บุญ วนาสิน จากนักบุญกลายเป็นคนบาป

27 พ.ย. 2567 - 04:09

  • หมอบุญ วนาสินผู้ก่อตั้งเครือโรงพยาบาลธนบุรี

  • จากนักบุญกลายเป็นคนบาป หลอกลงทุน

  • ความเสียหายระดับหมื่นล้านบาท

economic-business-boon-vanasin-thonburi-hospital-SPACEBAR-Hero.jpg

ในสายตาของคนทั่วไป อาจะมีเครื่องหมายคำถามตัวโตๆว่าอะไรคือสาเหตุและแรงจูงใจที่ทำให้คนที่มีทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิรวมทั้งมีฐานะทางสังคมเป็นที่รู้จักอย่างดีอย่าง นพ.บุญ วนาสิน หรือ ‘หมอบุญ’ ผู้ก่อตั้งอาณาจักร ‘ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป’ THG จึงกลายร่างจาก ‘นักบุญ’ เป็น ‘คนบาป’

เดินถลำเข้าสู่ ‘ด้านมืด’ ก่อคดีฉ้อโกงครั้งประวัติศาสตร์ ที่สร้างความเสียหายระดับหมื่นล้านบาทให้กับผู้คนในวงการธุรกิจครั้งใหญ่ จนถูกแจ้งความดำเนินคดี และชิงหลบหนี **‘หมายจับ’**หนีไปต่างประเทศ แถมยังใจคอโหดร้ายถึงขนาดทิ้งภรรยาและลูกๆให้ต้องประสบเคราะห์กรรมแทนแบบไร้สิ้นเยื่อใยโดยสิ้นเชิง

แต่สำหรับคนที่เคยสัมผัสตัวตนของ ‘หมอบุญ’ จะเข้าใจดีว่าทั้งหมดเกิดจาก ‘อัตตา’ ที่ทะลุลิมิตชนิดไร้ขีดจำกัดของ คนที่ติด ‘กับดักความสำเร็จ’ ในอดีต ที่ทำให้ชายชราวัย 86 ปี ซึ่งสมควรจะใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุขกับลูกๆหลานๆ

กลับไม่ยอมวางมือจากธุรกิจ ยังพยายามจะสานความฝันสุดท้ายของตัวเองให้สำเร็จ แต่กลับเดินผิดพลาด จนต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อฟันฝ่าอุปสรรคครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต แต่ยิ่งดิ้นรนก็ยิ่ง ‘ขุดหลุมฝังตัวเอง’ จนทำลายชื่อเสียงที่สั่งสมมาทั้งชีวิต และทุกอย่างที่ก่อร่างสร้างมากับมือเมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา

เพราะความสำเร็จในอดีตในฐานะบุกเบิกธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นรายแรกของไทยเมื่อปี 2517 โรงพยาบาลธนบุรี คือ จุดเริ่มต้นของอาณาจักร ‘ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป’ (THG) ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการด้านการแพทย์ที่มีการสร้างเครือข่ายครอบคลุมการดูแลสุขภาพทั้งในไทยและต่างประเทศ

โดยมีโรงพยาบาลในเครือข่ายถึง 18 แห่ง จนสามารถนำ THG เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2560 ทำให้หมอบุญกลายเป็นคนที่มีอัตตาสูงแบบสุดๆชนิดที่ไม่ฟังใคร  

ในแวดวงธุรกิจ ไม่มีใครปฎิเสธว่าหมอบุญ เป็นอีกหนึ่งนายแพทย์ที่ไม่ได้มีเพียงความชำนาญในเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข แต่เขายังมีวิสัยทัศน์และสนใจในเรื่องของธุรกิจและการลงทุนในตลาดหุ้น จนได้รับการยอมรับว่าเป็นระดับตัวพ่อคนหนึ่งในวงการ ที่โลดแล่นอยู่ในตลาดจนมี ‘พอร์ตหุ้น’ ระดับหลายพันล้านบาท 

ในมุมมองของหมอบุญเขามีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีจุดแข็งมากพอที่จะก้าวขึ้นไปสู่การเป็น ศูนย์กลางการแพทย์แบบครบวงจรในภูมิภาค หรือ Medical & Wellness Center ประกอบกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หรือ Aging Society ของไทย 

ทำให้เขาสนใจลงทุนในโครงการศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ธุรกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ และการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ จนนำไปสู่การลงทุนในอภิมหาโปรเจค โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่มีมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท และโครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ (ที่พักอาศัยวัยเกษียณ) ที่ใช้เงินลงทุนกว่า 4.5 พันล้านบาท บนพื้นที่กว่า 140 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน รังสิต อ.คลองหลวง ปทุมธานี

เพราะต้องใช้เม็ดเงินในการลงทุนค่อนข้างสูง 

ในราวต้นเดือนกันยายนปี 2562 หมอบุญ สร้างความฮือฮาให้กับวงการธุรกิจโรงพยาบาล เมื่อบรรลุข้อตกลงในการร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับกลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง RAM ของหมอ ‘เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์’ โดยปัจจุบัน RAM มีหุ้นอยู่ใน THG ราว 24.59%  โดย กลุ่มของหมอบุญ มีหุ้นลดลงเหลือเพียงราว 21% ทำให้ต้องเปิดทางให้กลุ่ม RAM ของหมอเอื้อชาติ เข้ามามีส่วนในการบริหาร 

ผลของการร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มโรงพยาบาลรารมคำแหง ทำให้ปัจจุบัน กลุ่มธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) มีโรงพยาบาลภายในประเทศที่เปิดดำเนินการแล้ว6 แห่ง (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 แห่ง) ต่างประเทศ 2 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลเครือข่ายรวม 18 แห่งทั่วประเทศ ธุรกิจบริบาลผู้สูงอายุและเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจอื่น ๆ ในส่วนของ RAM มีโรงพยาบาลในเครือ 10 แห่งทั่วประเทศ

ถึงแม้จะมีการควบรวมกับ กลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหงและถูกลดบทบาทบริหารใน ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป THG แต่หมอบุญ ก็ยังคงไม่หยุดฝันในการปั้นโครงการธุรกิจใหม่ๆ โดยใช้ ‘บริษัทไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด’ (TMG) ในการลงทุนในหลายๆโครงการ โดยมีการประกาศแผนการลงทุนในช่วงปลายปี 2565 ในวงเงินกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท 

‘หมอบุญ’ ประกาศแผนการลงทุนใน 5 โครงการ คือ โครงการศูนย์มะเร็งย่านปิ่นเกล้า โครงการ Wellness Center ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการสร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว 3 แห่ง โครงการร่วมทุนตั้งโรงพยาบาลในเวียดนาม และ โครงการด้านไอที Medical Intelligence  โดยขายฝันว่ามีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในราวปี 2567

แต่เนื่องจาก ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป (TMG) ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่สามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ ออกหุ้นกู้ เพื่อนำเงินมาใช้ในการลงทุนได้ ทำให้หมอบุญ ต้องใช้เงินส่วนตัวและเอาที่ดินและทรัพย์สินส่วนตัวที่มีอยู่ไป**‘จำนอง’** เพื่อกู้เงินออกมาเพื่อใช้ลงทุน 

แต่โครงการก็ทำท่าจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่วาดฝันไว้ เนื่องจากยอดขายห้องชุดในโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งลูกค้าจากต่างประเทศและกลุ่มคนรายได้สูงในประเทศ

เริ่มมีสัญญาณบอกเหตุไม่สู้ดีเกี่ยวกับฐานะการเงินของหมอบุญ มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนปีนี้ เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบของ กลุ่มธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป THG พบ ‘ปมร้อน’ ในธุรกรรมทางการเงินที่ชวนสงสัยของบริษัทย่อย 2 แห่ง 

บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด THB ซึ่งบริษัทถือหุ้น 81.03% และบริษัท ทีเอช เฮลท์ จำกัด THH ซึ่งบริษัทถือหุ้น 51.22% มีการให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด หรือ RTD ซึ่งเป็นบริษัทที่มี ‘กลุ่มครอบครัววนาสิน’ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เมื่อในปี 2565-2566 จำนวน 6 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวม 145 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด TMG ซึ่ง RTD เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 36.10% เมื่อปี 2566 จำนวนเงินรวม 10 ล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้นยังตรวจสอบพบว่า THH มีการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในสิงคโปร์ ‘แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริง’ ในปี 2566 จำนวนเงินรวม 55 ล้านบาท และจากการเข้าทำรายการอันควรสงสัยทั้งหมด ทำให้มียอดหนี้คงค้างอยู่ราว 105 ล้านบาท

ถึงแม้หมอบุญจะเป็นเพียงอดีตประธานกรรมการบริษัท ซึ่งไม่ได้มีบทบาทในบริษัทแล้ว แต่ภรรยาของหมอบุญ ‘จารุวรรณ วนาสิน’ ก็นั่งอยู่ในตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท แต่เพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบก็จำยอมขอลาออก และมีการแต่งตั้งหมอเอื้อชาติ จากกลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหงมานั่งในตำแหน่งแทน 

ปมร้อนเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้น ทำให้มีคำถามว่า มีเรื่องราวสลับซับซ้อนอะไรที่ ‘ซุกอยู่ใต้พรม’ มากไปกว่าที่เห็นหรือไม่

และในที่สุด ‘ขยะใต้พรม’ ก็ถูกคุ้ยขึ้นมาส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั้งวงการ เมื่ออดีตสะใภ้ของ หมอบุญ  ‘ณวรา กุญชร ณ อยุธยา’ ที่หย่าร้างกับ ‘จอน วนาสิน’ ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ออกมาเปิดเผยว่าถูก**‘ปลอมลายเซ็น’**ในเอกสารเรื่องหุ้น สัญญาค้ำประกันเงินกู้ และถูกทวงถาม โดนทั้งหมายเรียกและหมายศาล รวมกันเป็นมูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท โดยตัวเองไม่ทราบเรื่องมาก่อน เพราะในชีวิตไม่เคยลงนามในสัญญาใดๆทั้งสิ้น และพร้อมที่จะมีการพิสูจน์ลายเซ็นเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์

ยิ่งกว่านั้นยังมีบรรดานักธุรกิจชั้นนำระดับประเทศ และบุคลากรในวงการแพทย์ ตำนวนกว่า 500-600 ราย ที่หลงเชื่อตกเป็น ‘เหยื่อ’ ที่ถูกหมอบุญ หลอกให้มานำเงินมาลงทุนคิดเป็นวงเงินไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท ทยอยไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง 

ตามคำบอกเล่าจากเหยื่อหลายรายทั้งนักธุรกิจและหมอใหญ่หลายคน นอกจากหมอบุญจะใช้ **‘เครดิต’**ทางสังคมของตัวเอง ที่เป็นเจ้าของธุรกิจเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ มีบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีความสนิทสนมส่วนตัวกับเหยื่อ ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ จนสามารถระดมทุนจากบรรดานักธุรกิจระดับบิ๊กๆในแวดวงตลาดทุนแล้ว ยังมีการใช้พนักงานระดับสูงของ (โบรกเกอร์) บริษัทหลักทรัพย์ ‘คิงส์ฟอร์ด’ 2 คน ทำหน้าที่คล้ายกับที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้มากขึ้น

มีการชักชวนให้นำเงินมาลงทุนในโครงการ ในรูปแบบที่หมอบุญ จะทำสัญญาขอกู้ยืมเงิน โดยให้ดอกเบี้ยกับเหยื่อ โดยจ่ายเช็คล่วงหน้าให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ และดอกเบี้ยล่วงหน้าในชื่อ นพ.บุญ วนาสิน พร้อมทั้งมี จารุวรรณ วนาสิน และ นลิน วนาสิน รวมทั้ง ณวรา วนาสิน ซึ่งเป็นคนในครอบครัวเซ็นสลักหลังเช็คเป็นผู้ค้ำประกัน

ยิ่งไปกว่านั้น การเสนอให้ผลตอบแทนที่แน่นอนและมีการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราค่อนข้างสูงตั้งแต่ 7-15% ขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน ทั้งในส่วนของใบหุ้น และเช็คการันตี ที่มีทั้งภรรยาและบุตรเป็นผู้ค้ำประกัน ก็ทำให้เหยื่อส่วนใหญ่คิดว่ามีความเสี่ยงต่ำ ดีกว่าไปลงทุนในหุ้น หรือ หุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงและผันผวนสูงกว่า

คาดกันว่ามี นักธุรกิจที่มีชื่อเสียงในแวดวงตลาดทุนที่หากเปิดเผยชื่อออกมาก็จะรู้จักกันดี ตกเป็นเหยื่อกันตั้งแต่หลัก 5 ล้านบาท 20 ล้านบาท 60 ล้านบาท 100ล้านบาท แต่รายที่หนักที่สุดระดับ 2 พันล้านบาท ที่เป็นระดับบิ๊กในวงการธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม แต่ก็ยังพลาดตกเป็น ‘เหยื่อ’ เพราะมั่นใจและเชื่อว่าโครงการที่จะนำเงินไปลงทุนมีอนาคต และมี Storytelling หรือภาพฝันที่ดูน่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ

หลายคนคาดว่าในตอนแรกหมอบุญ อาจจะไม่ได้มีเจตนาที่จะฉ้อโกง หรือ เบี้ยวหนี้ แต่เริ่มต้นจากเป้าหมายในการระดมทุนหรือกู้ยืมเงินธรรมดา แต่เนื่องจากโครงการทั้งหมดเกิดอาการสะดุด ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามดีลที่กำหนดไว้  

จนถึงเวลานี้ มีการคาดหมายว่า ทั้ง 5 โครงการอาจจะเดินมาถึงบทสรุปที่ทำให้หมอบุญ ยอมรับสภาพว่าคงเดินต่อไปได้ยาก จนอาจจะตัดสินใจล้มโครงการ แต่เนื่องจากมีความเสียหายเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเกินกว่าที่จะแบกรับภาระไหว จึงทำให้หมอบุญ ต้องตัดสินใจเดินเข้าสู่ด้านมืดแบบสุดตัว โดยมีการผ่องถ่ายทรัพย์สินออกไป ก่อนที่จะหลบหนีคดีไปต่างประเทศ

ถึงนาทีนี้หมอบุญ เลือกที่จะกลายร่างจาก ‘นักบุญ’ ยอมตกเป็น ‘คนบาป’ ในสายตาของสังคม เพราะไม่อยากถูกดำเนินคดี เพราะรู้ว่าอาจต้องมีบทสรุปต้องไปใช้ชีวิตบั้นปลายในเรือนจำ แต่กลับทิ้งความเสียหายและภาระไว้กับภรรยาและลูกสาว ชนิดไม่มีความละอายบาปกรรมที่ทำไว้กับเหยื่อจำนวนมาก ตอกย้ำให้ทุกคนต้องตระหนักว่า ‘รวยแล้วไม่โกง’ อาจจะเป็นเพียงนิทานขายฝัน ที่ไม่มีอยู่จริง...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์