223 นักวิชาการชักธงรบ ต้าน ‘กิตติรัตน์’ ครอบงำธปท.

31 ต.ค. 2567 - 02:30

  • ยังมีความพยายามในการเสนอชื่อ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ด ธปท.

  • นักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์ 223 คนออกแถลงการณ์คัดค้าน

  • วัดใจคณะกรรมการเลือกแบบถูกต้องหรือตามใบสั่ง

economic-business-academics-raise-flag-against-bot-SPACEBAR-Hero.jpg

กลุ่ม 223 นักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ‘ชักธงรบ’ ออกแถลงการณ์ต้านฝ่ายการเมือง ตั้ง ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง  ขึ้นนั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หวั่น นโยบายการเงินถูกครอบงำ กระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาว

หลังจากที่มีความพยายามในการผลักดันให้ อดีตที่ปรึกษาของนายกฯรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ทราบกันดีว่าเป็นคนสายตรงมาจากการเมืองของพรรคเพื่อไทย ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เข้ามานั่งในตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ ดูเหมือนจะมาถึง ‘ทางตัน’ เนื่องจากปัญหาเรื่องคุณสมบัติ 

แต่ล่าสุดในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมเพื่อ **‘คัดเลือก’**ประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสองคนในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยใหม่อีกครั้ง

มีกระแสข่าวล่าสุดเปิดเผยว่าชื่อของ ‘กิตติรัตน์’ ยังเป็นยืนหนึ่งเป็นตัวเลือกเช่นเดิมทำให้มีแรงต้านอย่างรุนแรงจาก กลุ่มนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มีความวิตกเกี่ยวกับความเป็น ‘อิสระ’ ของแบงก์ชาติที่อาจถูกการเมืองเข้าแทรกแซงนโยบายด้านการเงิน

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ 223  คน ได้ออกแถลงการณ์**‘คัดค้าน’การครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง โดยแสดงความ‘กังวล’**อย่างยิ่งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 

หากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง ซึ่งโดยทั่วไปฝ่ายการเมืองมักให้ความสำคัญกับ**‘ผลประโยชน์ในระยะสั้น’** เพื่อแสดงผลงานที่รวดเร็วเพราะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจดำรงตำแหน่งได้ไม่ยืนยาวนัก จึงอาจส่งผลให้เกิดผล**‘เสียหายรุนแรง’**ต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจระยะยาว

ในแถลงการณ์ระบุว่า เสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรูปแบบของสากลประเทศที่ธนาคารกลางของประเทศที่ดี จะต้องมุ่งมั่นรักษา**‘เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ’**ให้เหมาะสมตามสถานการณ์และสถานภาพของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศที่มั่นคงยั่งยืนในระยะยาว

บทบาทของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยครอบคลุมภารกิจสำคัญ ได้แก่ การกำกับดูแลการบริหารงาน การจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน

หากคณะกรรมการใช้อำนาจที่มีนี้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ระยะสั้นของฝ่ายการเมือง ย่อมส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับได้

นอกจากนี้ หากการครอบงำครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองจะใช้วิธีเดียวกันในการ**‘คัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย’**ในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า โดยส่งบุคคลที่มีความสนิทใกล้ชิดทางการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม จึงขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการคัดเลือก ที่จะพิจารณาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับแรงกดดันทางการเมือง เพื่อร่วมรักษาสถาบันที่สำคัญคือธนาคารแห่งประเทศไทยที่บุคคลสำคัญในอดีตได้ร่วมกันพัฒนามาอย่างดี

และเชิญชวนภาคส่วนอื่นในสังคมร่วมแสดงจุดยืน เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็น**‘อิสระ’**ของธนาคารแห่งประเทศไทยให้หลุดพ้นจากผลประโยชน์ระยะสั้นทางการเมือง และธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของนานาอารยะประเทศ

สำหรับรายชื่อ 223  นักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม มีแกนหลักคือ ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. , ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. , ดร.อัจณา ไวความดี อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และอดีตรองผู้ว่าการ ธปท. ,ดร.สมชัย จิตสุชน (ในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับต้นสังกัด) ,รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตรองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,รศ.ดร.ดาว มงคลสมัย อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,รศ.วณี จีรแพทย์ อดีตคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ 

ศ.สุขุม อัตวาวุฒิชัย อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,รศ.ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล อดีตคณบดี คณะพัฒนาเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ,ผศ.ดร.วิศาล บุปผเวส อดีตคณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ,รศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

รศ.ดร.เกรียงไกร เตชกานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,รศ.ดร.กัญญา นิธังกร อดีตคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ในการประชุมของคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยที่มี อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ‘สถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์’ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการสรรหาฯ ระบุว่า ต้องมีการตรวจสอบในเรื่องคุณสมบัติของข้อมูลผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้ามาจำนวนทั้ง 3 รายชื่อ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนและถูกต้อง 

มีการระบุว่ารายชื่อของผู้ที่ได้รับการเสนอเข้ามาให้พิจารณาจากโควตาของกระทรวงการคลังคือชื่อของ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในขณะที่ในโควตาของแบงก์ชาติ มีการเสนอชื่อ ‘สุรพล นิติไกรพจน์’ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ‘กุลิศ สมบัติศิริ’ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ถูกเสนอเข้ามาด้วย

มีกระแสข่าวในตอนแรกว่า มีการ ‘ล็อค’ รายชื่อของ ‘กิตติรัตน์’ ไว้ตั้งแต่แรก โดยเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาติดขัดเรื่องของคุณสมบัติหลังจากที่เจ้าตัวพ้นจากคดีความเรื่องการขายข้าวตามสัญญาระหว่างรัฐบาลกับอินโดนีเซีย และมีการ ‘แต่งตัว’ ไม่มีตำแหน่งสำคัญในพรรคเพื่อไทยแล้ว

แต่ในการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหามีการตั้งข้อสังเกตถึงความใกล้ชิดของ ‘โต้ง’กิตติรัตน์ ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาของอดีตนายกฯ เศรษฐามาไม่ถึงปี คือเมื่อ 14 สิงหาคม ถึงแม้จะไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการการเมืองโดยตรง แต่ก็ทำให้เกิดคำถามถึงเรื่องของ‘ความเหมาะสม’ ที่ทำให้อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ธาริษา วัฒนเกส และ คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงตาพระมหาบัวญาณสัมปันโน ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านอย่างรุนแรง

ยิ่งไปกว่านั้น ผลจากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ที่มีมติแจ้งให้อัยการสูงสุด ทำเรื่องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ในคดีขายข้าว ‘บูล็อค’ ทำให้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงบทสรุป จึงทำให้เกิดคำถามในเรื่องของความเหมาะสมในการที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ‘ประธานแบงก์ชาติ’ มากขึ้นกว่าเดิม 

คดีดังกล่าว ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่ามีความผิดเนื่องจากไม่สั่งตรวจสอบการระบายข้าวที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียว หรือ คดีข้าวบูล็อค

**โดยคณะกรรมการปปช.**มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน2564 ชี้มูลความผิดร่วมกับกับพวกที่เป็นเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ทำสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 3 แสนตัน แต่มีการเอื้อประโยชน์ทำสัญญาให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบให้แก่ประเทศ อินโดนีเซีย (BULOG) เพียงรายเดียว และส่งผลให้ภาครัฐเสียหาย 

ต่อมามีการส่งเรื่องให้กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาลงโทษ แต่เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2567 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ อ่านคำพิพากษายกฟ้องกิตติรัตน์ แต่ ปปช.ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ของ ปปช. ทำให้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงบทสรุป 

ถึงนาทีนี้จึงต้องจับตามองต่อไปว่า แถลงการณ์ของกลุ่มนักวิชาการทั้ง 223  คน จะมีพลังและน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ คณะกรรมการสรรหาฯต้องทบทวนท่าทีใหม่หรือไม่ โดยพิจารณาแคนดิเดตที่เหลืออีกสองคน คือ กุลิศ สมบัติศิริ หรือ สุรพล นิติไกรพจน์ หรือไม่ หรือจะยังคงเลือกเดินหน้าชนเสนอชื่อ โต้ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง...

Screenshot 2567-10-31 at 09.11.43.png
Screenshot 2567-10-31 at 09.11.51.png

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์