ดัชนีหุ้นไทยพลิกกลับสู่ความคึกคัก โดยสามารถปิดรับวันแรกของครึ่งปีหลัง 1 กรกฎาคม 2568 ได้ที่ 1,110.01 จุด บวกเพิ่มขึ้นถึง 20.45 จุด โดยมีมูลค่าซื้อขายราว 4.17 หมื่นล้านบาท และในวันต่อมาก็ยังปิดบวกได้อีก 5.68 จุด โดยสามารถปิดได้ที่ระดับ 1,115.69 จุด
ปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้น ‘พลิกฟื้น’ ขึ้นมาอย่างร้อนแรง ไม่มีคำอธิบายอื่นนอกจากสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมานักลงทุนส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการปัญหาการเมือง และความไร้ฝีมือในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย
โดยเฉพาะในยุคของ นายกฯ ‘อิ๊งค์’ ที่ไม่มีผลงานในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนัก และไม่มีมาตรการที่จะเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับมา จนมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า
หากรัฐบาลยังคงอยู่ต่อไป อาจจะทำให้เศรษฐกิจจะทรุดหนัก และตลาดหุ้นไม่มีโอกาสฟื้น
การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศ จึงกลายเป็น ‘ความหวัง’ ว่าอาจจะทำให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้น ภายใต้ความหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ถึงแม้จะมีกลิ่นอายของ รัฐบาลต่างตอบแทนแบบเต็ม ‘คาราเบล’
แต่ก็คงต้องพยายามที่จะเร่งสร้างผลงานผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หวังผลได้บ้าง เพราะอยู่ในช่วงนับถอยหลังไปสู่การยุบสภา ทำให้สามารถเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับคืนมาได้บ้าง
คงต้องยอมรับว่า ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้น ‘ตกต่ำ’ ลงมาอย่างต่อเนื่องจนน่าตกใจ จนบรรดานักลงทุนส่วนใหญ่พากันถอดใจเพราะมองไม่เห็นอนาคต
สะท้อนให้เห็นชัดในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ที่ผลตอบแทนของ SET Index ‘ติดลบ’ ถึง 22.70% เลวร้ายที่สุดในรอบ 25 ปี !!!
ครั้งสุดท้ายที่ตลาดหุ้นไทย ทำผลตอบแทนติดลบรุนแรงในครึ่งปีแรกแบบนี้ เกิดขึ้นในปี 2543 โดยในปีนั้นตลาดหุ้นไทยเปิดปีที่ 481.92 จุด และปิดตลาดในเดือนมิถุนายนที่ 325.69 จุด คิดเป็นผลตอบแทน -32.42% เนื่องจากโดนผลกระทบจาก‘วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ดอตคอม’
ผลตอบแทนที่เลวร้ายไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่น ๆ กลับ‘สวนทาง’ กับหลาย ๆ ตลาด ส่งผลให้ SET Index มีผลงานต่ำสุดเมื่อเทียบกับ 46 ดัชนีหลักทั่วโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีอื่นๆ เช่น
S&P 500 + 5.13%
Hang Seng +20%
Nikkei 225 +1.49%
MSCI World ทำผลตอบแทนครึ่งปีแรกได้อยู่ที่ 8.32%
เพราะผลตอบแทนที่เลวร้ายทำให้ เม็ดเงินจากต่างชาติยังคง ‘ไหลออก’ จากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Foreign Fund Flow) ยังอยู่ในทิศทางขายออกอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 เปิดเผยว่า นักลงทุนต่างชาติได้ ‘เทขายสุทธิ’ หุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปีเป็นมูลค่า -78,692.76 ล้านบาท โดยแนวโน้มการไหลออกของเงินลงทุนในปี 2568 ต่อเนื่องจาก ปี 2566 และ 2567 ก่อนที่ปี 2568 จะเริ่มต้นขึ้น ยอดขายสุทธิสะสมในช่วง 2 ปีก่อนรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท
จากสถิติในครึ่งปีแรกของปี 2567 มียอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ -115,983.43 ล้านบาท และครึ่งปีแรกของปี 2566 ยอดขายสุทธิอยู่ที่ -105,622.97 ล้านบาท
เม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่เหือดแห้งไป ส่งผลให้ ‘สภาพคล่อง’ หรือ ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยในแต่ละวันเบาบางต่ำสุดในรอบ 5 ปี
โดยในครึ่งปีแรกของปี 2568 ตลาดหุ้นไทยได้เข้าสู่ภาวะซบเซา มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของทั้ง SET และ mai ในช่วง 5 เดือนแรกของปี อยู่ที่ 42,272 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีก่อนหน้า
หากพิจารณาเทียบจากปีก่อนๆจะพบว่า จากที่ปริมาณการซื้อขายที่เคย ‘คึกคัก’ ระดับเกือบวันละแสนล้านบาท ในปี 2564 คือ มี โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยสูงถึง 98,330 ล้านบาทต่อวัน ก็ค่อย ๆ หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ช่วงครึ่งปีแรกปี 2565 มูลค่าการซื้อขายลดลงเหลือเฉลี่ยวันละ 83,960 ล้านบาท ต่อมาในปี 2566 หดตัวลงอีกเหลือเพียงวันละ 58,677 ล้านบาท และเมื่อปีที่แล้ว 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 45,240 ล้านบาท
ไม่เพียงนักลงทุนต่างชาติที่ ‘ถอยออก’ ไปจากตลาดไทย แม้แต่นักลงทุนไทยเองก็เกิดอาการ ‘เข็ดขยาด’ ถอนตัวออกจากตลาดไปกันจนเหลือเพียงน้อยนิด
จำนวนบัญชี Active รายเดือน ของนักลงทุนรายย่อยลดลงสู่จุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า จำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีการใช้งาน (Active Accounts) ในแต่ละเดือน ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2568 มีจำนวนบัญชีที่ยังคงซื้อขายอยู่ที่ 369,836 บัญชี เทียบกับระยะเดียวกันของ 5 ปีก่อนหน้า
ตัวเลขที่น่าตกใจคือ จากปี 2564 ที่มีบัญชี Active Account จำนวน 842,393 บัญชี ค่อยๆสาละวันเตี้ยลง ลดลงมาเหลือ 632,118 บัญชี ลดลง 24.96% ในปี 2565 และลดลงอีกเหลือ 493,427 บัญชี ลดลง 21.94% ในปี 2566 และในปีที่แล้ว 2567 ลดลงเหลือ 455,495 บัญชี ลดลง 7.69% จนมาถึงนี้เหลือเพียง 369,836 บัญชี ลดลงอีก 18.79%
จากสถิติทั้งหมดสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ผ่านพ้นมาครึ่งปี 2568 ตลาดหุ้นไทยยังตกอยู่ใน‘ก้นเหว’ ทั้งทิศทางของดัชนี การไหลเข้าของเงินทุน ปริมาณการซื้อขาย รวมไปถึงจำนวนนักลงทุน ที่มีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
จนเกิดคำถามว่า จุดสิ้นสุดของความตกต่ำในตลาดหุ้นไทยที่เพิ่งเฉลิมฉลอง 50 ปีกำลังจะผ่านพ้นไป หรือยังมีโอกาสที่อาจจะเลวร้ายลงไปมากกว่านี้อีก ดูเหมือนคำตอบยังล่องลอยอยู่ในสายลม…