ความพยายามในการพยุงอาณาจักร EA พลังงานบริสุทธิ์ ของสมโภชน์ อาหุนัย กำลังเดินทางมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ภายใต้กรอบแนวคิดบันได 3 ขั้น คือ ยืด-ตั้ง-ตัด เพื่อรักษาธุรกิจหลักคือ ธุรกิจโรงไฟฟ้าเอาไว้ โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ เป็นแกนหลักในการช่วยปรับโครงสร้างหนี้
บันไดขั้นแรก คือ การปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นที่กำลังจ่อครบกำหนดอยู่ ทั้งตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ B/E และหนี้หุ้นกู้ที่กำลังทยอยครบกำหนด โดย SCBx มีการเจรจากับ EA เสนอ ‘อัดฉีด’ เงินเพื่อเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง
โดยทำสัญญาเงินกู้ยืมระยะยาวและเงินกู้ยืมร่วม (Syndicated Loan) กับสถาบันการเงินหลายแห่งคิดเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 8,500 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น คือตั๋วสัญญาใช้เงินหรือ B/E จากสถาบันการเงินโดยมีการกำหนดเงื่อนไขการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 3 ปี โดยกลุ่มกิจการจะทยอยจ่ายคืนเงินกู้ผ่านกระแสเงินสด (Cash Flow) จากการดำเนินงานตาม**‘สัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาครัฐ (PPA)’**
ขณะเดียวกันก็เจรจากับบรรดาเจ้าหนี้หุ้นกู้ เพื่อขอยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไป โดยเจรจากับเจ้าหนี้ที่เป็นนักลงทุนสถาบัน สำหรับหุ้นกู้รุ่น EA248A วงเงินราว1.5 พันล้านบาท ขอขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนออกไปเป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 และปรับอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 3.11 ต่อปีเป็นร้อยละ 5.00 ต่อปี พร้อมทั้งมีหลักประกันให้เพิ่มเติม
สำหรับหนี้หุ้นกู้ในส่วนที่เหลืออีก12 รุ่น EA พยายามที่จะเร่งเจรจายืดหนี้ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ Cross Default โดยมีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในรูปแบบประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ทั้ง เช้า-บ่าย รวดเดียว 12 ชุด เพื่อขอมติเลื่อนการไถ่ถอนออกไป
บันไดขั้นที่สอง คือ ความพยายามในการดึงสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ คือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ที่ยังไม่ติดภาระค้ำประกัน ออกมาจัดตั้งในรูป**‘กองทุนรวม’**โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เพื่อระดมทุนก้อนใหม่ เพื่อใช้ในการดำเนินงาน
บันไดขั้นสุดท้าย คือการแสวงหาเงินทุนจากการเข้าร่วมทุนกับผู้ร่วมทุนรายใหม่ Strategic Partner(s) ที่ให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ของบริษัทซึ่งกำลัง ‘อยู่ระหว่างเจรจา’ โดยอาจทำในรูปแบบของการเข้ามาเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง หรือ PP-Private Placement
ราคาหุ้นของ EA หรือบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ที่ปรับตัวร้อนแรงติดต่อกันมาตลอดสัปดาห์นี้ โดยราคาล่าสุดขยับขึ้นมาอยู่ในระดับ หุ้นละ 6.10 บาท สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีแรง **‘เก็งกำไร’**จากข่าวที่อาจจะมี ‘บิ๊กเนม’ ที่อยู่ระหว่างเจรจามากกว่า 2 ราย ซึ่งปรากฎรายชื่อ ‘SCC’ และกลุ่ม ‘ซีพี’ ที่แสดงความสนใจเข้าร่วมลงทุน
แต่คาดว่ากว่าจะได้ข้อสรุปคงราวไตรมาสสุดท้าย ซึ่งหากการเพิ่มทุนครั้งนี้ หาก EA ได้รับเงินทุนมากเพียงพอ อาจไม่จำเป็นต้องเดินไปสู่ทางเลือกสุดท้าย คือการ**‘ตัดขาย’**บางธุรกิจที่ไม่สร้างรายได้ ทำให้ต้องแบกภาระทางการเงินออกไป เช่น ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ของบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด(มหาชน) หรือ NEX และแม้แต่ ธุรกิจโบรกเกอร์ อย่างบริษัทหลักทรัพย์บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD
ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า ‘คณิสสร์ ศรีวชิระประภา’ CEO ของ NEX กำลังจะโบกมือลา และย้ายเข้าไปนั่งเป็นผู้บริหารของ ‘บริษัทโอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) จำกัด’ เจ้าของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน ‘Chery’ ในเร็ว ๆ นี้
คาดว่าในอนาคต ธุรกิจหลักที่ EA จะมุ่งให้ความสำคัญ การกลับมา ‘โฟกัส’ ที่ธุรกิจหลักในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดทั้งในประเทศ และต่อยอดไปยัง สปป.ลาว รวมถึงการพัฒนาโครงการน้ำมันอากาศยาน