คลัง เด้งรับ ‘ทักษิณ’ ซื้อหนี้เน่าต่ำกว่าแสน

26 มี.ค. 2568 - 02:28

  • เอาจริง เอาจังกับนโยบายซื้อหนี้เสียมาบริหารจัดการ

  • รัฐมนตรีคลังวางแผนซื้อหนี้เสียต่ำกว่า 1 แสนมาสานฝัน

  • หวังแผนสองประสบความสำเร็จหลังล้มเหลวมาจาก คุณสู้เราช่วย

economic-business-thai-bad-debt-back-SPACEBAR-Hero.jpg

เปิดแนวคิดล่าสุด รมว.คลัง พิชัย เร่งซื้อหนี้ต่ำ 1 แสนมาบริหาร หวังช่วยลูกหนี้ 3.5 ล้านราย ที่มีมูลหนี้กว่า 1.23 แสนล้านบาท

ในระหว่างชี้แจงถึงแนวคิดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแทน นายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ ( 25 มีนาคม 2568) รมว.คลัง ‘พิชัย ชุณหวชิร’ เปิดเผยถึงแนวคิดในการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เป็นปัญหาเรื้อรัง และกลายเป็นกับดักสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ 

จนทำให้ อดีตนายกฯทักษิณ ผู้พ่อนายกฯ อิ๊งค์ ปรารภถึงแนวคิดในการซื้อหนี้จากประชาชนบางส่วนมาบริหาร โดย รมว.คลัง พิชัย ยอมรับว่า กำลังเตรียมที่จะออกมาตรการในการ

ซื้อหนี้คนไทยที่มีหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาทมาบริหาร 

ระหว่างการอภิปราย รมว.คลัง มาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ คือ โครงการ ‘คุณสู้เราช่วย’ อาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากมีตัวเลขผู้ที่เข้ามาลงทะเบียนกว่า 1 ล้านราย แต่มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียภายในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งผ่านคุณสมบัติเพียง 30% และมีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินสำเร็จเพียงราว 1 แสนราย ทำให้ต้องมีการทบทวนและหาแนวทางใหม่ โดยพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขลูกหนี้รายย่อยก่อน 

‘รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขจากรายย่อยก่อน เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้เกิดจากคนฐานราก ไม่เหมือนปี 2540 ที่เกิดกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เรากำลังจะเลือกแก้หนี้เสียที่ต่ำกว่า 100,000 บาท เพราะเป็นกลุ่มคนส่วนมากในระบบ และมีต้นทุนการแก้ไขที่ไม่สูง หากแก้ไขได้ จะช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบ และยอดหนี้ครัวเรือนให้ต่ำลง ตลอดจนช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เศรษฐกิจฟื้นได้’

รมว.พิชัย เปิดเผยว่า รัฐบาลไม่ได้แนวคิดที่จะซื้อหนี้เสียทั้ง 1.22 ล้านล้านบาท มาบริหารทั้งระบบ แต่จะเลือกเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้เสียต่ำกว่า 100,000 บาท โดยกลุ่มนี้จะเป็นหนี้เสียที่ค้างเกิน 1 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันที่มีวงเงินไม่มาก มีลูกหนี้ประมาณ 3.5 ล้านคน คิดเป็นจำนวนบัญชีราว 4.68 ล้านบัญชี หรือราว 65% ของคนที่เป็นหนี้เสีย มีมูลหนี้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของหนี้ NPL ทั้งระบบ

economic-business-thai-bad-debt-back-SPACEBAR-Photo01.jpg

แนวคิดในการเช้าไปซื้อหนี้เสียในส่วนนี้มาบริหาร คาดว่าจะใช้งบไม่มากนักโดยจะใช้วงเงินที่ใช้ไม่หมด จากโครงการ ‘คุณสู้เราช่วย’ ที่กันมาจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) ซึ่งยังเหลืออีกราว 2-3 หมื่นล้านบาท

รูปแบบในการซื้อหนี้เสียก้อนนี้ออกมาบริหาร คาดว่าจะมีการตัดหนี้เสียจำนวนนี้ออกมาจากสถาบันการเงินให้กับ บริษัทบริหารสินทรัพย์ AMC ของรัฐบาล โดยการเข้าไปซื้อหนี้เสียจะมีส่วนลดจากมูลหนี้เสีย ซึ่งมองว่าเป็นไปได้ เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้สถาบันการเงินมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญไปครบถ้วนหมดแล้ว และสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายภาษี 20% ได้ด้วย

หนี้เสียที่ซื้อออกมา บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC จะเข้าไปบริหารจัดการ เจรจาประนอมหนี้ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มนี้เข้ามาผ่อนจ่ายได้ในราคาต้นทุน บวกค่าบริหารจัดการ เพราะภาครัฐจะไม่คิดกำไร โดยลูกหนี้ที่เข้ามาทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยการยืดหนี้ ผ่อนชำระจะมีเงื่อนไขที่จะช่วยให้ปลดออกจากประวัติในเครดิตบูโรเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินใหม่ได้ 

‘ในช่วงที่ติดเครดิตบูโรอยู่ เราอาจจะมีช่องทางให้ ธนาคารออมสิน ช่วยในการปล่อยกู้ให้รายละ 10,000-20,000 บาท ซึ่งเริ่มมีการทดลองไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่มีผู้ที่สนใจมากกว่าที่คาดไว้’

ส่วนข้อครหามาตรการซื้อหนี้ประชาชนจะทำให้เกิด Moral Hazard สร้างนิสัยผิดให้คนเป็นหนี้นั้น รมว.พิชัย ยืนยันว่ามีการชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียแล้ว แต่มีความเห็นว่า จะช่วยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ 

แนวคิดดังกล่าวค่อนข้าง**‘สอดคล้อง’**กับความเห็นของผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร ‘สุรพล โอภาสเสถียร’ ที่เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนในเวลานี้ควรมุ่งเน้นไปที่คนตัวเล็กที่หนี้เสียไม่เกินแสนบาท

ปัจจุบัน ณ เดือนมกราคมปีนี้ มี​หนี้เสียหรือ​ NPL​ ที่อยู่ในฐานเครดิตบูโร จำนวน 1.22ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวนบัญชี​ 9.5 ล้านบัญชี หรือราว​ 9% ของยอดหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ในระบบเครดิตบูโร​ที่มีราว ​13.6 ล้านล้านบาท

หนี้เสียจำนวนดังกล่าว เมื่อเอามาแตกย่อยออกมาตามยอดหนี้คงค้างตั้งแต่​ 1แสนบาทลงไปจนถึงมากกว่า​ 1ล้านบาทพบว่า​ ตรงยอดคงค้าง​ 1 แสนบาท ที่เป็น​ NPL มีราว 3.4 ล้านคน เกือบ 4.7ล้านบัญชี หรือราว​ 65%ของจำนวนรายลูกหนี้ที่เป็น​หนี้เสีย คิดเป็นยอดหนี้จำนวน​ 1.23แสนล้านบาท​เกือบ 4.7ล้านบัญชี

ผู้จัดการเครดิตบูโร ให้ความเห็นว่า คนตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังลำบาก​เหล่านี้ อาจพลาด**‘หลง’**ไปจนเป็นหนี้เสีย ซึ่งอาจจะมาจาก​ หลายสาเหตุ​ เช่น รายรับ-รายจ่ายไม่สมดุล​ ต้องกู้มากินใช้ หรืออาจจะใช้ชีวิตไม่ระวัง​ ต้องแก้ปัญหาต่อด้วยเอาหนี้มาแก้หนี้​ เอาหนี้ใหม่มาหมุนวนในหนี้เก่า

บางรายอาจจะค้าขายผิดพลาด​ ไม่เป็นดั่งคิด​ เจอโควิดจนค้าขายไม่ได้ หรือเกิดเหตุ​เภทภัยจำเป็นต้องกู้ด่วน ๆ มาจนเกินศักยภาพ​เช่น​ เกิดอุบัติเหตุ, อุบัติภัย​หรือบางรายอาจจะเกิดจากขาดวินัย​ ใจมันหลุดออกไปจนเกิดหนี้สิน หรือ อาจจะมีเพื่อน ญาติพี่น้อง​ กู้หนี้ยืมสินแล้วให้ช่วยค้ำประกัน​ จนเป็นเหตุเป็นเรื่อง​

ล้านคนก็ล้านปัญหา ล้านสาเหตุ แต่ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหาแนวทางที่จะช่วยคนเหล่านี้ให้ปลดแอกจากการจมกองหนี้ เพื่อเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้เสียที

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์