มาถึงนาทีนี้ อาณาจักร ‘ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป’ ของ นพ.บุญ วนาสิน ที่โลดโผนโจนทะยานอยู่ในธุรกิจโรงพยาบาลมาเกือบ 50 ทศวรรษ เดินทางมาถึงใกล้ถึงจุด ‘ล่มสลาย’ เข้าไปทุกที หลังจาก ‘ขุดหลุมฝังตัวเอง’ มาจนยากที่จะพลิกเกมกลับมา จนถึงขนาดมีความลือสะพัดว่ามีหนี้ท่วมถึงเกือบหมื่นล้านบาท และกำลังจะมีคดีความตามมา จนแบบเร้นกายไปตั้งหลักที่เมืองนอกแล้ว
คนที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้คือ ‘ยามใหญ่’ สนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดคงไม่มีน้ำหนัก หากข้อมูลความไม่ชอบมาพากลทั้งหมดไม่ได้มาจากปากของอดีตสะใภ้ของ ‘หมอบุญ’ ที่ระบุว่าถูกปลอมลายเซ็นในหนังสือค้ำประกันเงินกู้ คิดเป็นมูลหนี้ที่ถูกทวงถาม และมีหมายเรียก รวมทั้งหมายศาล รวมกันเป็นมูลค่ากว่า 8พันล้านบาท
ณวรา กุญชร ณ อยุทธยา อดีตสะใภ้ของ หมอบุญ ที่หย่าร้างกับ จอน วนาสิน ตั้งแต้เดือนกันยายนปีที่แล้ว เปิดเผยว่า ถูกปลอมลายเซ็นในการเอกสารเรื่องหุ้น สัญญาค้ำประกันเงินกู้ และสัญญาต่าง ๆเป็นจำนวนมาก โดยตัวเองไม่ทราบเรื่องมาก่อน
เพราะในชีวิตไม่เคยลงนามในสัญญาใด ๆ ทั้งสิ้น และพร้อมที่จะมีการพิสูจน์ลายเซ็นเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์
ยามใหญ่ ‘สนธิ’ ถึงขนาดระบุว่า ตอนนี้ ‘หมอบุญ’ ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย โดยเชื่อว่าเดินทางออกไปต่างประเทศแล้วระยะหนึ่ง เนื่องจากไม่มีเงินและสภาพคล่องมากพอที่จะชำระหนี้ที่มีปัญหานับหมื่นล้านบาท
ก่อนหน้านี้ เริ่มมีสัญญาณบอกเหตุตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนปีนี้ เมื่อ ‘หมอบุญ’ มีชื่อเข้าไปเกี่ยวพันกับ ‘ปมร้อน’ ในธุรกรรมทางการเงินของบริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG ที่ตัวเองก่อตั้งและบุกเบิกมาเมื่อ 46 ปีที่แล้ว จนกลายเป็นหนึ่งกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลรายใหญ่ของไทย
คณะกรรรมการตรวจสอบของ THG ตรวจพบและมีหนังสือแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าพบธุรกรรมทางการเงินที่ชวนสงสัยของบริษัทย่อย 2 แห่ง คือ บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด THB ซึ่งบริษัทถือหุ้น 81.03% และบริษัท ทีเอช เฮลท์ จำกัด THH ซึ่งบริษัทถือหุ้น 51.22% มีการทำรายการอันควรสงสัย โดยมีการให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด หรือ RTD ซึ่งเป็นบริษัทที่มี ‘กลุ่มครอบครัววนาสิน’ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เมื่อในปี 2565-2566 จำนวน 6 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวม 145 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด TMG ซึ่ง RTD เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 36.10% เมื่อปี 2566 จำนวนเงินรวม 10 ล้านบาท
ยิ่งไปกว่านั้นยังตรวจสอบพบว่า THH มีการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริง ในปี 2566 จำนวนเงินรวม 55 ล้านบาท
การเข้าทำรายการอันควรสงสัยทั้งหมดดำเนินการโดยฝ่ายบริหารบางส่วนของบริษัทย่อย ซึ่งเป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศเรื่องรายการที่เกี่ยวโยงกันของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยปัจจุบันมียอดหนี้คงค้างของรายการอันควรสงสัยประมาณ 105 ล้านบาท
ถึงแม้หมอบุญจะเป็นเพียงอดีตประธานกรรมการบริษัท ซึ่งไม่ได้มีบทบาทในบริษัทแล้ว แต่ภรรยาของหมอบุญ ‘จารุวรรณ วนาสิน’ ก็นั่งอยู่ในตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท แต่เพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบก็จำยอมขอลาออก และมีการแต่งตั้งหมอเอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ จากกลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหงมานั่งในตำแหน่งแทน
การเข้ามาถือหุ้นในกลุ่มธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ของกลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง RAM เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงต้นเดือนกันยายนปี 2562 โดยหมอบุญสร้างความฮือฮาให้กับวงการธุรกิจโรงพยาบาล เมื่อบรรลุข้อตกลงในการร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับกลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง RAM ของหมอเอื้อชาติ โดยปัจจุบัน RAM มีหุ้นอยู่ใน THG ราว 24.59% และส่งทีมเข้ามาร่วมบริหาร THG หลังจากหมอบุญต้องถอยออกไปเนื่องจากถูก กลต.ลงโทษ
ทั้งนี้ปัจจุบัน THG ประกอบกิจการแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งมีโรงพยาบาลภายในประเทศที่เปิดดำเนินการแล้ว 6 แห่ง (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 แห่ง) ต่างประเทศ 2 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลเครือข่ายรวม 18 แห่งทั่วประเทศ ธุรกิจบริบาลผู้สูงอายุและเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจอื่น ๆ ในส่วนของ RAM มีโรงพยาบาลในเครือ 10 แห่งทั่วประเทศ
ปมร้อนเกี่ยวกับธุรกรรมท่างการเงินที่เกิดขึ้น ทำให้มีคำถามว่า มีเรื่องราวสลับซับซ้อนอะไรที่ ‘ซุกอยู่ใต้พรม’ หรือไม่ ซึ่งคาดว่าอาจจะมาจากปัญหาหนี้สินส่วนตัวและหนี้ที่เกี่ยวพันกับ THG ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นประธานคณะกรรมการบริษัท เนื่องจากมีการลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ ถึง 2 โครงการ ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
โครงการลงทุนในโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่มีมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท และโครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ (ที่พักอาศัยวัยเกษียณ) ที่ใช้เงินลงทุนกว่า 4.5 พันล้านบาท บนพื้นที่กว่า 140 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน รังสิต อ.คลองหลวง ปทุมธานี
ทั้งสองโครงการทำให้หมอบุญค่อนข้างจะมีปัญหาเนื่องจากใช้เงินส่วนตัว และเอาที่ดินและทรัพย์สินส่วนตัวที่มีอยู่ไปจำนอง เพื่อกู้เงินออกมาเพื่อใช้ลงทุน แต่โครงการไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่วาดฝันไว้ ทั้งลูกค้าจากต่างประเทศและกลุ่มคนรายได้สูงในประเทศ เนื่องจากยอดขายห้องชุดในโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
มีกระแสข่าวในแวดวงนักลงทุนในตลาดหุ้น และคนในแวดวงการเงิน ระบุว่าในระยะแรกเมื่อขาดสถาพคล่อง หมอบุญ ยังพยายามอาศัยชื่อและเครดิตของตัวเองในการทำสัญญากู้เงินระยะสั้นจากในตลาด โดยยอมเสียอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง และเมื่อมีมูลหนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องยอมนำหุ้นมาค้ำประกัน แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้นกลับทรุดลงเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องใช้ชื่อคนอื่นมาค้ำประกันเงินกู้ จนถึงขั้นให้มีการปลอมลายเซ็นอดีตสะใภ้เพื่อใช้ในการค้ำประกันเงินกู้
ก่อนหน้านี้คนทั่วไปอาจจะไม่มีใครรู้จักชื่อของ ‘หมอบุญ’ มากนัก แต่เขากลายเป็นที่รู้จักในช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เมื่อพยายามผลักดันให้มีการนำวัคซีนแบบ mRNA มาใช้แทนวัคซีนแบบเชื้อตาย โดยพยายามที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลนำเข้ามาใช้ และพยายามจะสั่งซื้อวัคซีนเข้ามา แต่ก็ล้มเหลวจนทำให้ถูกวิพากษ์ว่า อาจจะมีเจตนาให้ข่าวเพื่อช่วยสร้างราคาหุ้นของ THG จนทำให้ กลต.ขอให้มีการปลดออกจากตำแหน่งประธานกรรมการของ THG
สำหรับคนที่รู้จักตัวตนของ หมอบุญจะทราบดีว่า ตลอดช่วงชีวิตกว่า 86 ปี ธาตุแท้ของ ‘หมอบุญ’ คือคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และมี ‘อัตตา’ ชนิดที่ไม่ยอมแพ้ใคร พร้อมที่จะสู้จนถึงนาทีสุดท้าย และทั้งหมดอาจจะเป็นสาเหตุที่เขาพยายาม
ดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เพื่อสร้างฝันสุดท้ายให้สำเร็จ จนกลายเป็นการ ‘ขุดหลุมฝังตัวเอง’ และนำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักร ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ที่ก่อร่างมากับมือเมื่อเกือบ 50 ปี
สำหรับชายคนหนึ่งที่อยู่ในช่วงปัจฉิมวัยที่ควรจะได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข กลับต้องมาเผชิญวิบากกรรมในชีวิตที่ไม่เพียงจะเสียชื่อเสียงอย่างย่อยยับ แต่ในบทสุดท้ายเขาอาจจะต้องพบจุดจบถูกดำเนินคดีฐานฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสาร กลับต้องมีแต่ทุกข์ระทม คงเป็นเรื่องที่น่า ‘ปวดใจ’ จนยากจะทำใจ...