นายกฯ ในตำแหน่ง ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร ประกาศอย่าง ‘แข็งขัน’ ว่าในปีใหม่ 2568 นี้จะเป็นปีแห่ง ‘โอกาส ความหวัง และความฝัน’ ของคนไทยทุกคน โดยรัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องทุกคน
ในเวลาเดียวกัน พรรคเพื่อไทย ก็นำ ‘ธีม’ หรือ Theme นี้ ไปขยายความเป็น ‘จุดขาย’ ของพรรคในปีนี้ ผ่านแนวคิด ‘การสร้างโอกาสให้คนไทยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กล้าฝัน และได้อยู่ในประเทศที่เติบโตไปด้วยโอกาส ด้วยจิตวิญญาณของนักบุกเบิก นักแก้ปัญหาและผู้ไม่ยอมแพ้’
สำหรับคนที่รักและเชียร์ นายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร เมื่อ ‘ได้ยินได้ฟัง’ อาจจะ ‘น้ำตาจะไหล’ อาบแก้ม กับวาทกรรมโลกสวย ‘ขายฝัน’ แต่สำหรับคนที่มองบริบททางเศรษฐกิจในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างเข้าใจ และนั่งทำการบ้านในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจะพบว่าไม่ว่าจะมองมุมไหน บรรดา ‘กูรู’ ด้านเศรษฐกิจของไทยส่วนใหญ่ต่างก็ลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าปีนี้จะเป็นอีกปีหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในภาวะครึ่งเป็นครึ่งตายอยู่ในสภาพ ‘ทรงๆทรุดๆ’ เหมือนเดิม
‘คนป่วยพายเรือฝ่าพายุ’
คือ นิยามที่ดูเหมือนจะทำให้เห็นภาพชัดเจนที่สุดสำหรับ เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ที่อยู่ในสภาพเหมือนคนป่วยที่ฟื้นจากอาการ ‘โคม่า’ หลังจากเจอวิกฤติโควิด-19แต่ก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแรง เพราะมีปัญหาเรื้องรังภายในเชิงโครงสร้างมานานนับทศวรรษที่ไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากปัญหาการเมืองที่เป็นตัวฉุดรั้ง ทำให้ยังคงตกอยู่
‘หลุมดำ จากนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม’
เศรษฐกิจไทยยังคงมีสภาพไม่ต่างอะไรกับ ‘โลกสองใบ’ ที่มีความแตกต่างกันสุดขั้วในหลายๆมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำในเรื่องของฐานะทางสังคมระหว่างคนรวยคนจน โครงสร้างเศรษฐกิจยุคเก่าและยุคใหม่ ไปจนถึง มิติของทุนใหญ่-เล็ก ที่ทำให้ถึงแม้ภาพรวมจะดูเหมือนเศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวได้ราว 2.7-3% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพอยู่แล้ว
ยังมีลักษณะของ K Shape ที่นับวันก็จะแตกต่างกันมากขึ้นทุกที จนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะนำไปสู่วิกฤตทางสังคมในอนาคต
คนจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือเลื่อนชั้นทางสังคม ธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถยกระดับขึ้นมาเป็นธุรกิจขนาดกลาง ในขณะที่ทุนใหญ่ยังคงกอบโกยทำกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ ความฝันที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นเป็นเพียงความหวังที่ปราศจากโอกาสที่เป็นจริง มีเพียงการหยิบยื่นนโยบายประชานิยมเพื่อหาเสียงมาเป็นเครื่องมือ **‘หล่อเลี้ยง’**ความหวังเพียงชั่วครู่ชั่วคราว
เมื่อร่างกายอ่อนแอ เศรษฐกิจอยู่ในสภาพของ ‘คนป่วยแห่งเอเชีย’ แต่ต้องออกเรือไปฝ่าพายุเศรษฐกิจโลก ที่กำลังเกิดสงครามทางการค้าระหว่างสองขั้ว สหรัฐ-จีน หลังการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ โครงสร้างการส่งออกที่ยังอยู่ในโลกยุคเก่า ทำให้ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวที่เริ่มใกล้ถึงจุดอิ่มตัว
ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสมรภูมิ รัสเซีย-ยูเครน ปัญหาในตะวันออกกลางระหว่าง อิสราเอลกับโลกอาหรับ รวมทั้งความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ และคาบสมุทรเกาหลี จึงทำให้น่าเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจไทยในสภาวะคนป่วยแห่งเอเชียที่ต้องไปเผชิญกับมรสุม และความผันผวนจากภายนอกจะสามารถเอาตัวรอดไปจนถึงฝั่งฝันหรือไม่
คำตอบสะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนจากปฏิกิริยาของตลาดทุนไทย ที่เริ่มเปิดตลาดทำการวันแรก (2 มกราคม 2568) ดัชนีตลาดหุ้นไทย ที่พยายามประคับประคองให้ปิดท้ายปีได้ในระดับ 1,400 จุด แต่ก็ทานแรงขายในวันแรกไม่สำเร็จ ดัชนีทรุดลงไปทันที ถึง 20.36 จุด จนไปปิดที่ระดับ 1,379.85 จุด โดยมีมูลค่าการซื้อขายราว36,896 ล้านบาท
แทบไม่น่าเชื่อว่าผ่านไป 1 ทศวรรษ ดัชนีหุ้นไทยไม่เดินหน้าไปไหน แถมยังกลับติดลบเสียอีก กลายเป็นทศวรรษที่สูญหายไป หรือ ‘Lost Decade’ คือเป็นตลาดหุ้นที่ไม่ให้ผลตอบแทนเลยในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ‘อย่างเป็นทางการ’ เพราะดัชนีตลาดหุ้นไทยเมื่อสิ้นปี 2014 อยู่ที่ 1,498 จุด สูงกว่าดัชนีในวันนี้ทั้งที่ผ่านมาแล้ว 10 ปีเต็ม กลายเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเกือบจะ ‘ย่ำแย่ที่สุดในโลก’
เมื่อผลตอบแทนออกมาไม่เป็นไปตามท่าดหวังจึงไม่น่าประหลาดใจที่ นักลงทุนทั้งต่างประเทศ สถาบัน และรายย่อย ต่างมองหาทางเลือกในการลงทุนไปยังตลาดหุ้นอื่นๆ และสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง ‘ทองคำ’ หรือ ‘บิทคอยน์’
นอกจากหุ้นส่วนใหญ่ไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้ดีเหมือนตลาดหุ้นอื่นๆแล้ว ตลาดหุ้นไทยยังคงมีปัญหาเชิงโครงสร้าง และเรื่องของธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากธุรกรรมการซื้อขายของบรรดา**‘เจ้ามือ’** และ ‘ขาใหญ่’ ในตลาด ที่จับมือกันในการใช้กลยุทธ์ในการ Corner หุ้นเป้าหมาย ที่มีอัตรา Free Float ต่ำกว่าปกติ ในการสร้างราคาบรรดารายย่อยให้เป็นเหยื่อ จนเกิดภาพ**‘หุ้นขึ้นกระจุก-หุ้นลงกระจาย’** ทำให้นักลงทุนส่วนมากขาดทุนเมื่อ **‘Corner แตก’**ในขณะที่มีน้อยคนมากที่ทำกำไรได้
เหตุผลที่ ‘Corner แตก’ นั้นเป็นเพราะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ส่งผลให้รายได้บริษัทลดลงและที่แย่กว่านั้น คือกำไรหดหายหรือการเติบโตลดลงมาก บริษัทที่หุ้นถูก Corner มานานมักจะสร้าง ‘สตอรี่’ ไว้มากว่าจะเติบโตเร็ว มีความสามารถสูง รวมถึงมีการขยายตัวทำธุรกิจเพิ่มสารพัด โดยเฉพาะการเทกโอเวอร์ธุรกิจที่ไม่มีศักยภาพจริง มีการระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ที่ให้ดอกเบี้ยแพงลิบ
เมื่อสถาบันการเงินและคนที่ซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเริ่มขาดความมั่นใจและปฏิเสธที่จะต่ออายุวงเงินกู้ให้ บริษัทเริ่มจะมีปัญหาทางการเงิน หุ้นตกลงไปอีก จนถึงจุดที่ Corner แตกจริงๆ ก็คือหุ้นที่เจ้าของเองที่เคยกู้เงินเอามา Corner หุ้นตัวเองถูก Force Sell หรือบังคับขายหุ้นลงในตลาด ทำให้หุ้นตกลงไปถึง ‘พื้น’
บางทีติดต่อกันหลายวัน คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับหุ้นเสียหายหนักกันทุกคน คนเลิกเข้าไปเล่นหุ้นที่ถูก Corner คนที่เล่นอยู่อยากจะออก โดยเฉพาะรายใหญ่ที่เข้าไปตั้งแต่แรก
ยิ่งในสภาวะที่ผลประกอบการของบริษัทจำนวนมากไม่ดีตามภาวะเศรษฐกิจของไทย ทำให้ราคาหุ้นไม่ขยับไปไหนได้ไกล แม้ว่าราคาหุ้นจะไม่แพง แต่นักลงทุนหุ้นรายใหญ่ที่เป็นผู้ลงทุนหลักอย่างนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะกองทุนรวมในประเทศต่างก็ไม่มีเม็ดเงินลงทุนพอที่จะรองรับการขายจากนักลงทุนต่างประเทศที่ขายสุทธิมาตลอดทั้งปีที่กว่า 1.4 แสนล้านบาท เพราะมองว่าเศรษฐกิจไทยในระยะยาวจะโตช้าหรือไม่โต ดังนั้นหุ้นจึงมีแต่ซึมหรือลดลง
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ธุรกิจกองทุนรวมในประเทศ ตกอยู่ในสภาพขาดทุนกันถ้วนหน้า ทั้งกองทุนหุ้นไทย และกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ เพราะภาวะตลาดหุ้นที่ตกต่ำยาวนาน ทำให้ผลตอบแทนจากกองทุนหุ้นเป็นติดลบ
กองทุนตราสารหนี้มีปัญหาหุ้นกู้ที่เบี้ยวหนี้ ขณะที่กองทุนหุ้นระยะยาว หรือ LTF ซึ่งนักลงทุนลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี ต้องขาดทุนเฉลี่ยประมาณ 30%
นักลงทุนหมดความนิยมลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยเฉพาะกองทุนหุ้นที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่หันไปลงทุนกองทุนหุ้นที่ลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ
ถึงแม้จะมีกองทุนรวมวายุภักษ์ หอบเงินเข้ามา 150,000 ล้านบาท ที่หวังจะช่วยปลุกชีพ หุ้นไทย แต่ก็ช่วยได้ไม่มาก เพราะ ทุกคนต่างก็ ‘รอ’ ความหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น และรอโอกาสที่ตลาดหุ้นจะฟื้นตัว แต่ดูเหมือนโอกาสก็ไม่มาถึง ซ้ำร้ายยังดูห่างไกลมากขึ้นไปทุกที...