วิกฤตการเงินของคิง เพาเวอร์ ที่ส่งผลกระทบหนักลามไปถึงหุ้นของการท่าอากาศยานไทย AOT และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่เพียงจะทำให้ตลาดหุ้นเสียทรงอีกครั้งเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่คาดผลกระทบอาจลามไปถึง สมการทางการเมืองในอนาคตระหว่างมีน้ำเงิน-แดง และสโมสร
เลสเตอร์ ในพรีเมียร์ลีก
เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลงไปทดสอบแนวรับที่ระดับ 1,270 อีกครั้งหนึ่ง โดยปิดตลาดที่ระดับ 1,272.10 จุด ลดลง 12.01 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายราว 5 หมื่นล้านบาท
การปรับตัวลงคราวนี้เป็นผลโดยตรงมาจากแรงเทขายของนักลงทุนกลุ่มสถาบัน ที่มีการขายสุทธิออกมาสูงถึง 4.7 พันล้านบาท โดยมีการขายออกมาถึง 7.96 พันล้านบาท และซื้อเข้าเพียง 3.26 พันล้านบาท
แรงขายส่วนใหญ่ มาจากหุ้นสองตัว คือ หุ้นของ ‘AOT’ บมจ.ท่าอากาศยานไทย และ ‘SCB’ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ ที่มีมูลค่าการซื้อขายรวมกันสูงถึงราว 1.2 หมื่นล้านบาท หรือ หรือราว 1/5 ของมูลค่าการซื้อขายของตลาดฯ
ราคาหุ้นของ AOT ร่วงหนัก ปิดลบลดลงถึง 13.76% หรือลดลง 7.50 บาท ราคาอยู่ที่ 47.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 8,718.27 ล้านบาท ในขณะที่ SCB ปิดลดลง 3.21% หรือลดลง 4 บาท ราคาอยู่ที่ 120.50 บาท โดยมีมูลค่าซื้อขาย 3,265.30 ล้านบาท
คำถามคือ ‘มีอะไรผิดปกติ’ กับหุ้นสองตัวนี้ ซึ่งดูเหมือนจะมีผลกระทบโดยตรงมาจาก คู่สัญญารายสำคัญ ของ AOT คือ กลุ่ม ‘คิง เพาเวอร์ King Power’ ซึ่งได้สิทธิ์สัมปทานในการบริหารพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ที่กำลังเกิดปัญหาสภาพคล่อง จนมียอดค้างจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ให้กับ AOT และ SCB เองก็เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับคิง เพาเวอร์ ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ต่อธนาคาร
มีการคาดหมายว่า AOT อาจจำเป็นต้อง**‘ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ’** เพิ่มขึ้น และหากคิง เพาเวอร์ ไปต่อไม่ไหวอาจต้องมีการจัดประมูลใหม่ โดยเชื่อว่าอาจจะไม่สามารถกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำ Minimum Guarantee ได้สูงเท่าเดิม คือ ราว 25,000 ล้านบาทต่อปี เหมือนที่มีการประเมินไว้ก่อนหน้านี้
ถึงแม้ในการทำสัญญา AOT จะมีการให้เอกชนวางหลักประกันจากสถาบันการเงินหรือ Bank Guarantee ไว้ในระยะเวลา 2 ปี ทำให้การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอาจจะไม่น่ากังวลมากนัก แต่ก็จะส่งผลกระทบไปที่ SCB แต่หากจำเป็นต้องประมูลหาผู้มาบริหารพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีใหม่ ความน่ากังวลจะอยู่ที่ผลตอบแทนที่ AOT จะได้รับ ที่อาจจะต้อง**‘ปรับตัวเลขผลประโยชน์ตอบแทน’** หรือ Minimum Guarantee ลงต่ำกว่าเดิม ซึ่งเดิมก่อนมีการทำสัญญาใหม่อยู่ที่ราวปีละ 11,187 ล้านบาท
ทั้งหมดอาจะหมายความว่ารายได้ AOT อาจจะหายไปราว 14,000 ล้านบาท ถ้าประมูลใหม่แล้ว Minimum Guarantee ลดลงไปเหลือเท่าสัญญาเดิม หากผู้ได้สัมปทานรายใหม่ไม่สู้ราคาขั้นต่ำเดิมที่สูงถึง 25,000 ล้านบาท
กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ‘กวาง’ อัสสเดช คงสิริ ดูจะกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ตลาดหุ้นไทย ถูกปกคลุมด้วยข่าวร้ายมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีการออกหนังสือฯไปยัง AOT ขอให้ชี้แจงเพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบข้อมูลอย่างชัดเจนถึงกรณีที่เกิดขึ้น
หากพิจารณาจากผลการดำเนินงานและการวิเคราะห์งบฐานะการเงินของ AOT ที่สิ้นสุดในไตรมาสแรกของปี 2568 (ตุลาคม-ธันวาคม 2567) จะพบว่าถึงแม้ตัวเลขผลประกอบการจะออกมาไม่ได้น่ากังวล โดยมีรายได้ 17,663 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 12.45% โดยมีกำไรสุทธิประมาณ 5,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.12%
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า ถึงแม้จะมีรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินเพิ่มขึ้นตามอัตราการขยายตัวของจำนวนผู้โดยสาร ที่มีจำนวนสูงถึงกว่า 33.62 ล้านคน โดยเป็นผู้โดยสารต่างชาติราว 20.85 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศราว 12.77 ล้านคน โดยมีรายได้ราว 8,859 ล้านบาท
แต่ในฝั่งของตัวเลขรายได้จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบินกลับไม่เพิ่มขึ้น คือมีรายได้ราว 8,630 ล้านบาท โดยมีรายรับจากส่วนแบ่งรายได้ของพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร หรือ ดิวตี้ฟรี เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยคือราว 5,641 ล้านบาท
ที่สำคัญมีการเลื่อนการชำระผลตอบแทนจากคิง เพาเวอร์ จนทำให้ต้องมีการตั้งพักรายได้อยู่ในบัญชีลูกหนี้การค้าไม่หมุนเวียนเป็นจำนวนสูงถึง 5,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีราว 2,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3,672 ล้านบาท
ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนว่า AOT กำลังมีปัญหามาจากการที่คิง เพาเวอร์ไม่สามารถสร้างรายได้จากร้านค้าปลอดภาษีเหมือนในอดีต ทั้งๆที่จำนวนผู้โดยสารที่ผ่านสนามบินทั้ง 6 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต และเชียงราย ต่างมีจำนวนเพิ่มขึ้น และอาจจะมีปัญหาหนักถึงขั้นที่เริ่มขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถจ่ายรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ จนต้องยอมเป็นลูกหนี้ค้างจ่ายสูง
สิ่งที่น่าประหลาดใจคืออะไรทำให้รายได้จากร้านค้าปลอดภาษี หรือ ดิวตี้ฟรี ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึงขั้นที่ทำให้ คิง เพาเวอร์ต้องปล่อยให้ตัวเองกลายสภาพเป็นลูกหนี้ค้างชำระ ซึ่งต้องจ่าย**‘ค่าปรับ’** ในอัตราดอกเบี้ยสูงถึงราว 18% หากไม่มีปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง ซึ่งทั้งหมดจึงทำให้เกิดความกังวลใจกับนักลงทุนที่มีต่อ AOT และ SCB ที่จะโดนผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากคิงเพาเวอร์มีปัญหาหนักกว่าที่คาดคิด
สาเหตุที่รายได้จากร้านค้าปลอดภาษีของคิง เพาเวอร์ไม่สามารถสร้างรายได้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งๆที่จำนวนผู้โดยสารต่างชาติ ก็มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้น เป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก เพราะสะท้อนให้เห็นว่า ‘พฤติกรรมการใช้จ่าย’ ของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเที่ยวเมืองไทย อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ เน้นการกิน-เที่ยว มากกว่าการ ชอปปิง ซื้อสินค้า
แบรนด์เนม เหมือนในอดีต จึงทำให้ยอดขายสินค้าปลอดภาษีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
คิง เพาวเวอร์ ในมือของ ‘ต๊อบ’ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกของ ‘วิชัย’ ผู้สร้างอาณาจักร และตำนานแห่งซอยรางน้ำ จะฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม โดยเฉพาะหากมองลึกลงไปอีกด้านหนึ่งของธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงและแนบแน่นกับกลุ่มการเมืองในฝั่งสีน้ำเงินอย่างมากในฐานะผู้สนับสนุนหลักตลอดเส้นทางการเติบโตของทั้งคู่
ยิ่งในสภาะวะที่พรรคการเมืองในฟากฝั่งสีน้ำเงิน กำลังเริ่มเผชิญหน้าท้าทายกับพรรคสีแดงอย่างหนักหน่วงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ไม่เพียงธุรกิจหลักที่กำลังมีปัญหา ‘ต๊อบ’ อัยยวัฒน์ ยังมีปัญหากับ สโมสรฟุตบอล ‘เลสเตอร์’ ที่อยู่ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ซึ่งกำลังใกล้ตกชั้นไปเล่นลีกล่าง ที่อาจจะทำให้เสียหายทางการเงินอย่างหนัก
จนเริ่มมีข่าวลือว่าอาจจะต้องยอมตัดใจ ‘เสียสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต’ ขายสโมสรออกไปก่อนที่จะตกชั้น นำเงินที่ได้มาช่วยแก้วิกฤตสภาพคล่องที่กำลังเผชิญอยู่ก่อนที่อาณาจักรคิง เพาเวอร์จะพังครืนลง...