ศึก ‘copyออมุก’ นิหน่า อีกคำถามคุณธรรม7-11

26 มี.ค. 2568 - 03:33

  • วิถีของผู้ประกอบการรายเล็กกับรายใหญ่

  • สินค้า Copy จากรายใหญ่ ขายแข่งรายย่อย

  • ชะตากรรมของรายเล็กที่ต้องหายไปจากธุรกิจ

economic-business-thai-copy-omuk-battle-711-SPACEBAR-Hero.jpg

ด้วยจำนวนสาขากว่า  15,000 แห่งทั่วประเทศของ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ ผู้ผลิตสินค้าเอสเอ็มอีทุกรายล้วนใฝ่ฝันที่จะเห็นสินค้าของตนได้เข้าไปวางขายอยู่ในร้านสะดวกซื้อแห่งนี้
แต่การนำสินค้าไปวางบนชั้นของเซเว่นฯ โดยเฉพาะอาหาร ของกินไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสินค้านั้นต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐานที่เซเว่นฯตั้งไว้และต้องขายได้ 

ยากไปกว่านั้นคือทำอย่างไร ไม่ให้เกิดปรากฏการณ์อยู่ดีๆเซเว่นฯก็ใช้กลยุทธ์ ‘Copy & Paste’ ผลิตสินค้า ‘House Brand’ หรือ ‘Private Label’  ที่เหมือนกันทุกอย่างออกมาวางขายแข่ง โดยสินค้าของตัวเอง ถูกย้ายไปวางอยู่ชั้นล่าง ๆ หรือในมุมอับของร้าน    

เมื่อ10 ปีก่อน เคยมีกรณีเซเว่น อีเลฟเว่น ถูกกล่าวหาว่า Copy & Paste ขนม ‘โตเกียวบานาน่า’ ผลิตHouse brand ยี่ห้อ  ‘เลอแปง บานาน่า’ ที่รูปร่างหน้าตารสชาติเหมือนกันทุกประการมาขายแข่งในร้านเซเว่นฯเอง

เรื่องนี้เป็นความถึงโรงถึงศาล เมื่อซีพีออลล์ฟ้องผู้เขียนบทความกล่าวหาดังกล่าวข้อหาหมิ่นประมาท โดยผู้เขียนยอมรับว่าได้ข้อมูลมาจากบุคคลที่สามและยอมรับผิด ซีพีออลล์จึงถอนข้อกล่าวหาโดยมีเงื่อนไขว่า ผู้เขียนต้องเผยแพร่ข้อเท็จจริงเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ต่อมาผู้เขียนไม่ทำตามเงื่อนไข จึงถูกซีพีออลล์ฟ้องศาลแพ่งให้บังคับคดี และจ่ายค่าเสียหาย

อย่างไรก็ตาม นับแต่นั้นมา โตเกียวบานาน่า ที่เคยขายดิบขายดีก็หายไปจากร้านเซเว่นฯ เหลือแต่เลอแปงบานาน่า  

คงจะมีสินค้าของกิน ขนมปัง เบเกอรี่ ของผู้ผลิตเป็นเอสเอ็มอี อีกหลายรายที่มีประสบการณ์เหมือนโตเกียวบานาน่า แต่ไม่เป็นข่าว เพราะซีพีมี **‘บริษัทซีพีแรม’**ผลิตอาหาร ขนมปัง เบเกอรี่ ป้อนร้านเซเว่น อีเลฟเว่น มีห้องแล็บที่มีนักวิจัยพัฒนากว่า 200 คนคิดค้นพัฒนาสูตรอาหาร ขนมปัง

ผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ ที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกเบื้องต้น ต้องเปิดโรงงานให้ทีมงานเซเว่น เข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิตอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบคุณภาพ ความสะอาด ความปลอดภัย

ล่าสุด ‘ออมุก’ ลูกชิ้นปลาผสมกุ้ง เกาหลี ที่ ‘นิหน่า’ สุฐิตา เรืองรองหิรัญญา พิธีกรผู้ประกาศข่าวชื่อดังกับเพื่อนลงทุนทำโรงงานเล็ก ๆ ใช้เวลาเป็นปีพัฒนาสูตร ผลิตออกมาวางขายในเซเว่นฯ พอติดตลาดเซเว่น ฯ ก็ทำออกมาวางขายบ้าง รูปร่างหน้าตา รสชาติ เหมือนกันทุกประการวางขายติดกันแต่ทำโปรโมชั่นแย่งลูกค้า ลดราคาราคาถูกกว่าถึง 7 บาท

อีกไม่นาน ออมุกของนิหน่า ก็อาจประสบชะตากรรมเดียวกับ โตเกียวบานาน่า

คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(กขค.)ได้วางไกด์ไลน์ค้าปลีก กำหนดพฤติกรรมต้องห้าม 8 อย่างที่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมทางการค้าระหว่างผู้ค้าส่ง ค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้า มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที 20 กรกฎาคม 2562 ผู้ฝ่าฝืน มีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด

1 ใน 8 พฤติกรรมต้องห้ามคือ การนำข้อมูลหรือความลับทางการค้าของคู่ค้าเพื่อผลิตสินค้าตราของตนเองแล้ว นำมาวางจำหน่ายแข่งขันกับตราสินค้าปกติ

แม้ กขค.จะมีกติกาชัดเจนอย่างนี้ แต่ผู้ผลิตซัพพลายเออร์รายเล็กรายน้อย คงไม่มีใครอยากเสียเวลาเสียเงินเสียทองสู้กับยักษ์ใหญ่ที่มีทีมงานกฎหมายระดับนานาชาติ ฟ้องใครหรือถูกฟ้อง ไม่ว่าศาลไหนไม่เคยแพ้ 

อย่าว่าแต่ระดับ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่ไฟเขียวให้ ซีพี ควบรวมกับเทสโก้โลตัสเมื่อปลายปี 2563 ทำให้มีอำนาจเหนือตลาดค้าปลีกแบบเบ็ดเสร็จ แต่ กขค. กลับเห็นว่า **‘ไม่ใช่การผูกขาด’**ไม่ทำให้การแข่งขันลดลงเสียอีก

ในทางกฎหมายต้องตีความว่า การกระทำของเซเว่น จะเข้าข่ายการนำข้อมูลหรือความลับทางการค้าของคู่ค้าเพื่อผลิตสินค้าของตัวเองมาวางขายแข่งหรือไม่

ในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม การมีบรรษัทภิบาลที่ดี ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ต้องตีความ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์