กกพ.ชี้ตัวการค่าไฟแพง โรงไฟฟ้าโซลาร์-กังหันลม

20 ม.ค. 2568 - 02:01

  • กกพ. เปิดตัวการทำค่าไฟฟ้าแพงมาตลอดกว่า 10 ปี

  • กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมที่ได้รับการสนับสนุน

  • ทั้งสองประเภทขายไฟให้การไฟฟ้าได้บวกราคาเพิ่ม 4-8 บาท ต่อหน่วย

Deep Space ตัวการค่าไฟแพง-SPACEBAR-Hero.jpg

พูดถึงปัญหาค่าไฟฟ้าแพงทีไร โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่หรือไอพีพี (IPP -Independence Power Producer) ถูกวาดภาพให้เป็นผู้ร้าย เป็นตัวการทำให้ค่าไฟแพง

เป็นภาพ ‘ทุนผูกขาด’ ที่เอ็นจีโอ นักวิชาการที่ไม่เป็นอิสระทางความคิด  อินฟลูเอนเซอร์ที่ไหลไปตามกระแส และนักการเมืองของพรรคประชาชน ช่วยกันสร้างเป็นภาพจำผิด ๆให้ประชาชนหลงเชื่อ

ถึงแม้ในความเป็นจริง ค่าไฟที่เริ่มแพงตั้งแต่ปี 2563  เป็นต้นมา มีสาเหตุสำคัญเพราะก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าถึง 60% ‘แพง’ ขึ้นหลายเท่าตัว จากสงครามรัสเซีย ยูเครน  ในขณะที่ก๊าซอ่าวไทย ราคาถูกที่เราใช้ผลิตไฟฟ้ามากว่า 20 ปี เริ่มไม่พอใช้ ต้องนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ

และความจริงที่ว่า  กิจการไฟฟ้าของไทย ‘ผูกขาด’ โดยรัฐ คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ. ที่เป็นทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าใหญ่ที่สุด เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว เป็นเจ้าของระบบจัดจำหน่ายคือ สายส่งไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว 

เวลาคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า หรือ กกพ. ปรับค่าเอฟที ทุก 4  เดือน  กฟผ. เป็นคนชงข้อมูล และข้อเสนอว่าค่าเอฟที ควรจะเป็นเท่าไร เพราะเป็นทั้งคนผลิต คนซื้อ คนขายไฟ ในตัวเองคนเดียว

โรงไฟฟ้าเอกชนที่มีอยู่หลายร้อยโรง  เป็นเพียงผู้ผลิต ที่ต้องขายให้กฟผ. เจ้าเดียวท่านั้น  

ความไม่รู้เรื่องโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทย  ทำให้เอกชนที่ลงทุนเป็นแสนล้านบาทสร้างโรงไฟฟ้า ขนาดใหญ่ เพื่อให้ประเทศไทยไฟสว่าง 24  ชั่วโมง กลายเป็น ‘เหยื่อ’ ของการโจมตีจากเอ็นจีโอ นักวิชาการ  และพรรคประชาชนทุกครั้งที่มีการพูดถึงค่าไฟแพง

ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าบางประเภทคือโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็น **‘เสือนอนกิน’**ฟันกำไรเงียบ ๆ ปีหนึ่ง 3-4  หมื่นล้านบาท มานานนับสิบปี จากเงินอุดหนุนที่ได้รับเพิ่มจากค่าขายไฟหน่วยละ 3- 8 บาท และจากการขายไฟในราคาแพง สูงสุดถึงหน่วยละ 11 บาท  

เงินอุดหนุนที่เรียกกันว่า ค่า adder  และ FIT  ถูกผลักภาระไปให้ผู้ใช้ไฟ โดยไม่รู้ตัว โดยรวมอยู่ในค่าเอฟที

ค่า  Adder คือ ‘ค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม’ ที่บวกเพิ่มจาก ค่าไฟฟ้า ที่ กฟผ. หรือ กฟภ. รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)  หรือรายเล็กมาก (VSPP) ที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม ขยะ ฯลฯ โดย มีอัตราแตกต่างกันคือ พลังงานแสงอาทิตย์ ได้ค่า Adder เพิ่มหน่วยละ 8  บาท พลังงานลม หน่วยละ 2.50 บาท ขยะ  2.50 บาท 

ค่า FIT หรือ Feed in Tariff  หรือ อัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ใช้กับโรงไฟฟ้า**‘ พลังงานชีวมวล’** และ ‘ชีวภาพ’ ที่คิดตามต้นทุนวัตถุดิบ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์

ถึงแม้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใช้แสงแดด ลม ซึ่งไม่มีต้นทุน เพราะเป็นพลังงานธรรมชาติ  ไม่ต้องนำเข้า ไม่มีความเสี่ยงเรื่อง ราคา  และอัตราแลกเปลี่ยนแต่ก็ยังได้บวกค่า เอฟที  เท่ากับได้สองต่อคือ  

ต่อที่หนึ่ง ค่า Adder

ต่อที่สอง ค่า เอฟที

ตัวอย่าง เช่น 

ไฟฟ้าโซลาร์ ขายไฟหน่วยละ 4.22  บาท + ค่าเอฟที 0.32  บาท + Adder 8  บาท เท่ากับ 12.5 บาทต่อหน่วย

พลังงานลม ขายไฟหน่วยละ  3.1 บาท +เอฟที 0.32 บาท + Adder  4.5 บาท  เท่ากับ7.9 บาท ต่อหน่วย

ค่าไฟโซลาร์และพลังงานลมที่สูงมาก ถูกนำไปแชร์กับค่าไฟจากก๊าซ ถ่านหิน น้ำมัน พลังน้ำ ที่มีราคาถูก ทำให้ค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่ายสูงเกินไป

การให้ค่า Adder และ FIT  มีเป้าหมาย เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเมื่อ20 ปีที่แล้ว  มีต้นทุนสูง ไม่คุ้มการลงทุน รัฐบาลจึงต้องให้เงินอุดหนุน โดยกำหนดเวลาไว้ 7-10  ปี หลังจากนั้น จะไม่ให้ค่า Adder แล้ว 

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าที่พ้นช่วงได้รับค่า Adder แล้ว ก็ยังมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงถึง หน่วยละ 4.50 บาท สำหรับโซลาร์ และหน่วยละ 3.40 บาท สำหรับพลังงานลม แพงกว่า ต้นทุนไฟฟ้าจากก๊าซที่อยู่ที่หน่วยละ 3 บาท และสูงกว่าต้นทุนเฉลี่ยของไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทุกประเภท ที่มีราคา 3.02 บาทต่อหน่วย

เปรียบเทียบกับ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,000 เมกะวัตต์ เมื่อปี  2565 และ 3,600 เมกะวัตต์ เมื่อปลายปีก่อน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ สั่งระงับ มีราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เพียงหน่วยละ 2.16  บาท และพลังงานลมหน่วยละ 3.10 บาท  เป็นราคาคงที่ 25 ปี ยิ่งเห็นชัดว่าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ กฟผ. และ กฟภ. รับซื้อมาตลอด10 ปี นั้น ‘แพงเกินไป’ เป็นต้นทุนแฝงที่ทำให้ค่าไฟแพง 

แม้จะหมดช่วงให้ค่า Adder แล้ว แต่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ยังขายไฟฟ้าราคาแพงให้ กฟผ. และ กฟภ. ต่อไปได้เรื่อย ๆ เพราะเป็นสัญญาที่ต่ออายุโดยอัตโนมัติทุก ๆ 5 ปี หากคู่สัญญาไม่ขอยกเลิก

การแถลงของ กกพ. เมื่อวันที่ 16  มกราคมที่ผ่านมา ถึงแนวทาง **‘ลดค่าไฟฟ้า’**โดยทบทวนสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน เนื่องจากมีต้นทุนสูง จึงเป็นการ ‘**แก้ปัญหาค่าไฟแพงในระดับโครงสร้าง’**อย่างแท้จริง เป็นครั้งแรก หลังจากสังคมมองปัญหาค่าไฟแพงแบบ ‘ตาบอดคลำช้าง’ ที่ เอ็นจีโอ นักวิชาการความคิดไม่อิสระ พรรคประชาชน สร้างภาพโรงไฟฟ้าเอกชนให้เป็น ผู้ร้าย  ตัวการทำให้ค่าไฟแพง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เลขาธิการสำนักงาน กกพ. บอกว่า  ถ้าเลิกหรือทบทวนสัญญาซื้อไฟพลังงานหมุนเวียน ค่าไฟจะลดลงทันทีหน่วยละ 17 สตางค์ เหลือหน่วยละ 3.98 บาท  จะช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าไฟฟ้าปีนี้ถึง 3.3 หมื่นล้านบาท

แค่ปีเดียว 3.3 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มจ่าย Adder ในปี 2550 เป็นเวลา 16 ปีแล้ว ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท ที่สร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของโรงไฟฟ้าโซลาร์และพลังงานลม รายใหญ่ 2-3 ราย 

เป็นการปล้นกลางแดด ใต้สายลม ที่คนถูกปล้นไม่รู้ตัวเลย  เพราะมัวแต่ไปฟังเอ็นจีโอ  นักวิชาการที่ไม่เป็นอิสระทางความคิดและพรรคประชาชน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์