝืนความจริงไม่ได้ และเรือธง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ลำนี้ต้องอัปปางลงกลางทะเล

‘ต้นหน’ ที่เป็นคนพาเรือไปชนภูเขาน้ำแข็ง หรือ หินโสโครก ที่ขวางอยู่ตรงหน้า คงหนีไม่พ้นต้องประสบชะตากรรมที่เลวร้ายที่สุด หากมองย้อนกลับไปดูบทเรียนที่ผ่านมาของการเมืองแบบไทย

ข่าวที่น่าสนใจ
DEEP-SPACE-แฟ้มลับแบงก์ชาติ-SPACEBAR-Thumbnail.jpg

เมื่อมีนายกฯ ชื่อ ‘เศรษฐา’ ทำไมต้องมีผู้ว่าฯ แบงก์ชาติชื่อ ‘เศรษฐพุฒิ’

Deep SPACE -- โครงการดิจิทัลวอลเล็ต สะท้อนความขัดแย้งของรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ชัดเจนที่สุด หลังจากที่นายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงโครงการนี้ ใช้เวลาสั้น ๆ เพียง 2 นาที คล้อยหลังไม่นาน บันทึก 5 หน้าของแบงก์ชาติต่อโครงการนี้ก็ออกมา แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน เหมือนกับว่าผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นตามมา หรืออีกนัยหนึ่งคือ พร้อมสู้ จากนี้ไปก็ขึ้นกับรัฐบาลว่า จะฟัง หรือ ไม่สนใจข้อเสนอแบงก์ชาติ ติดตามใน Deep SPACE..ลึกกว่าที่รู้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์