คดีข้าวจีทูจี เขี่ย ‘กิตติรัตน์’ พ้นประธาน ธปท.

14 ต.ค. 2567 - 02:30

  • ตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่ได้มาง่าย ๆ

  • ตัวเต็ง มือวางอย่างกิตติรัตน์ ณ ระนอง ถึงคราวฝันสลาย

  • ปปช. สั่งให้อัยการสูงสุดอุทธรณ์ ในคดีขายข้าวจีทูจี ‘บูล็อค’

economic-business-politics-kittirat-leaves-bank-SPACEBAR-Hero.jpg

ความพยายามในการผลักดันให้ อดีตที่ปรึกษาของนายกฯ รัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ทราบกันดีว่าเป็นคนสายตรงมาจากการเมืองของพรรคเพื่อไทย ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เข้ามานั่งในตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ กำลังมาถึง ‘ทางตัน’ เสียแล้ว หลังถูกกระแสคัดค้านจากทั้งภายในและนอกแบงก์ชาติ ที่เป็นห่วงความเป็น ‘อิสระ’ที่อาจถูกการเมืองเข้าแทรกแซงนโยบายด้านการเงิน

ก่อนหน้านี้ในการประชุมของคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยที่มี อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ‘สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์’ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาหาผู้ที่เหมาะสมที่จะมานั่งในตำแหน่งแทน ‘ปรเมธี วิมลศิริ’ ที่สิ้นสุดสาวระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อเดือนกันยายน ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม

ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสรรหาฯ ออกมาแจ้งเพียงว่าการพิจารณาจำเป็นต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากต้องไปตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ถูกส่งเสนอชื่อเข้ามาจำนวนทั้ง 3 รายชื่อ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนและถูกต้อง

โดยมีการระบุว่ารายชื่อของผู้ที่ได้รับการเสนอเข้ามาให้พิจารณาจากโควตาของกระทรวงการคลังคือชื่อของ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในขณะที่ในโควตาของแบงก์ชาติ มีการเสนอชื่อ ‘สุรพล นิติไกรพจน์’ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ‘กุลิศ สมบัติศิริ’ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ถูกเสนอเข้ามาด้วย

มีกระแสข่าวในตอนแรกว่า มีการ ‘ล็อก’ รายชื่อของ ‘กิตติรัตน์’ ไว้ตั้งแต่แรก โดยเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาติดขัดเรื่องของคุณสมบัติหลังจากที่เจ้าตัวพ้นจากคดีความเรื่องการขายข้าวตามสัญญาระหว่างรัฐบาลกับอินโดนีเซีย และมีการ ‘แต่งตัว’ ไม่มีตำแหน่งสำคัญในพรรคเพื่อไทยแล้ว 

แต่ในการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหามีการตั้งข้อสังเกตถึงความใกล้ชิดของ**‘โต้ง’** กิตติรัตน์ ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาของอดีตนายกฯ เศรษฐามาไม่ถึงปี คือเมื่อ 14 สิงหาคม ถึงแม้จะไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการการเมืองโดยตรง แต่ก็ทำให้เกิดคำถามถึงเรื่องของความเหมาะสม ที่ทำให้อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ‘ธาริษา วัฒนเกส’ และ คณะศิษยานุศิษย์ของ**‘หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน’** ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านอย่างรุนแรง 

แต่ที่หนักหนาสาหัสมากไปกว่านั้น ที่อาจทำให้ ‘ปิดฉาก’ ความหวังของพรรคเพื่อไทย ยังมาจากข้อมูลล่าจากที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ที่มีมติแจ้งให้อัยการสูงสุด ทำเรื่องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ในคดีขายข้าว ‘บูล็อค’ (BULOG)

คดีดังกล่าว ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่ามีความผิดเนื่องจากไม่สั่งตรวจสอบการระบายข้าวที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียว หรือคดีข้าวบูล็อค

โดยคณะกรรมการปปช.มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน2564 ชี้มูลความผิดร่วมกับกับพวกที่เป็นเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ทำสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 3 แสนตัน แต่มีการเอื้อประโยชน์ทำสัญญาให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบให้แก่ประเทศ อินโดนีเซีย (BULOG) เพียงรายเดียว และส่งผลให้ภาครัฐเสียหาย

ต่อมามีการส่งเรื่องให้กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาลงโทษ แต่เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม  2567 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ อ่านคำพิพากษายกฟ้อง ‘กิตติรัตน์’

แต่การตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ของ ปปช. ทำให้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงบทสรุป จึงทำให้เกิดคำถามในเรื่องของความเหมาะสมในการที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ‘ประธานแบงก์ชาติ’ มากขึ้นกว่าเดิม 

ถึงนาทีนี้จึงแทบจะ ‘ฟันธง’ ได้เลยว่า ชื่อของ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานแบงก์ชาติ คงไปไม่ถึงฝั่งฝันเสียแล้ว เพราะคณะกรรมการสรรหาฯ คงไม่กล้าเสนอชื่อคนที่ยังมีคดีความกับ ปปช. ให้ขึ้นมารับตำแหน่งใหญ่ในแบงก์ชาติอย่างแน่นอน

สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือ กระทรวงการคลังจะผลักดันรายชื่อใครขึ้นมา **‘ท้าชิง’**กับอีก 2 แคนดิเดตที่เหลือ คือ ‘กุลิศ สมบัติศิริ’ หรือ **‘สุรพล นิติไกรพจน์’**โดยมีอีกทางเลือกคือยอมเปิดไฟเขียวให้คนใดคนหนึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ โดยมี ‘ธง’ ที่ต้องมีแนวคิดที่ไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลมากขึ้น

แต่ดูทีท่าแล้ว ดูเหมือนเรื่องยุ่ง ๆ ระหว่าง ทำเนียบฯกับวังบางขุนพรม คงยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะหมากกระดานนี้ เมื่อเดินหมากผิด ‘รุกฆาต’ แต่ต้องยอมเสีย ‘ขุน’ ไปแล้ว ถึงอย่างไรก็ต้อง ‘รุก’ ไล่ให้จนกระดานตามวิสัยของคนที่ไม่ชอบความพ่ายแพ้...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์