ทำไม? ธนาคารไม่ให้สินเชื่อ ฟังคำตอบจากแบงก์ชาติ

26 ส.ค. 2567 - 09:45

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย รับบทผู้ร้าย

  • เป็นเป้าตั้งแต่รัฐบาลเพื่อไทยบริหารประเทศ

  • ถึงเวลานี้ต้องหาทางอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้เข้าใจ

economic-governor-bankofthailand-seminar-journalists-SPACEBAR-Hero.jpg

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย  พาสื่อมวลชนไปจับเข่าคุยกันในงาน สัมมนา BOT Press Trip 2024 ที่พัทยา

บังเอิญที่ว่าสองวันก่อนหน้า  มีการจัดงานเปิดตัวทักษิณ ชินวัตรหลังพ้นโทษ ขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ Vision For Thailand 2024 โดยพาดพิงถึงแบงก์ชาติบางช่วงบางตอน แม้จะพูดสั้น ๆ ไม่กี่คำ ไม่กี่ประโยค แต่ทำให้คนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้รู้เรื่องระบบการเงิน เข้าใจผิดว่า แบงก์ชาตินี่แหละเป็นต้นตอแห่งปัญหาของเศรษฐกิจไทย ในตอนนี้ เพราะเป็นคนที่ดูดน้ำออกจากบ่อ   ทำให้สภาพคล่องหายไป จนธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยชี้นิ้วไปที่แบงก์ชาติว่า ทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหา  คราวก่อนลูกสาว กล่าวครั้งนี้เป็นพ่อกล่าวเอง 

‘ธปท.ลดซัพพลายเงิน 1% ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่รัฐบาลมองว่าต่างจังหวัดขาดสภาพคล่องจึงเหมือนว่าปลาที่ขาดน้ำทำให้เศรษฐกิจเดินไม่ได้

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต บางคนค้านจนลืมว่าตนเองคือ ส่วนหนึ่งของต้มยำกุ้ง แต่ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว

เรื่องที่ 1 คือ เรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท.ดูดสภาพคล่องออก ธนาคารพาณิชย์ก็ไปซื้อพันธบัตรจาก ธปท.แล้วกินดอกเบี้ย โดยไม่มีความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจฯ’

การพบปะพูดคุยกับสื่อมวลชน ที่พัทยา จึงเป็นเวทีให้ผู้บริหารแบงก์ชาติ ได้ **‘แก้ต่างข้อกล่าวหา’**ของทักษิณ แบบไม่ต้องเผชิญหน้าตอบโต้กันตรง ๆ 

คำอธิบายของแบงก์ชาติ ที่เป็นศัพท์แสงภาษาการเงิน  บวกกับท่วงทำนองสุภาพ ไม่ก้าวร้าว ตามประสาผู้ดีวังบางขุนพรหม  สรุปง่ายๆ พอเข้าใจได้ว่า  การที่แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ไม่ใช่เพราะแบงก์ชาติไปดูดน้ำออกจากบ่อ  จนบ่อแห้ง ปลาไม่มีน้ำ  แต่แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ เพราะกลัวหนี้เสีย 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ พูดอย่างนี้ 

**‘**อีกอันที่คนสนใจ หรือเป็นห่วงในแง่สภาพคล่องนั่นก็คือสินเชื่อ แต่ตรงนี้คนชอบไปนึกถึงว่า ‘สภาพคล่อง’ เป็น ‘น้ำ’ ซึ่งทำให้คนเป๋ เพราะเหมือนกับบอกว่า แบงก์ชาติดูดน้ำเข้า ดูดน้ำออก เพื่อรักษา ดอกเบี้ยให้อยู่ที่2.5% ตรงนี้ เมื่อน้ำออกไปปุ๊บ น้ำที่จะไปสู่ระบบเศรษฐกิจ ก็คือสินเชื่อมันก็น่าจะหายไป หดไป อะไรต่างๆ

แต่สิ่งที่เราอยากจะเน้น คือ เรื่องสภาพคล่องที่คนสนใจว่า จะได้สินเชื่อหรือไม่นั้น มันไม่ได้มาจากการที่ ธปท. เอาน้ำใส่หรือไม่ใส่ แต่มันมาจากว่าแบงก์ A เขามองว่า ถ้าปล่อยสินเชื่อแล้ว จะได้กำไรจะได้ผลตอบแทนคุ้มเสี่ยง หรือเปล่า

หลัก ๆ เป็นอย่างนั้น ซึ่งอันนี้จะขึ้นอยู่กับ credit risk และขึ้นอยู่กับว่าทุนเขาจะพอไหม

ถ้าดูตอนนี้ ในฝั่งทุนถามว่า Balance Sheet ของแบงก์พาณิชย์ต่าง ๆ เป็นตัวที่ทำให้เขาไม่ปล่อยหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่ใช่ เพราะทุนของเขาพอ ก็เลยกลับมาถึงสิ่งที่เขามองว่า ถ้าสภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ credit risk เป็นอย่างนี้ ถ้ามันไม่คุ้มกับการที่เขาจะปล่อย เขาก็เลยไม่ปล่อย จึงทำให้ credit growth ชะลอตัวลง’

ทำไมแบงก์จึงคิดว่า ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว ไม่คุ้ม เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสีย ตรงนี้ แบงก์ชาติไม่ได้พูดถึง คงละไว้ให้ผู้ฟังใช้วิจารณญาณเยี่ยงวิญญูชนกันเอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์