วันนี้ใครจะมีบารมีนอกพรรคมากน้อยขนาดไหน แตกต่างกัน ก็ว่ากันไปตามเหตุปัจจัยนั้น ๆ
แต่สำหรับบรรยากาศการเมืองในช่วงเดือนสิงหาคม ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินคดีสำคัญ 2 คดี ได้แก่ คดี ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ ในวันพุธที่ 7 สิงหาคม และคดี ‘ถอดถอน’ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในวันพุธที่ 14 สิงหาคม
ทั้งสองคดี ทำให้ภาคธุรกิจเกิดความกังวล เกรงไป ‘กระทบ’ การขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องล่าช้าออกไป หรือแม้แต่งบประมาณรายจ่ายประจำปี2568 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา ก็อาจมีปัญหาตามไปด้วย
หากต้องมาจัดทัพการเมืองกันใหม่หรือเปลี่ยนม้ากลางศึก!!
ไม่แปลกที่ภาคธุรกิจจะมีความรู้สึกเช่นนั้น เพราะความอึมครึมของการเมืองหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 กว่าจะได้ตัวนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้ ต้องใช้เวลานานกว่า 3 เดือน และกว่าจะได้ใช้งบประมาณใหม่ก็ล่าช้าไปอีกครึ่งค่อนปี แถมนโยบายสำคัญยัง ‘ติดหล่ม’ อีกต่างหาก
มันจึงเป็นภาพจำที่ตามหลอน บั่นทอนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจมาถึงวันนี้
แต่หนนี้ ถ้าสแกนไปทีละจุด ๆ แล้ว ต่อให้ทั้งสองคดีผลการตัดสินออกมา ‘เลวร้ายสุดๆ’ พรรคก้าวไกลถูกยุบ เศรษฐา ทวีสิน ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไป ก็ไม่น่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถึงขั้นต้อง **‘สะดุดแบบหัวทิ่มหัวตำ’**แต่ประการใดไม่
เริ่มจากคดียุบพรรคก้าวไกลก่อน หากพรรคสีส้มถูกยุบ สมาชิกที่เป็น สส.อยู่ทั้งหมด ก็ไป ‘หาพรรคใหม่สังกัด’ ภายใน 60 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนใครที่เป็นกรรมการบริหารพรรคในขณะกระทำความผิด ก็ต้อง ‘พ้น’ จากตำแหน่งสส.และถูก ‘ตัดสิทธิ’ ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งไล่ชื่อดูแล้วมีที่ยังอยู่กับก้าวไกล 7 คน
ทำให้ที่นั่งในสภาของพรรคก้าวไกล จากเดิม 151 เสียง จะเหลือ 144 เสียง ก็ไปอยู่พรรคใหม่ที่จัดเตรียมไว้ ส่วนจะมีใครทำตัวเป็นผึ้งแตกรัง ถือโอกาสย้ายไปอยู่พรรคการเมืองอื่นบ้าง ก็คงไปห้ามไม่ได้
พลพรรคสีส้ม ภายใต้บ้านหลังใหม่ยังมีเวลาเลือกเฟ้นคนแถว 3-4 ขึ้นมานำทัพ และสร้างบุคคลากรขึ้นใหม่ เตรียมสู้ศึกเลือกตั้งในอีก 3 ปีข้างหน้าได้ ยกเว้นรัฐบาลจะเล่นเกมเร็วชิง ‘ยุบสภา’ ก่อนเพื่อให้ ‘สีส้ม’ ตั้งหลักไม่ทัน แต่โอกาสก็น้อยมาก เพราะเพื่อไทยเพิ่งเข้ามาเป็นรัฐบาลได้แค่ปีเดียว
การยุบพรรคก้าวไกลหนนี้ ต่อให้แกนนำใช้วิธีแถลงนอกศาลซ้ำๆ เพื่อสื่อสารกับมวลชนที่สนับสนุน กึ่งๆ ปูพื้นความคิดทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้เห็นว่า ‘ไม่ได้ทำอะไรผิด’ แต่ถ้าผลออกมาให้ยุบพรรค อารมณ์ก็คงไม่ต่างจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563
หรือต่อให้ระดมกันใส่เสื้อสัญลักษณ์พรรคมาร่วมแสดงออกในวันตัดสินคดีมืดฟ้ามัวดินขนาดไหน ก็คงไม่ถึงขั้นเกรี้ยวกราดลุกขึ้นมาเผาบ้านเผาเมืองหรอก
เพราะคนในพรรคที่เหลืออยู่ หลังปาดน้ำตา ให้กำลังใจกันและกันแล้ว ก็ลุกขึ้นมา ‘สร้างบ้านแปงเมือง’ กันใหม่ได้ ในเมื่อได้ชื่อเป็น ‘พรรคอุดมการ’ เพียงพรรคเดียวที่มีอยู่ในประเทศไทย พวกแถว 3-4-5 ก็ทำหน้าที่สานต่อภารกิจพรรค แค่เปลี่ยนชื่อกันใหม่อีกครั้ง
คนที่ถูกทัณฑ์ทางการเมือง ‘ติดโทษแบน’ ก็ถอยไปอยู่หลังม่านแทน ไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน ก็สู้กันต่อไปอยู่หลังฉาก เป็น ‘คนหลังม่าน’ ตามประสาการเมืองแบบไทยๆ ที่ กกต.ชุดนี้ได้สร้างบรรทัดฐานไว้ให้
ส่วนชะตากรรม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในวันพุธที่ 14 สิงหาคม ที่ศาลรัฐรรมนูญ นัดฟังคำตัดสินกรณีการแต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ แม้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ผู้นำจิตวิญญาณพรรคเพื่อไทย จะออกมาส่งสัญญาญในวันเกิดครบ 75 ปี ไม่มีอะไรต้องกังวล ไม่มีแผนสำรอง และไม่มีปฎิญญาเขาใหญ่
แต่สังเกตจากสีหน้า แววตา รวมทั้งการแสดงออกหลาย ๆ อย่างในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมมา นายกฯ เศรษฐา ได้ปรับลดเพดานบินลงอย่างมาก ทั้งจากปัญหาเรื่องกัญชา และการไม่ไปร่วมแถลงข่าวโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในวันพุธที่ 24 กรกฎาคม
กล่าวสำหรับนายกฯ เศรษฐา วันที่ 14 สิงหาคมนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็น ‘บวกหรือลบ’ ก็คงไม่ทำให้การเมืองไทยสะดุด เพราะสภายังอยู่ทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป อย่างมากสุดก็ ‘โหวตเลือก’ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยยังอยู่ในขั้วเดิมที่ตกลงกันไว้ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งไม่ว่าจะเรียกมันว่า ‘ปฏิญญาเขาใหญ่’ หรือไม่ก็ตาม
ทุกอย่างจะถูกขับเคลื่อนไปตามนั้น และจบลงที่คำว่า ‘ดีล’ ไม่ต่างกับการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ที่ทำให้ ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางกลับประเทศในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ก่อนที่รัฐสภาจะโหวตให้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ด้วยซ้ำ
ฉันใด ฉันนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แม้นายกฯ เศรษฐา จะรอดจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะได้อยู่ในตำแหน่งต่อ ในสภาพที่สังคมเริ่มมีความรู้สึกต่อตัวเศรษฐาว่า ‘ไม่ว่าจะอยู่หรือไปก็มีค่าเท่ากัน’
หลัง ‘ทักษิณ’ พ้นโทษ ซึ่งเคยลั่นวาจาเอาไว้ ถัดจากเดือนสิงหาคมไปแล้ว การทำงานของรัฐบาลจะมีรูปธรรมจับต้องได้มากขึ้น ถ้าวันนั้นคนชื่อเศรษฐา ยังอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่รู้จะต้อง**‘หวานอมขมกลืน’** อีกขนาดไหน ลำพังในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ทำตัว ‘ลีบแล้วลีบอีก’ จนไม่รู้จะลีบอีกอย่างไร
เอาเป็นว่า ถ้าต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ นายกฯ เศรษฐา น่าจะได้ไปแบบเท่ ๆ มากกว่า ดีกว่าอยู่ในสภาพที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง และต้องไปในวันใดวันหนึ่งด้วยเหตุผลที่เขาไม่ใช้แล้ว
ถึงวันนั้น เศรษฐาอาจไปพร้อมกับภาระรุงรังทางกฎหมายมากมาย มีชนักปักหลัง และอาจถึงขั้นต้องติดคุกติดตะรางในตอนหลังด้วยซ้ำ
การเมืองเดือนสิงหาคม ดูเหมือนจะร้อนแรง แต่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ จะอยู่ในครรลองกลไกของสภา ไม่มีแรง ‘กระเพื่อม’ จากภายนอก เพราะฉะนั้น จะไม่มีคำว่าสะดุดหรือที่ภาคธุรกิจกังวลเรื่องเปลี่ยนม้ากลางศึกอย่างแน่นอน
ในทางกลับกันการเปลี่ยนม้าตัวใหม่ จะทำให้ประชาชนได้มีความรู้สึกใหม่ๆ และเลิกคิดถึงลุงตู่ได้ด้วยซ้ำ