เงินบาทแข็งดีต่อประชาชน ‘พ่อค้า ผู้ส่งออก’ไม่ชอบ

25 ก.ย. 2567 - 09:52

  • เมื่อรัฐบาลไม่ชอบหน้า แบงก์ชาติอยู่เฉย ๆ ก็ผิด

  • ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นช่วงหลัง ก็มีเสียงให้แบงก์ชาติรับผิดชอบ

  • ย้อนกลับไปค่าเงินบาทอ่อนแล้วได้ประโยชน์ไม่มีใครร้อง

economic-business-thai-export-port-freight-money-SPACEBAR-Hero.jpg

เงินบาทแข็งค่าขึ้นทีไร ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ แบงก์ชาติตกเป็นจำเลย  ถูกนักการเมือง พ่อค้าส่งออก  ผู้อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว และสื่อบางรายตำหนิว่า เป็นต้นเหตุให้บาทแข็ง เพราะไม่ยอมลดดอกเบี้ย และไม่ทำอะไรเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนลงมา

แต่เวลา ‘บาทอ่อนค่า’ เหมือนเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา ไม่มีใครออกมาตำหนิแบงก์ชาติเลย เพราะว่าพ่อค้า ผู้ส่งออกได้ประโยชน์จากราคาขายเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์ที่ถูกลง ทำให้ขายสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และสินค้าที่แข่งกันด้วยราคา   ค่าแรงถูก ค่าเงินอ่อน 

เวลารวยก็รวยเงียบ ๆ ไม่แบ่งใคร  แต่พอขาดทุนกำไร เพราะบาทแข็ง ก็โวยวายดังลั่นว่า รัฐบาล หรือแบงก์ชาติ ไม่ยอมเข้ามาช่วยเหลือ วนเวียนซ้ำซากแบบนี้ ทุกครั้งที่เกิดค่าเงินบาทแข็ง

อีกด้านหนึ่งของค่าบาทแข็ง คือประชาชนที่ต้องบริโภคสินค้าที่นำเข้า  จะได้ประโยชน์ เพราะต้นทุนการนำส่วนที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินลดลง โดยเฉพาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ หรือคนไทยที่ไปเที่ยวต่างประเทศ  คนที่มีลูกหลานเรียนอยู่ต่างประเทศ ค่าเที่ยว ค่าเทอม จะถูกลง 

เปรียบเทียบบาทอ่อนกับบาทแข็ง บาทอ่อนผู้ส่งออกได้ประโยชน์  บาทแข็งประชาชนทั่วไปได้ประโยชน์ แต่ ‘เสียงของนักธุรกิจดังกว่า’ มีคนฟังมากกว่าเสียงของประชาชนอยู่แล้ว 

ตั้งแต่ต้นปีนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ จนทะลุ 37 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์เมื่อปลายเดือนเมษายน และมาปรับตัวทะลุ 34 บาท เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา   หลังจากนั้นก็แข็งค่าขึ้นมาเรื่อย ๆ ล่าสุดคือ 32.60 บาท ต่อดอลลาร์

การแข็งค่าของเงินบาท เกิดจากดอลลาร์อ่อนค่าลง  ดอลลาร์อ่อนค่า เพราะธนาคารกลางของสหรัฐหรือเฟด ส่งสัญญาณว่าจะลดดอกเบี้ยลง และลดจริงๆ ถึง 0.5 เปอร์เซ็นต์  เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา เป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี และคาดดาดว่า  ก่อนสิ้นปีจะลดอีก 2 ครั้ง

น้ำไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ เงินไหลสวนทางจากที่ให้ดอกเบี้ยต่ำไปที่ให้ดอกเบี้ยสูง เมื่อสหรัฐฯลดดอกเบี้ยลง  เงินที่เคยไหลไปรวมอยู่นั้น ตลอดเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็มองหาที่ใหม่ ๆ ที่จะไหลไปหาผลตอบแทน ประเทศไทยเป็นเป้าหมายหนึ่ง ที่มีเงินลงทุนจากสหรัฐ เข้ามาหาผลตอบแทนจากตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ทำให้มีความต้องการเงินบาทสูง  จึงทำให้เงินบาทแข็งค่า 

แรงกดดันจากองค์กรที่เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของนักธุรกิจ  ที่ต้องการให้แบงก์ชาติเข้ามาดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งเกินไป คืออยากให้แบงก์ชาติ ‘ลดดอกเบี้ย’ เพื่อชะลอ การไหลของเงินทุนต่างชาติเข้ามาหาผลตอบแทนในประเทศไทย ซึ่งอดีตนายกเศรษฐา ทวีสิน และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พยายามกดดันบงก์ชาติในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่สำเร็จ

มาสบโอกาสที่ค่าเงินบาทแข็ง จากการที่เฟดลดดอกเบี้ย และหลายๆประเทศเช่น อียู จีน ประเทศในอาเซียนเองคือ อินโดนีเซีย ลดดอกเบี้ยลงมา ใช้ข้ออ้างเรื่อง บาทแข็ง มากดดันให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยลง

ค่าเงินบาทนั้น แข็งแล้วก็อ่อน อ่อนแล้วกลับมาแข็ง เป็นไปตามเหตุปัจจัย ในบริบทของการเงินโลก อยู่ ‘นอกเหนือการควบคุม’ ของเรา ถ้าทุกครั้งที่เงินบาทแข็งหรืออ่อน แบงก์ชาติต้องลดหรือขึ้นดอกเบี้ยตาม ระบบเศรษฐกิจคงปั่นป่วนน่าดู  

ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมีทั้งคนเสียประโยชน์และคนได้ประโยชน์ คนเสียประโยชน์คือ ผู้ส่งออก คนได้คือประชาชนผู้บริโภค  

ตั้งแต่ประเทศไทยเลิกใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่  หันมาใช้แบบ ‘ลอยตัว’เมื่อ27 ปีก่อน หน่วยงานรัฐ นักวิชาการ เตือนมาตลอดว่าผู้ส่งออกต้อง‘ปรับตัว’  สร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยคุณภาพ นวัตกรรม หาตลาดส่งออกใหม่ ๆ เลิกพึ่งพาแรงงานราคาถูก ค่าเงินอ่อน ในการแข่งขันได้แล้ว 

ดูเหมือนว่า คำเตือนนี้จะไม่มีใครใยดี  เงินบาทแข็งค่าทีไร จึงมีแต่เสียงขอความช่วยเหลือดังมาจากผู้ส่งออกทุกที

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์