แชร์ลูกโซ่ ลวงโลก #1 ถอดรหัส กลลวง ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’

17 ต.ค. 2567 - 02:30

  • -กับดักความคิด และการสร้างภาพหรูหราทำให้หลงเชื่อ

  • แชร์ลูกโซ่ พันธุ์ใหม่ จึงเกิดขึ้นได้ไม่มีวันจบสิ้น

  • ดิไอคอน กรุ๊ป อีกตัวอย่างของการสร้างภาพ และเรื่องราวชักจูงคนมาติดกับดัก

economic-business-politics-theicon-code-SPACEBAR-Hero.jpg

ในมิติทางสังคมศาสตร์ เรื่องราวของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ ไม่ได้เป็นเพียงปรากฎการณ์ทางสังคมที่ทำให้เกิดกระแสร้อนฉ่ากลายเป็นเรื่อง ‘ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์’ ไปในทุกอณูของสังคมไทย ที่เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งทั้งในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

แต่มันยังเป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนให้เห็นถึง อาการป่วยไข้อย่างรุนแรงของสังคม และ**‘เปลือย’** ให้เห็นถึงด้านมืดของระบบตลาดแบบทุนนิยมในยุคดิจิตอล ซึ่งผลักดันให้ผู้คน ‘บูชา’ เงิน และผู้คนต่างทะยานอยากที่จะได้รับการยอมรับในสังคม จนพาตัวเองเข้าไปสู่วงจรอุบาทว์และต้องมีจุดจบด้วยความสูญเสียและคราบน้ำตา 

อาจเป็นเพราะสังคมไทยทุกวันนี้ โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่สมบูรณ์แบบ (Perfect Zone) ที่ผู้คนนิยมใช้เป็นเวทีสำหรับการ ‘ตะโกน’ ประกาศให้ทั้งโลกรู้จักด้วยการโพสต์ภาพและข้อความที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูดี ผ่านแพลตฟอร์ม ‘ชุมชนออนไลน์’ ยอดฮิต อย่าง เฟซบุ๊ก, อินสตราแกรม,  X หรือ ติ๊กต็อก เพื่อแสดงให้เพื่อนและคนที่ติดตามได้เห็นและรับรู้ถึงความสำเร็จในชีวิตของตัวเอง ผ่านไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่น่าอิจฉา 

ยิ่งมีภาพและเรื่องราวความสำเร็จที่ทำให้คนที่ติดตามเชื่อว่าสามารถ ‘พลิกชีวิต’ จนกลายเป็นร่างทอง ถีบตัวขึ้นมาอยู่ในจุดสูงสุดของสังคม เป็นเจ้าของคฤหาสน์หลายร้อยล้าน มีชีวิตที่สุดเลิศ ‘ติดแกลม’ กินหรู อยู่สบาย ใช้แบรนด์เนม เที่ยวเมืองนอก และขับรถ ‘ซูเปอร์คาร์’

ก็ยิ่งทำให้มีผู้เข้ามาติดตามเป็นหลักแสนหลักล้าน จนกลายเป็นคนระดับ Top Profile ไม่แพ้ศิลปินและดาราที่ผู้คนให้การยอมรับ และกลายร่างเป็น Life Coach มีอิทธิพลทางความคิดที่สามารถโน้มน้าวให้ผู้คนคล้อยตามได้โดยง่าย 

เส้นทางของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ ธุรกิจ ‘แชร์ลูกโซ่’ พันธุ์ใหม่ ที่ถูก ‘จำแลง’ มาในรูปแบบของธุรกิจ ‘ตลาดแบบตรง’ ที่สามารถทำรายได้ระดับหมื่นล้านบาทได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 6 ปี ก็อาศัย ‘จุดอ่อน’ ของผู้คนในสังคมทุกวันนี้ที่มีความเปราะบางทางอารมณ์ และกำลังโหยหาความสำเร็จแบบเดียวกันมาใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการฉุดให้ผู้คนจำนวนมากตกลงไปใน ‘หลุมดำ’ แห่งความโลภ

เรื่องราวดุจเทพนิยาย ‘อายุน้อยร้อยล้าน’ ของเด็กหนุ่มวัย 40 ปี ที่รู้จักกันในนาม ‘บอสพอล’ วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ที่ไต่เต้าจากเด็กในสลัมคนหนึ่งที่สามารถพลิกชีวิตกลายเป็นมหาเศรษฐีในระยะเวลาไม่กี่ปีภายใต้แนวคิด ‘ขยันผิดที่ อีก 10 ปี ก็ไม่รวย’ ถูกนำไปเป็น ‘จุดขาย’ เสริมด้วยพลังจากการโน้มน้าวของดาราระดับแถวหน้าที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นผู้บริหารหรือ Boss  ทำให้สามารถหลอกล่อให้ผู้คนจำนวนมากให้ตกเป็นเหยื่ออย่างง่ายดาย 

ผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อและต้องประสบวิบากกรรมส่วนใหญ่จะถูก ‘ล้างสมอง’ โดยการ ‘ขายฝัน’ ว่าจะสามารถพลิกชีวิตกลายเป็นเศรษฐีหากกระโจนเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายร่วมทำธุรกิจกับ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ จนตกเป็นเหยื่อของความโลภ ทำให้ขาดสติตัดสินใจแบบโง่ๆลงไปโดยขาดความรู้ 

เมื่อรู้สึกตัวว่าพลาดแต่เพราะกลัวความล้มเหลว จึงต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดไปฉุดลากคนอื่นให้เข้าสู่วงจรอุบาทว์ไปด้วย ซึ่งคงไม่ผิดนักหากจะต้องใช้คำแรง ๆ ว่า ทั้ง 3 องค์ประกอบ คือ 

‘โลภ โง่ กลัว’

คือสิ่งที่ช่วยสร้างผลลัพธ์แห่งความสำเร็จในการสร้างอาณาจักรธุรกิจ ‘แชร์ลูกโซ่’พันธุ์ใหม่ระดับหมื่นล้านของ‘บอสพอล’ วรัตน์พล แอนด์ เดอะแก๊ง 

หากมองย้อนหลังกลับไปดูประวัติศาสตร์ ตำนานของธุรกิจ ‘แชร์ลูกโซ่’ ที่สร้างความเสียหายให้กับเหยื่อที่รู้ไม่เท่าทันเกิดขึ้นและล้มหายตายจากไปมานับไม่ถ้วน แต่กรณีของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ ถึงแม้ ‘พล็อตเรื่อง’ จะไม่ต่างจากหนังเรื่องเดิม ๆ แต่ก็ถูกนำกลับมา ‘รีเมค’ ใหม่ให้มีความร่วมสมัยและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น 

ตำนานธุรกิจของ ดิไอคอนกรุ๊ป ที่มีบอสใหญ่ คือ ‘บอสพอล’ วรัตน์พล ถูกเขียนขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ในยุคที่กระแสของการตลาดแบบออนไลน์กำลังเริ่ม**‘บูม’** เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมหาศาลต้องตกงานและจำเป็นต้องดิ้นรนหารายได้เพื่อความอยู่รอด

อาณาจักรธุรกิจของ ดิไอคอนกรุ๊ป เกิดขึ้นมาโดยการออกแบบอย่างแยบยลผ่าน **‘กลลวง’**หลากหลายชั้น โดยเริ่มต้นจากกระบวนการสร้างความน่าเชื่อถือ และการนำเสนอภาพลักษณ์ความสำเร็จของในฐานะนักธุรกิจระดับร้อยล้าน **‘บอสพอล’**และบรรดา ‘บอส’ ที่ถ่ายทอดผ่านบรรดาดาราและพิธีกรชื่อดังที่ถูกจ้างและถูกอุปโลกน์ให้ทำหน้าที่ผู้บริหาร ควบคู่ไปกับการเป็น ‘แบรนด์ แอมบาสเดอร์’ ของบริษัท และ ‘พรีเซ็นเตอร์’ สินค้า เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและช่วยในการโน้มน้าวลูกข่ายให้เข้ามาร่วมลงทุนเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท

งบโฆษณาที่ทุ่มทุนลงไปในการขึ้นป้ายคัตเอ้าต์ขนาดใหญ่ ทั้งริมถนน บนตัวตึก กลางเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ที่มีภาพของบรรดาบอสดาราดังกลายเป็นจุดสนใจที่ทำให้ผู้คนรู้จัก ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ ก่อนที่จะเปิดเกมลวงแบบ**‘เลือดเย็น’**ผ่านโมเดลธุรกิจที่ซ่อนเงื่อนจนคนส่วนใหญ่ต้องหลงกลและตกเป็นเหยื่อ โดยเริ่มจากการเปิดคอร์สสอนการตลาดออนไลน์ราคาถูก ‘อ่อยเหยื่อ’ เพื่อดึงให้แหย่เท้าเข้ามาในวงจรอุบาทว์  

เบื้องหลังโมเดลธุรกิจของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ คือ การ ‘รีเมค’ ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ให้มีหน้าตาคล้ายกับการผสมผสานของ ธุรกิจตลาดแบบตรง หรือการตลาดขายสินค้าออนไลน์ ให้เข้ากับธุรกิจขายตรงแบบดั้งเดิมที่มีตัวแทนขายในรูปแบบเครือข่ายแบบ ‘พีระมิด’ หลายชั้น หรือ MLM Multi-Level Marketing 

โดยไม่ได้มีเป้าหมายของการผลิตสินค้าและซื้อมาขายไปตามระบบตลาดปกติ แต่รายได้หลักจริงๆของธุรกิจจะมาจากการลวงให้เข้ามาเป็น ‘ตัวแทนจำหน่าย’ สั่งซื้อสินค้าจำนวนมากๆ พร้อมกับเดินเกมกดดันให้ ตัวแทนจำหน่ายเดิมต้องไปหาเครือข่ายหรือตัวแทนจำหน่ายทอดต่อๆไป

รายได้ที่เข้ามาของบริษัทไม่ได้มาจากการขายสินค้าของบริษัทตามปกติ แต่กลับมาจากการกดดันด้วยวิธีการที่แยบยลให้ ‘เปิดบิล’ จ่ายเงินซื้อสินค้าแบบยกล็อตคราวละมาก ๆ โดยอ้างว่าเพื่อให้ได้ต้นทุนสินค้าต่ำลง และจะมี Incentive หรือรางวัลจากยอดซื้อ ในรูปของทริปเดินทางท่องเที่ยวสุดเลิศ หรือ สินค้าแบรนด์เนมสุดหรู

ข้อพิสูจน์ในเรื่องของรายได้ พิจารณาได้จากยอดรายได้ระดับหมื่นล้านบาทตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ที่ไม่ได้มาจากการขายสินค้า แต่ทั้งหมดมาจากการลวงให้คนที่ถูก ‘ป้ายยา’ หลังจากเข้ามาเรียนใน ‘คอร์สออนไลน์’ ตลาดแบบตรงในราคาถูกให้หลงกล ‘เปิดบิล’ ซื้อสินค้าจำนวนมากๆ เพื่อนำไปขายต่อให้กับผู้บริโภค  

เมื่อพลิกดูงบกำไรขาดทุนของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2566 จะพบว่า มีรายได้รวมกันราว 10,612 ล้านบาท  โดยพบว่ารายได้ส่วนใหญ่กลับไม่ได้มาจากยอดขายสินค้าจริง แต่มาจากยอดการ ‘เปิดบิล’ สั่งซื้อสินค้าของบรรดาตัวแทนจำหน่าย จำนวน 368,257 ราย ที่มียอดรวมกันสูงถึง 10,130 ล้านบาท แยกเป็น 

  • ระดับที่1 ตัวแทนขายปลีก Distributor    ซื้อสินค้า 2,500 บาท  จำนวน 285,833 ราย  คิดเป็นเงิน    714 ล้านบาท
  • ระดับที่ 2 หัวหน้าทีม Supervisor           ซื้อสินค้า 25,000 บาท จำนวน  43,976 ราย คิดเป็นเงิน 1,099 ล้านบาท
  • ระดับที่ 3 ตัวแทนรายกลาง Mini Dealer ซื้อสินค้า  50,000 บาท จำนวน   6,476 ราย  คิดเป็นเงิน    323 ล้านบาท
  • ระดับที่ 4 ตัวแทนรายใหญ่ Dealer         ซื้อสินค้า 250,000 บาท จำนวน 31,972 ราย  คิดเป็นเงิน 7,993 ล้านบาท

รายได้หลักที่ทำเงินให้เข้าสู่อาณาจักรของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ ตลอด 6 ปีทีผ่านมา เกือบทั้งหมดจึงมาจากการลวงและกดดันให้มีการหาเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายตั้งแต่ระดับขายปลีกไปจนถึงระดับดีลเลอร์ ที่เปิดบิลสั่งซื้อสินค้าคราวละมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้มีการขายสินค้าไปยังผู้บริโภคจริงๆ

แต่ผลจากการที่ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ มีตัวแทนจำหน่ายถึงกว่า 3.68 แสนราย โดยมีตัวแทนจำหน่ายที่เป็น Dealer รายใหญ่ สูงถึง31,972 ราย กลับกลายเป็น ‘จุดตาย’ ที่ทำให้ในที่สุด ‘ปิรามิด’ ของอาณาจักร ‘แชร์ลูกโซ่’ ลวงโลกแห่งนี้ต้องพังทลายลง เมื่อถึงจุดอิ่มตัว การขยายตัวแทนจำหน่ายรายใหม่เพื่อให้มาเปิดบิลซื้อสินค้าเริ่มยากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ในตลาดมีแต่ผู้ขาย แต่ไม่มีผู้ซื้อสินค้า เนื่องจากบริษัทไม่ได้ให้ความสนใจในการทำการตลาดไปยังผู้บริโภค หรือ End User เห็นได้จากสินค้าของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ แทบไม่มีใครรู้จัก 

เมื่อวงจรของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ เริ่มเกิดอาการสะดุด จึงเริ่มเห็นเหยื่อผู้เสียหายเริ่มออกมาแสดงตัว และผุดขึ้นมานับพัน ๆ คนในพริบตา จนนำไปสู่การพังทลายของอาณาจักร ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ จากการโดน ‘เช็กบิล’ ถูกดำเนินคดีจากภาครัฐอย่างที่เห็นอยู่ในเวลานี้ 

กรณีศึกษาของ ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ คงไม่ใช่ ‘เคสสุดท้าย’ ของคดี ‘แชร์ลูกโซ่’ ที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะตราบใดที่คนยังไม่รู้เท่าทัน ธุรกิจ ‘แชร์ลูกโซ่พันธุ์ใหม่’ ก็คงถูกจำแลงมาในรูปแบบต่างๆอีกไม่รู้จักจบสิ้น จึงเป็นเรื่องที่น่านำมาถอดบทเรียน เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับสังคมไทย...

ติดตามตอนต่อไป...

กระบวนการสร้างภาพ ‘บอสพอล’ ปฐมบท ดิไอคอน กรุ๊ป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์