นายกฯ ‘เศรษฐา’ ฝันเรื่อยเปื่อย 10 ปีขายทุเรียนปีละ 1 ล้านล้านบาท

9 เม.ย. 2567 - 07:14

  • นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ประกาศจะส่งออกทุเรียนให้ได้ 1 ล้านล้านบาท

  • วางแผนบรรลุเป้าหมายภายใน 10 ปีต่อจากนี้

  • ส่วนคู่แข่งทุเรียนในตลาดโลก อย่าง จีน และ เวียดนาม กำลังขยายการปลูกทุกเรียน

durian-export-thailand-SPACEBAR-Hero.jpg

ยิ่งนานวัน นายกฯ ผ้าขาวม้าหลากสี เศรษฐา ทวีสิน ก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นสุดยอดเซลล์แมน นักขายฝัน ชนิดไร้เทียมทานอย่างยากจะปฎิเสธ จนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทีมงานหรือตัวเองจดบันทึกส่วนตัวไว้บ้างหรือเปล่าว่า ขายฝันเรื่องอะไรไปแล้วบ้าง

การขายฝันในสารพัดเรื่องในทุกเวที หรือ ทุกทวิตใน X คือ ดาบสองคมที่ย้อนมาเสียบแทงตัวเองได้ตลอดเวลา

ตัวอย่างชัดๆจากกรณี ‘เทศกาลมหาสงกรานต์’ 21 วัน ที่กำลังมีปัญหาไม่ **‘ปัง’**อย่างที่เคลมไว้ ถึงแม้จะอ้างว่าเพราะขาดงบฯก็เป็นอะไรที่ยากจะทำให้สังคมยอมรับ 

ล่าสุดระหว่างลงพื้นที่ เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี นายกฯ เศรษฐา ประกาศตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 10 ปี ประเทศไทยจะขายทุเรียนได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันจากปีละ 1.2 แสนล้านบาท เป็น 1 ล้านล้านบาท !!!

ไม่ใช่เรื่องผิดหาก นายกฯ ‘นิด’ อยากจะฝัน ‘ใหญ่’ เพราะเป็นคนที่มีความ ‘ทะเยอทะยาน’ แต่ต้องยอมรับว่าบางเรื่อง ‘คิดเร็วพูดเร็ว’ โดยไม่ศึกษาให้ดีเสียก่อนมันกลายเป็นอะไรที่เกินเบอร์ และสุดท้ายก็เป็นเพียงนิทานชวนฝันอีกเรื่องที่ไม่มีวันเป็นจริงได้เลย   

ทุเรียน เป็น 1 ในพืชเศรษฐกิจ และเป็นของโปรดผมด้วยครับ มาสวนทุเรียนวันนี้ผมมาดูทั้งการขาย การขนส่ง และเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในไทย และต่างประเทศให้มากกว่านี้ รวมถึงทำให้ราคาดีขึ้นด้วยครับ

ผมตั้งเป้าว่า ภายใน 10 ปี จะต้องขายทุเรียนได้เพิ่มขึ้น จากปีละ 120,000 ล้านบาท เป็น 1 ล้านล้านบาทต่อปี โดยพี่น้องชาวสวนจะต้องขายได้ในราคาที่เป็นธรรมด้วย ผมฝากกระทรวงเกษตรฯ เข้ามาดูแลเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำให้มีน้ำใช้เพียงพอ และเพิ่มศักยภาพในการเพาะปลูก เช่น จัดหาปุ๋ย และเครื่องมือในการปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นการลดต้นทุน ในระยะสั้นพี่น้องเกษตรกรต้องการให้เพิ่มเที่ยวเรือ และสะพานเพื่อการขนส่ง ซึ่งเราต้องพัฒนาสาธารณูปโภคในเกาะตั้งแต่ ถนน ไฟฟ้า อินเตอร์เน็ตควบคู่กันไปด้วย

นอกจากทุเรียนแล้ว มังคุด สมุย ยังทำรายได้มากที่สุดในประเทศไทย เพราะส่งออกต่างประเทศทั้งหมดรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการส่งออกผลไม้มาก เราสามารถทำ Fruit Pairing จับคู่ทุเรียนกับมังคุด ขายพ่วง King and Queen of Fruits พร้อมโปรโมทให้ชาวต่างชาติสนใจและซื้อให้มากขึ้นครับ’

นี่คือข้อความที่นายกฯ นิดทวิตไว้ใน X

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า ทุเรียนเป็นสินค้าประเภทผลไม้ซึ่งต้องใช้พื้นที่และเวลาในการปลูก ไม่ใช่สินค้าอุตสาหกรรม หรือ อสังหาริมทรัพย์ เมื่อมีพื้นที่ก็ตั้งเครื่องจักร อุปกรณ์ ทำการผลิตหรือก่อสร้างให้มากเท่าที่ต้องการ แต่ที่สำคัญคือต้องมั่นใจว่ามีตลาดรองรับที่มากพอ เพราะทุเรียนคือผลไม้ที่มีอายุ เน่าเสียได้ง่าย ปัญหาเรื่องการขนส่งไปถึงผู้บริโภคปลายทางให้เร็วที่สุดจึงเป็นหัวใจสำคัญ  

ลองดูข้อมูลล่าสุดของกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จะพบว่าปัจจุบันการปลูกทุเรียนของไทยถึงแม้จะกระจายตัวไปเกือบทั้งประเทศ เนื่องจากราคาในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างดี โดยมีตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดรองรับถึงกว่า95% จนทำให้มีพื้นที่การปลูกรวมกันราว 1.5 ล้านไร่ สามารถให้ผลผลิตได้กว่า 1.5 ล้านตัน และทำรายได้เมื่อปี 2566 ได้สูงถึงราว 1.5 แสนล้านบาท 

แต่คำถามสำคัญที่ นายกฯ เศรษฐา ควรจะพิจารณาทบทวนสิ่งที่พูดไปคือ เอาอะไรมาทำให้ **‘มั่นใจ’**ว่า ทุเรียนไทยจะมีตลาดรองรับในมูลค่าสูงถึง 1ล้านล้านบาท เพราะต้องยอมรับว่าถึงแม้ปัจจุบันจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย แต่ยิ่งนานวันก็มีคู่แข่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียนจาก เวียดนาม มาเลเซีย หรือ จีนเอง ที่ไปส่งเสริมการปลูกอยู่ที่มณฑลไห่หนาน ทำให้ราคาทุเรียนในอนาคต คงไม่ดีเหมือนในปัจจุบัน 

ถึงแม้จะฝันแบบ ‘โลกสวย’ ไปตามนายกฯเศรษฐา คือรัฐบาลช่วยจะเล่นบทเซลล์แมนไปโปรโมทให้ทุเรียนกลายเป็นผลไม้ยอดนิยมไปทั้งโลกได้สำเร็จ ทำให้มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากตลาดจีน แต่คำถามคือจะวิธีการขนส่งอย่างไรไม่ให้มีปัญหาเรื่อง ทุเรียนอ่อน หรือ ทุเรียนแก่ ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนสำคัญที่สุดของการขยายตลาดส่งออกในปัจจุบัน

สำคัญไปกว่านั้น ถึงแม้จะมีตลาดรองรับ แต่ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า ประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพมากพอที่จะผลิตทุเรียนออกมาขายได้เพิ่มมากขึ้นในระดับ 5-6 เท่าจากปัจจุบันได้จริงหรือ เพราะคงต้องใช้พื้นที่การปลูกเพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านไร่เป็นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านไร่ ชาวสวนจะเอาที่ดินมาจากไหน หรือจะใช้ที่ สปก.แปลงเป็นสวนทุเรียนกันทั้งประเทศ 

ทุกวันนี้เพียงแค่หาวิธีไม่ให้บรรดาสวนทุเรียนในไทยต้องตกไปอยู่ในมือของ ‘ล้งจีน’ ที่เริ่ม ‘แปลงร่าง’ ใช้นอมินีเข้ามากว้านซื้อสวนทุเรียนในแหล่งผลิตใหญ่ๆ แถบภาคตะวันออก รัฐบาลยังไม่มีปัญญาทำอะไรเลย

สุดท้าย ‘ทุเรียน’ ก็จะกลายเป็นเพียงนิทานขายฝันอีกเรื่อง เหมือน ‘โฆษณาเกินจริง’ และอีกไม่นานนายกฯ เศรษฐาคงหนีไม่พ้นที่จะถูกสังคมการเมืองบันทึกและสถาปนาให้เป็น ‘บิดาแห่งการขายฝัน’ ที่ไม่วันเป็นจริง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์