โผประวัติศาสตร์ ทร. แหวกสงครามโคลนดัน ‘บิ๊กแมว’ ขึ้นแท่น

24 ก.ย. 2567 - 07:44

  • เจาะลึกเหตุผลที่ทำให้ ’บิ๊กดุง’ กล้าแหวกทั้งม่านประเพณีและฝ่าม่านสงครามโคลน ดัน พล.ร.อ.จิรพลขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพเรือคนใหม่

  • ในอดีตมี ผบ.ทร.ที่จบโรงเรียนนายเรือจากต่างประเทศ ขึ้นเป็น ผบ.ทร.มาแล้ว!…คุณรู้หรือไม่?

  • ’บิ๊กดุง’ วางไลน์ตำแหน่งคนที่ไม่ใช่ ก็ต้องย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และเปิดทางส่งต่อรุ่นน้องในหลายตำแหน่งสำคัญ

economic-business-thai-navy-SPACEBAR-Hero.jpg

ยังคงมีควันหลง สำหรับบัญชีโยกย้ายนายทหารของกองทัพเรือ2567 ปีนี้เป็นการโยกย้ายครั้งใหญ่ และเป็นโผที่มีการพูดถึงมากที่สุด โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือคนปัจจุบัน ยืนกรานกระต่ายขาเดียว ด้วยการเสนอชื่อ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ เพื่อน ตท.23 ขึ้นเป็น 'ผบ.ทร.' คนใหม่เพียงชื่อเดียว 

ล่าสุดยังมีข้อความทางโซเชียลมีเดีย ที่มีการแชร์กัน ทั้งโพสต์ของ เสธฯน้อย ตท.24 พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ และมีการเผยแพร่ข้อความทางแอปพลิเคชันไลน์ ที่มีเนื้อหาโจมตี พล.ร.อ.อะดุง อย่างรุนแรง

เสธฯ น้อย ซึ่งเป็นหนึ่งในแคนดิเดตจนนาทีสุดท้าย ก่อนมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ โพสต์ถึง 2 ครั้งในประเด็น สิงโตกับหมาบ้า และสิงโตสอนลูก

และการเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ได้เกิดขึ้นหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯโผทหารเท่านั้น แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์สุดท้าย ก่อนจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยังเป็นช่วงที่เกิดสงครามข่าวสาร และสงครามการวิ่งเต้นล็อบบี้กันอย่างหนัก 

ประเด็นจุดอ่อนของ บิ๊กแมว พล.ร.อ.จิรพล ถูกงัดออกมาโจมตีตามหน้าสื่อและพื้นที่โซเชียลมีเดีย ทั้งเรื่องคุณสมบัติที่ไม่ได้จบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือในประเทศ

ประเด็นเส้นทางการรับราชการที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ได้โตมาในสายงานบังคับบัญชาหลัก 

ประเด็นปัญหาครอบครัวของ พล.ร.อ.จิรพล ที่มีเรื่องร้องเรียน

ทุกประเด็นถูกเรียบเรียงแจกผ่านช่องทางสื่อ แบบมีกระบวนการ ทั้งเนื้อหาที่พิมพ์แทบจะเป็นเนื้อเดียวกันทุกตัวอักษร และจังหวะจะโคนที่ทยอยส่งออกไปยังสื่อแต่ละสำนัก

แอปพลิเคชันไลน์ ถูกใช้เป็นช่องทางหลักในการแชร์ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับ พล.ร.อ.จิรพล ไปยังทุกกลุ่ม เพื่อให้เห็นถึงน้ำหนักว่า สื่อส่วนใหญ่นำเสนอข่าวในประเด็นนี้ ที่อาจส่งผลเสียต่อกองทัพเรือ หากมีการแต่งตั้ง พล.ร.อ.จิรพล เป็น ผบ.ทร.คนใหม่ เพราะไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

ยิ่งใกล้วันประชุมสภากลาโหม ก่อนที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะลงนาม เพื่อทูลเกล้าฯโผโยกย้าย สัปดาห์สุดท้ายทั้งสัปดาห์ ประเด็นทั้งหมดยิ่งถูกโหมออกทุกช่องทาง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนรายชื่อจาก พล.ร.อ.จิรพล เป็นแคนดิเดตรายอื่น 

เวลานั้นทุกฝ่ายรู้แล้วว่า แม้ฝ่ายการเมือง และผู้ใหญ่ที่เป็นอดีตผู้บังคับบัญชา จะขอให้พล.ร.อ.อะดุง เสนอชื่อ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ทร. ขึ้นเป็น ผบ.ทร. ตามข้อตกลงที่ผู้ใหญ่เคยคุยกันไว้ 

แต่ พล.ร.อ.อะดุง ก็ยืนยันที่จะกราบผู้ใหญ่ทุกคนขอปฏิเสธ โดยใช้เวลาที่จะอธิบายทุกสายที่โทรศัพท์สายตรงเข้าไปหา หรือแม้แต่การเข้าพบผู้ใหญ่ทุกท่านที่ให้ความเคารพ เพื่อชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถเสนอรายชื่อ พล.ร.อ.สุวิน ได้ 

สถานการณ์เวลานั้น จึงเป็นช่วงที่รายชื่อตาอยู่ ถูกโยนออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะรายชื่อ ตท. 24 ทั้ง พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ และ พล.ร.อ.สุภพัต ยุทธวงศ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหมแม้กระทั่ง รายชื่อ พล.ร.อ.ชลทิศ นาวานุเคราะห์ เพื่อน ตท.23 ของ พล.ร.อะดุง ก็ถูกโยนลงมาเป็นตาอยู่ด้วย 

ทั้งที่สัปดาห์นั้น ผู้ช่วยโอ๋ พล.ร.อ.ชลทิศ รู้ชัดเจนแล้วว่า ตัวเองจะถูกขยับขึ้นเป็น 'รองผบ.ทร.' ในอัตราพลเรือเอกพิเศษ และ เพื่อนแมว ยังคงเป็นเพียงรายชื่อเดียวที่อยู่ในโผ ผบ.ทร. ตั้งแต่ต้นจนจบ

ส่วน บิ๊กเต๊ะ พล.ร.อ.สุภพัต ก็รู้ดีว่า ตัวเองไม่ได้อยู่ในแคนดิเดตตั้งแต่ต้น…

แต่สงครามข่าว สงครามโคลนก็ยังถูกสาดเข้าใส่ พล.ร.อ.จิรพล เป็นระยะ ๆ 

กระทั่งคืนวันโปรดเกล้าฯบัญชีแต่งตั้งนายทหารระดับนายพล ถูกประกาศออกมา พล.ร.อ.จิรพล ก็ยังคงอยู่ในสงครามโคลนตลอดทั้งคืน 

ประเด็นทั้งหมด มีไม่กี่คนที่รู้ว่า ถึงจะมีความพยายามโหมข้อมูลผ่านสื่อออกไปแค่ไหน ก็ไม่ระคายเหตุผลที่ พล.ร.อ.อะดุง ใช้อธิบายต่อผู้ใหญ่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะสามารถชี้แจงได้ทั้งกรณีม่านประเพณี เส้นทางรับราชการ และเรื่องส่วนตัวของครอบครัว บิ๊กแมว

ม่านประเพณีที่มีการระบุต่อเนื่องกันมาว่า ผู้จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทร. จะต้องจบโรงเรียนนายเรือเท่านั้น และที่ผ่านมา ไม่เคยมี **ผบ.ทร.**คนใด จบโรงเรียนนายเรือจากต่างประเทศนั้น มีข้อมูลทำเนียบรายชื่อ ผบ.ทร. ระบุชัดว่า นับจากก่อตั้งโรงเรียนนายเรือเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ร.ศ. 125 หรือ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2450 จนถึงปัจจุบันนั้น หากไม่นับพระนาม ผบ.ทร.ซึ่งเป็นพระบรมวงศ์ ที่ส่วนใหญ่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือต่างประเทศแล้ว ยังมี ผบ.ทร.อย่างน้อยถึง 2 ราย ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือต่างประเทศเช่นกัน 

ผบ.ทร.ท่านแรก ซึ่งเป็นสามัญชนและจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือต่างประเทศ คือ นายพลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย(สินธุ์ กมลนาวิน) ซึ่งได้รับทุนนักเรียนหลวงไปจบการศึกษาจากโรงเรียนการทหารเรือประเทศเดนมาร์ก หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยใช้เวลาเล่าเรียนถึง 10 ปี 

ผบ.ทร.ท่านที่สอง ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือต่างประเทศ คือ พลเรือตรีวิจารณ์จักรกิจ (บุญรอด สวาทะสุข) โดยจบการศึกษาจากโรงเรียนทหารเรือญี่ปุ่น หลังเข้าศึกษาในโรงเรียนนายเรือ และได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 7 นักเรียนนายเรือจากกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ให้ไปศึกษาวิชาการทหารเรือที่ประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งนั่นหมายถึง ประเพณี ผบ.ทร.จะต้องจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือเท่านั้น เป็นเพียงเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสกัดกั้นคู่แข่ง ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ ไม่ได้เป็นประเพณีที่ดำเนินตามกันมา

ส่วนข้อกล่าวหาเส้นทางการนับราชการ ที่ พล.ร.อ.จิรพล ไม่ผ่านตำแหน่งหลักของกองทัพเรือนั้น การเป็น ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ที่เปรียบเสมือนเรือหลักในสมัยนั้น ซึ่งอดีต ผบ.ทร.หลายนาย ผ่านการเป็นผู้บังคับการมาแล้ว หรือการเป็นผู้บัญชาการกองเรือยามฝั่ง คนกองทัพเรือเองก็รู้ว่า เป็นสายงานหลักของ ชาวพรรคกลิน ที่มีบ่าดำ และเพียงพอที่จะเรียนรู้การบังคับการเรือ และสายงานบังคับบัญชาในกองทัพเรือเป็นอย่างดี 

การเติบโตต่อจากนั้น มีเรื่องที่เล่าไม่ได้อีกหลายเรื่องว่าทำไม พล.ร.อ.จิรพล ที่เป็นหัวกะทิของกองทัพเรือ ถูกเตะออกนอกไลน์กองเรือยุทธการ และในข่าวที่ออกมาโจมตี พล.ร.อ.จิรพล ไม่ได้กล่าวถึง 

ขณะที่ประเด็นครอบครัว ที่มีการร้องเรียน ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ที่เจ้าตัวเคลียร์จบไปนานแล้ว 

ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ พล.ร.อ.อะดุง อธิบายได้ว่าทำไมถึงยืนที่จะเสนอชื่อ บิ๊กแมว นอกเหนือคุณสมบัติการทำงานที่เฝ้ามองมาตลอดเกือบปีที่ผ่านมา

พล.ร.อ.อะดุง บอกว่า เขาทั้งโชคร้ายและโชคดี ที่ครั้งหนึ่ง เคยได้รับมรสุมการแต่งตั้งโยกย้าย จนเป็นพลเรือตรีถึง 5 ปี เพราะได้เห็นหลายคน ทั้งในช่วงเวลาขาลง และช่วงเวลาขาขึ้น ใครเสมอต้นเสมอปลาย ใครทำอะไร ไม่ทำอะไร เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจง่าย สำหรับจะเลือกใครสักคนขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพเรือ เพราะคนๆนั้น จะต้องเสมอต้นเสมอปลาย ทั้งกับกองทัพและผู้ใต้บังคับบัญชา 

ซึ่งนั่นคือ เหตุผลที่ทำให้กล้าแหวกทั้งม่านประเพณีและฝ่าม่านสงครามโคลน ดัน พล.ร.อ.จิรพล ขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพเรือคนใหม่ เพราะมั่นใจว่า บิ๊กแมว จะเป็นผู้นำที่ดีของกองทัพ 

ส่วนสงครามโซเชี่ยลมีเดียทั้งก่อนทราบผล และหลังทราบผลการแต่งตั้งโยกย้าย ที่ยังมีควันหลงเป็นระยะ ๆ พล.ร.อ.อะดุง บอกคนใกล้ชิดว่า จะอธิบายกับคนที่ควรอธิบาย และเชื่อว่าตอบได้ทุกคำถามและเชื่อว่า เรื่องทั้งหมดจะค่อย ๆ เงียบลงไปเอง 

แต่การคาดการณ์ของ บิ๊กดุง ดูเหมือน น่าจะยังจบยาก และเป็นการบ้านข้อใหญ่ของ พล.ร.อ.จิรพล ที่จะต้องยุติความขัดแย้ง และลดไฟที่กำลังสุมขอนและก่อหวอดในกองทัพเรือให้ได้ 

เพราะการโยกย้ายรอบนี้ ซึ่งมีการจัดระเบียบกองทัพใหม่ และมีการจัดวางตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง รวมทั้งการดึงขุมกำลังของ ตท.24 บางกลุ่มออกจากเส้นทางอำนาจ เหลือเพียง ตท. 24 ที่ พล.ร.อ.อะดุง มั่นใจในการทำงาน เป็นจุดหักเหกับกลุ่มที่ถูกปรับย้ายอย่างรุนแรง 

โผนี้ “บิ๊กดุง” จัดวาง 5 ฉลาม ทร.ไว้ค่อนข้างหลากหลาย…

นอกจากขยับ เสธฯน้อย ตท.24 ขึ้น พล.ร.อ.พิเศษในตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ และขยับ เพื่อนโอ๋ พล.ร.อ.ชลทิศ นาวานุเคราะห์ เป็นพล.ร.อ.พิเศษ ตำแหน่ง รองผบ.ทร. แล้ว 

ยังดึง ตท.24 อีกคน คือ พล.ร.ท.ไพโรจน์ เฟื่องจันทร์ รองเสนาธิการเรือ ขึ้นเป็นเสนาธิการทหารเรือ

ขยับรุ่นน้อง ตท.25 อีก 3 คน คือ พล.ร.ท.พิจิตต ศรีรุ่งเรือง ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ

พล.ร.ท.ณัฏฐพล เดี่ยววานิช เจ้ากรมข่าวทหารเรือ เป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ 

พล.ร.ท.สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวช ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ขึ้นเป็นที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือในตำแหน่งของ บิ๊กแมว พล.ร.อ.จิรพล ว่าที่ผบ.ทร.คนปัจจุบัน  

เพื่อให้ทั้ง 4 คน คือ พล.ร.ท.ไพโรจน์ ,พล.ร.ท.พิจิตต ,พล.ร.ท.ณัฏฐพล ที่เกษียณปี 2569 และพล.ร.ท.สุชาติ ที่เกษียณปี 2570 เป็นแคนดิเดทผบ.ทร.ในปีถัดไป 

ส่วนในระนาบรองเสนาธิการทหารเรือ ที่เป็นตำแหน่งซึ่งมีโอกาสจะขยับเข้าไลน์ 5 ฉลามนั้น รอบนี้ บิ๊กดุงเคลียร์ทางรองเสธฯทั้งหมด เพื่อวาง ตท.27 เข้ามาในระนาบนี้ทั้ง 4 ตำแหน่ง คือ 

พล.ร.ท.ธาดา ทัดพิทักษ์กุล(ตท.27) หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองเสนาธิการเรือ

พล.ร.ต.วีรุดม  ม่วงจีน(ตท.27) เลขานุการกองทัพเรือ เป็นรองเสนาธิการทหารเรือ

พล.ร.ต.เฉลิมชัย  สวนแก้ว(ตท.27) ผู้บัญชาการกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ เป็นรองเสนาธิการทหารเรือ

พล.ร.ต.อนุรัตน์  ศิริวงศ์(ตท.27) ผู้อำนวยการจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ เป็นรองเสนาธิการทหารเรือ 

และยังขยับ พล.ร.ต.วิชาญ วันทนียกุล(ตท.27) จากผู้อำนวยการสำนักส่งกำลังบำรุง กรมส่งกำลังบำรุง เป็นเจ้ากรมช่างโยธาทหารเรือ กรมหลักของกองทัพเรืออีกกรมหนึ่ง

ส่วนระนาบคุมกำลัง บิ๊กดุง วาง ตท.26 ลงไปทั้งแผงเช่นกัน 

โดยวาง พล.ร.ท.อาภา ชพานนท์ (ตท.26) เสนาธิการกองเรือยุทธการ เป็นผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1

พล.ร.ท.นเรศ วงศ์ตระกูล (ตท.26) รองเสนาธิการทหารเรือ เป็นผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 

พล.ร.ท.สุวัจ  ดอนสกุล (ตท.26) เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ เป็นผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 

พล.ร.ต.อภิชาติ  ทรัพย์ประเสริฐ (ตท.26) รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

พล.ร.ต.บริบูรณ์ เอมทิพย์ (ตท.26) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ เป็นผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ

ส่วนตำแหน่งสำคัญของ ตท.24 นั้น พล.ร.อ.อะดุง ขยับ พล.ร.ท.ชยุต นาเวศภูติกร แกนนำอีกคนของ ตท.24 ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือใหญ่สุด และเป็นอัตรา พล.ร.ท.ไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ ทั้งที่ก่อนนี้ พล.ร.ท.ชยุต คาดหวังจะเป็นผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบอีกหนึ่งปี 

โดยดึง พล.ร.ท.วัชระ พัฒนรัฐ (ตท.25) จากเจ้ากรมสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ มาเป็นผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ คุมกล่องดวงใจสำคัญของกองทัพเรือแทน 

การปรับย้ายรอบนี้ จึงไม่แปลกที่สงครามโซเชี่ยลมีเดียจะยังกระหึ่ม และมีแนวโน้มจะขยายวงออกไปอีก เพราะผลกระทบรอบนี้ คนในกองทัพเรือบอกว่า เป็นน้องๆสึนามิจริง ๆ 

EP.หน้ามาลงรายละเอียดการปรับย้าย กองทัพบก กันอีกรอบ!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์