เมื่อก่อนสิ้นปี 2566 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้ออกมาเปิดรายชื่อ ‘คดีคอร์รัปชันที่ต้องจับตาในปี 2567’ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ คดีสินบนข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับ บมจ. ปตท. องค์กรระดับประเทศที่มีตัวเลขรายได้ในปีที่ผ่านมาสูงถึงกว่า 3 ล้านล้านบาท
โดยมี 2 คดีใหญ่ มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทได้แก่คดี ‘สินบนโรลส์รอยซ์’ และคดี ‘สวนปาล์มน้ำมัน’ ที่อินโดนีเซีย อีกทั้งที่น่าตกใจก็คือ เมื่อสืบเสาะเจาะลึกถึงผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนในการชงโครงการ อนุมัติจัดซื้อ และเป็นช่องทางไหลผ่านของเงินสินบน พบว่าครอบคลุมเครือข่ายอดีตผู้บริหารระดับสูงในขณะนั้นหลายคนที่เติบโตจากการเป็น ‘ลูกหม้อ ปตท.’ รวมไปถึงกรรมการอิสระและเบอร์ 1 ขององค์กร ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุปัจจัยข้อนี้หรือไม่ ที่ทำให้กระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การตัดสินในทางคดีจึงยืดเยื้อหลายปี จนทำให้ ACT ต้องออกมาสะกิดผ่านสื่อ
เริ่มต้นกับที่คดีแรก สินบนโรลส์รอยซ์
เมื่อปลายเดือนเมษายน 2567 หนึ่งในคดีสินบนฉาวข้ามชาติของ ปตท. ที่ยืดเยื้อมา 7 ปี ก็ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สั่งฟันเรียบร้อยแล้ว จากคำแถลงของเลขาธิการ ป.ป.ช. ที่ระบุว่า
มีเหตุอันควรสงสัยว่า จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ อดีตกรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ กับพวก เอื้ออำนวยให้ บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม (RRESI) ได้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการจัดซื้ออุปกรณ์ Feed Gas Turbine Compressor วงเงินงบประมาณ 27,000,000ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,000 ล้านบาท) สำหรับติดตั้งที่แท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์ (Project PTT Arthit) ซึ่งมีการจัดสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2547 - 2551 นอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา
โดย ‘เผ่าเผด็จ วรบุตร’ ซึ่งมีตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่สายงานพื้นที่นอกชายฝั่งอ่าวไทยในขณะนั้น ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัท ‘RRESI’ ซึ่งจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นเข้าบัญชีเงินฝากผ่านธนาคารในประเทศสิงคโปร์ และโอนต่อมายังบุคคลใกล้ชิด จำนวนรวม 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10 ล้านบาท)
จุดเริ่มต้นของคดีนี้ สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ได้สืบสวนสอบสวนกรณี ‘การจ่ายเงินสินบน’ ของ บริษัท โรลส์-รอยซ์ (สหราชอาณาจักร) (Rolls-Royce plc) และบริษัทในเครือ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายประเทศ และปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการนี้ของ ปตท. สผ. ซึ่งบริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ ได้จ้าง ‘ตัวกลาง’ และ ‘ค่าคอมมิชชั่น’ ที่จ่ายให้ตัวกลางส่วนหนึ่ง ถูกนำไปใช้เป็น ‘สินบน’ แก่ เจ้าหน้าที่บริษัท ปตท.สผ.เพื่อให้ได้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญาโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลรัฐบาลกลางสหรัฐ ประจำรัฐโอไฮโอตอนใต้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ระบุว่า บริษัทลูกของโรลส์-รอยซ์ คือ Rolls-Royce Energy Systems, Inc. หรือ ‘RRESI’ มีส่วนรู้เห็นในการจ่ายสินบนกว่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับนายหน้า เป็นค่าที่ปรึกษาด้านการค้า โดยเงินดังกล่าวถูกจ่ายในนามค่าคอมมิชชั่น ให้กับบริษัทด้านพลังงานในหลายประเทศรวมทั้งไทย
โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ ‘หมาเฝ้าบ้าน’ อ้างอิงข้อมูลจากสื่อต่างประเทศ และสื่อไทยหลายสำนัก ระบุว่า ในส่วนของไทยพบว่า ระหว่างปี 2543-2555 พบบุคคลในบริษัทลูกของโรลส์-รอยซ์ มีส่วนรู้เห็นในการจ่ายค่ารักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจ หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการจ่ายสินบนกว่า 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 385 ล้านบาท) เพื่อให้ ‘RRESI’ ได้สัมปทานการทำธุรกิจจากเครือ ปตท. หลายโครงการ ดังนี้
1. โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 (GSP-5) ระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 - 16 พฤศจิกายน 2547 จำนวนเงิน 2. 49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 87.32 ล้านบาท)
2.หน่วยเพิ่มความดันก๊าซของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 3 (OCS-3) ระหว่างวันที่ 19 มกราคม 2549 – 24 มกราคม 2551 จำนวนเงิน 1.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 48.52 ล้านบาท)
3.แท่นเจาะก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ (Arthit) ระหว่างวันที่ 19 มกราคม 2549 – 18 มกราคม 2551 จำนวนเงิน 1.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 38.36 ล้านบาท)
4.โครงการ PCS ระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2549 – 11 กันยายน 2551 จำนวนเงิน 2.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 72.56 ล้านบาท)
5.โรงก๊าซอีแทน (ESP-PTT) ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 – 18 กุมภาพันธ์ 2556 จำนวนเงิน 1.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 67.55 ล้านบาท)
6.โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 GSP-6 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 2551 – 13 พฤศจิกายน 2552 จำนวนเงิน 2.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 80.05 ล้านบาท)
ขณะที่ จากฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระหว่างปี 2553-2555 พบว่า บมจ. ปตท. และ บมจ. ปตท. สผ. ทำสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์และอะไหล่ โรลส์รอยซ์ 7 สัญญา วงเงินรวมกว่า 254 ล้านบาท
สินบนข้ามชาติ ปตท. ยังมีคดีน้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย ติดตามได้ในตอนต่อไป