แม้หลายคนถอดใจ ยอมยกธงขาว เรื่องจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้าไปแล้ว แต่สำหรับ พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ประกาศสวมหมวกสองใบ โดยใบหนึ่งเป็นสส.พรรคประชาชน ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้าน ที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น
ส่วนหมวกอีกใบ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ยังเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ไม่มีคำว่าย่อท้อ
โดยเริ่มจากสัปดาห์ก่อน พริษฐ์นำคณะไป**‘หารือ’**กับประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอความชัดเจนเรื่องการออกเสียงประชามติ ที่จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามคำวินิจฉัยที่ 4/2564 จะต้องทำประชามติกี่ครั้งกันแน่
มาสัปดาห์นี้ พริษฐ์นำคณะชุดเดียวกันไปพบหารือกับประธานรัฐสภา โดยนำผลหารือที่ได้มาพร้อมกับข้อมูลใหม่แนบไปด้วย เพื่อให้พิจารณา**‘บรรจุ’** ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่จะนำไปสู่การตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ต้องผ่านการทำประชามติก่อน
โดยให้ทำไปพร้อมกันคราวเดียว หลังการแก้ไขผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไปแล้ว ซึ่งพริษฐ์ ให้เหตุผลเรื่องนี้หลังเข้าพบประธานรัฐสภาว่า มีข้อมูลเพิ่มเติม 2 อย่าง ที่ได้พูดคุยกับประธานรัฐสภาและทีมไป คือ
1.หากดูตามความเห็นส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ประกอบคำวินิจฉัย ที่ 4/2564 จะเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่ของตุลาการเขียนไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า การทำประชามติ 2 ครั้งนั้นเพียงพอแล้ว
2.ข้อมูลที่มาจากการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการกับประธานศาลรัฐธรรมนูญในสัปดาห์ที่แล้ว
‘เมื่อได้นำข้อมูล 2 ชุดนี้ หารือกับประธานรัฐสภาได้ข้อสรุปว่า หากจะให้คณะกรรมการประสานงานมีการวินิจฉัยเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง จะต้องมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาเพิ่มหมวด 15/1 เกี่ยวกับการมีสภาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่สภาอีกรอบหนึ่ง’
พริษฐ์ดูจะมีความมั่นใจไม่น้อยหลังได้พูดคุยกับสองประธาน และเตรียมไปพบหารือนายกรัฐมนตรีตามที่นัดหมายไว้ต่อไป เพราะเชื่อว่า หากปรับลดการทำประชามติเหลือ 2 ครั้งได้ เวลาที่เหลืออยู่สองปีเศษ ก็จะทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป
ในทางกลับกันหากเดินตามแผนเดิม พริษฐ์เชื่อว่ามี**‘โอกาสน้อยมาก’**ที่จะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แต่ขณะที่ พริษฐ์กำลังมีความหวังกับเส้นทางลัดสายนี้ ‘นิกร จำนง’ อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่ให้เพิ่มหมวด 15/1 เข้าไปเพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน ได้ยกเหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาเตือน เพื่อจะได้ไม่เกิดเหตุซ้ำอีก
นิกรเล่าว่า จากประสบการณ์ที่เคยเชื่อเต็มหัวใจว่า สามารถทำได้เพียงสองครั้งมาก่อน โดยคณะกรรมาธิการได้เสนอรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 จากนั้น ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้พิจารณาในวาระสองเสร็จสิ้นลงในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วประธานรัฐสภาได้มีคำสั่งได้นัดลงมติวาระ 3 ในวันที่ 17-18 มีนาคม 2564 แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาเสียก่อนในวันที่ 11 มีนาคม 2564
‘รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง’
นิกรทวนคำวินิจฉัยและว่า จากนั้น ความเชื่อและความคาดหวังว่าทำประชามติสองครั้งได้สดุดหยุดลงนับตั้งแต่วันนั้น โดยจำต้องยอมรับว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ตามคำวินิจฉัยครั้งนั้นต้องทำ**‘สองครั้ง’**
คือต้องถามประชาชนเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 1 ครั้ง และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ก็ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งที่ 2 รวมเป็นสองครั้งหัวกับท้าย
แต่มีไฟต์บังคับอยู่ตรงกลางหลังแก้มาตรา 256 เสร็จแล้ว ต้องทำประชามติด้วยอีกหนึ่งครั้ง สรุปจึงต้องทำประชามติหัวท้ายและตรงกลาง รวมทั้งหมด 3 ครั้ง ที่ไม่มีทางเลี่ยงได้
สุดท้ายนิกร ย้ำว่า หากไม่อยากให้เสียเวลา ก็ต้องเดินไปตามขั้นตอน เพราะหากผิดพลาดขึ้นมาแทนที่จะเร็วกลับจะกลายเป็นช้าลงไปอีกมากโดยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว
เรื่องนี้ฟังมาว่า ร่างใหม่ที่เสนออาจมีการพลิกแพลง ซ่อนคำ ไม่ให้ปรากฎข้อความ ‘หมวด 15/1’ ในร่าง เพื่อเลี่ยงไม่ให้เข้าตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้ไปเพิ่มเติมภายหลัง เมื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ซึ่งคนการเมืองมองว่า ยิ่งเลี่ยงจะยิ่งทำให้คลุมเครือไม่เป็นผลดี ทำให้ สว.นำไปอ้างไม่ลงมติสนับสนุน
ทำให้มีโอกาสถูกตีตกไม่ผ่านตั้งแต่วาระแรกที่ให้รับหลักการด้วยซ้ำ
นอกจากนั้น การนำความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยกับการทำประชามติสองครั้งมาอ้าง ยังมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคท้าย ที่ให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันกับทุกองค์กรนั้น
รัฐธรรมนูญให้ยึดคำวินิจฉัยกลางเป็นหลัก ไม่ใช่ความเห็นส่วนตน
เที่ยวนี้ถ้าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ถูก**‘ตีตก’**อีก อย่าลืมว่าตามกติกาสภาให้เสนอญัตติเรื่องเดียวกันได้สมัยประชุมละหนึ่งครั้งเท่านั้น ก็ต้องรอไปยื่นใหม่ในสมัยประชุมถัดไป ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 3 ของสภาชุดนี้แล้ว ทำให้เวลาที่เหลืออยู่ไม่มากลดน้อยลงไปอีก
โบราณว่า ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม แต่ถ้าใจร้อนจะดันทุรังทำประชามติสองครั้งให้ได้ ก็ย่อมมีความเสี่ยงด้วยประการฉะนี้แล