พท.กับปาหี่ รัฐธรรมนูญใหม่

13 พ.ย. 2567 - 03:00

  • บทโอ้เอ้วิหารราย ขี่ม้าเลียบค่าย

  • รัฐธรรมนูญใหม่กับพรรคเพื่อไทย

  • ไม่ต่างอะไรกับการเล่นปาหี่แหกตาคนดู

economic-business-politics-government-pheuthai-SPACEBAR-Hero.jpg

สัปดาห์นี้คณะกรรมาธิการร่วมสองสภา เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่างเว้นไม่มีนัดหมายการประชุม จะกลับมาประชุมอีกครั้งในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายนนี้ เพราะไม่มีอะไรให้ต้องเร่งรีบทำงานแข่งกับเวลาอีก 

แต่ดูเหมือนช่วงเวลาพักยก จะมีการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันอยู่บ้างในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน โดยเฉพาะเพื่อไทย กับชาติไทยพัฒนา ที่เริ่มตั้งไข่แก้ไขรัฐธรรมนูญมาด้วยกันตั้งแต่เป็นคณะทำงานในรัฐบาลชุด เศรษฐา ทวีสิน

จนเดินมาเกือบจะสุดทางและติดหล่มอยู่ที่การแก้ไขกฎหมายประชามติในวันนี้

โดยฝ่ายหนึ่ง ต้องการให้ถอยคนละครึ่งก้าว ไม่เอาทั้งเสียงข้างมากสองชั้นที่วุฒิสภาแก้ไข และเสียงข้างมากชั้นเดียวที่เป็นร่างเดิมของสส.แต่ให้ใช้เสียงข้างมากแบบ "ชั้นครึ่งแทน" ทว่าอีกฝ่ายยืนกรานให้ยึดตามร่างเดิมของสส.

นิกร จำนง กรรมาธิการร่วมฯ จากพรรคชาติไทยพัฒนา เจ้าของสูตรถอยคนละครึ่งก้าว เกรงว่าหากเอาตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ โดยทิ้งร่างกฎหมายไว้ 180 วัน แล้วใช้เสียงสภาผู้แทนราษฎรยืนยันประกาศใช้เป็นกฎหมาย อาจจะยอมเสียเวลาและทำได้

แต่การไปแตกหักกับสว.อาจไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้เสียงสว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 67 เสียงขึ้นไป ตั้งแต่วาระแรกรับหลักการ

“เสียงของสว.มีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่รัฐธรรมนูญของประชาชน หากไม่มีหนทางประนีประนอมแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอาจไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย"

นิกร เสนอทางออกข้อกังวลที่จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติไม่ถึง 50% ของผู้มีสิทธิ โดยชี้ไปที่สาระของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ได้เปิดให้ใช้วิธีออกเสียงผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มาก และเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญเกินเกณฑ์กำหนด 

ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ 2 ฝ่าย พยายามประนีประนอมกัน ถอยคนละครึ่งก้าว เพื่อข้ามความยากลำบากนี้ไปให้ได้เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ผู้คนเฝ้ารอ

แต่เรื่องนี้แม่งานใหญ่พรรคเพื่อไทย ชูศักดิ์ ศิรินิล ยังคงเสียงแข็งให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว พร้อมแสดงความคาใจข้อเสนอชั้นครึ่งของนิกร ผ่านสื่อออกมาดังๆ ว่า ไม่เข้าใจจริงๆ จะสองชั้นหรือชั้นครึ่ง เรื่องใหญ่ใจความอยู่ที่ชั้นแรก 

นั่นคือ หมายความว่า เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ เท่ากับว่าคนที่ไม่มาใช้สิทธิ์ หรือไม่ประสงค์จะลงคะแนนถูกนับไปด้วยว่าเป็นคนไม่เห็นชอบ คนนี้ไม่มาใช้สิทธิ์ คนนี้ใช้สิทธิ์ไม่ลงคะแนน ถ้าเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ คนเหล่านี้ถูกนับไปด้วย เรื่องนี้เท่ากับค้านการทำประชามติ เพราะฉะนั้น ชั้นแรกสำคัญที่สุด เราถึงบอกว่าไม่ควรมี ควรเอาเสียงข้างมากธรรมดาเท่านั้น 

"คณะทำงานหรือพรรคจึงยืนยันจุดนี้ แล้วทางสภาผู้แทนราษฎรก็ยืนยันจุดนี้แบบเอกฉันท์ว่า ให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา เพราะฉะนั้น ที่นายนิกรพูดว่าชั้นครึ่ง ผมก็เห็นว่าไม่ต่างอะไรกัน แต่ผมให้ความสำคัญกับชั้นแรกมากกว่า"

วันถัดมา สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ข้อเสนอให้ถอยคนละก้าว โดยให้มีการพูดคุยและรับฟังจากหลาย ๆ ฝ่าย ว่าแต่ละฝ่ายมีเหตุผลอย่างไรบ้าง

"ทราบว่ามีการพูดคุยและยอมถอยกันคนละก้าว ซึ่งหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จไม่ทัน ก็อยากให้มีกระบวนการต่าง ๆ เช่น การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้"

ข้อเสนอของเลขาธิการพรรคเพื่อไทย สอดคล้องกับที่ชูศักดิ์ ให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้เช่นกัน ที่จะพยายามทำให้ดีที่สุด ส่วนจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ทันในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ค่อยว่ากันอีกที

"ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด ทันหรือไม่ทันเดี๋ยวว่ากันอีกที แต่อย่างน้อยสุดก็แสดงความตั้งใจว่า รัฐบาลนี้จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการของ สสร."

แม้การผลักดันให้มีสสร.เป็นสารตั้งต้นเอาไว้ก่อน จะเป็นการขานรับความเห็นของ วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ถอดความสำเร็จมาจากการจัดทำรัฐธรรมนูญปี2540 ที่เริ่มตั้งสสร.ในปี2538 สมัยรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา แต่มาสำเร็จในปี2540 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิตร ยงใจยุทธ

แต่สิ่งที่เพื่อไทยกำลังจะทำนั้น นอกจากไม่ตรงกับที่ได้หาเสียงและแถลงต่อสภาเอาไว้ ยังทำให้เห็นว่า ความกระตือรือล้นในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่การตั้งคณะทำงานขึ้นศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติ มาจนถึงวันนี้

กลายเป็นบทโอ้เอ้วิหารราย ขี่ม้าเลียบค่าย แวะลงข้างทางอยู่ตลอด รัฐธรรมนูญใหม่กับพรรคเพื่อไทย จึงไม่ต่างอะไรกับการเล่นปาหี่แหกตาคนดู

เพราะตอนที่ประกาศต่อสาธารณะไว้ ใช้น้ำเสียงขึงขัง ไม่ใช่พูดอ้อมแอ้มว่าอย่างน้อยก็ได้แสดงความตั้งใจแล้วเท่านั้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์