อยากปลด!!! ผู้ว่าแบงก์ชาติต้องรอปีหน้า

8 พ.ค. 2567 - 07:13

  • วาระผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันจะอยู่จนถึงปี 2568

  • รัฐบาลต้องหาวิธีการทำงานร่วมกัน มากกว่าหาทางปลดผู้ว่าฯ

  • แนวคิดของรัฐบาลที่กดดันแบงก์ชาติ มีแต่เสียหาย

economy-bank-of-thailand-SPACEBAR-Hero.jpg

ถึงปากจะบอกว่า ‘ไม่เคยพูดให้ผู้ว่าฯลาออก รวมถึงการปลดผู้ว่าฯ’ แถมยังให้สัมภาษณ์ให้ฟังดู ‘หล่อ’ แบบโย่งๆ ว่า ‘ไม่ได้เป็นคู่กรณีกับผู้ว่าฯ แต่คู่กรณีของผมคือความยากจนของพี่น้องประชาชน ในเมื่อ ธปท.เป็นกระเป๋าเงินใหญ่ของประเทศ อุณหภูมิความขัดแย้งจะลดลง ก็ต่อเมื่อปัญหาของพี่น้องประชาชนถูกแก้ไข’

แต่เชื่อว่าเสียงในใจของนายกฯ เศรษฐา ผ้าขาวม้าหลากสี และบรรดาทีมงานด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยคงกำลัง ‘ตะโกนก้อง’ อยากปลดผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ทุกวันสามเวลาหลังอาหาร และเพิ่มรอบดึกด้วยอย่างแน่นอน

มันเป็นเรื่องยากที่จะปฎิเสธ หากพิจารณาจากการแสดงออกทั้งกริยาและวาจาของคนในพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ระดับลูกหาบจนถึงหัวหน้าพรรคอย่าง ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ที่เพิ่งพลาดทางการเมืองก้าวใหญ่ ในการโชว์วิสัยทัศน์แบบไม่ค่อยยาวไกล 

ถึงขนาด ‘อาจหาญ’ ขึ้นเวทีไปอ่านบทสคริปต์ที่ทีมงานเตรียมมา หวังว่าจะทำให้ ‘ดูมีภูมิรู้ด้านเศรษฐกิจ’ วิพากษ์การทำงานของแบงก์ชาติว่า 

‘แบงก์ชาติเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ’

ทั้ง ๆ ที่ตัวเองขาดความเข้าใจในบริบททางเศรษฐกิจที่แท้จริงอย่างสิ้นเชิง จนนายกฯ เศรษฐา และบรรดา ‘ลิ่วล้อ’ ในพรรคต้องรีบออกมาปกป้องลูกนายใหญ่กันเป็นพัลวัน  

ความจริงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐาจะมีความรู้สึกในเชิงลบ และหงุดหงิดกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เพราะดูเหมือนจะทำตัวเป็น **‘จระเข้ขวางคลอง’**แนวคิดของรัฐบาลในเกือบจะทุกเรื่อง 

โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท และยังขัดแนวคิดในเรื่องการใช้นโยบายด้านการเงิน โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

แต่จากปฎิกริยาที่สะท้อนกลับมาหลังจากคุณหนู ‘อุ๊งอิ๊ง’ ก้าวพลาดในครั้งนี้ คงทำให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย มีการสรุปบทเรียน และตระหนักมากขึ้นว่าอาจจำเป็นต้องลด ‘ดีกรี’ และปรับท่าทีในเรื่องนี้กันใหม่ 

เห็นได้ชัดจากการที่ นายกฯ เศรษฐา เริ่มถอยห่างจากเรื่องนี้ และหาทางในการลดอุณหภูมิความขัดแย้งโดยโยนภารกิจ ‘หย่าศึก’ ให้กับ รองนายกฯ และรมว.คลังป้ายแดงวัยเก๋าอย่าง ‘พิชัย ชุณหวชิร’ รับบทไปปรับความเข้าใจให้ดีขึ้น 

รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ต้องยอมรับความจริงเสียก่อนว่า ถึงแม้จะอยาก ‘ปลด’ ผู้ว่าฯเศรษฐพุฒิ มากขนาดไหน แต่คงไม่สามารถทำได้ง่ายๆ เหมือนในอดีต หลังจากมีการแก้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2551 ที่พยายามจะกันไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายทางการเงินของแบงก์ชาติ

ถึงแม้จะให้อำนาจ รมว.คลัง หรือคณะกรรมการ ธปท. สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้ ตามมาตรา 28 /19 (4) และ (5) แต่ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า มีความประพฤติเสื่อเสียอย่างร้ายแรง ทุจริตต่อหน้าที่ บกพร่อง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง ไม่ใช้เพียงเพราะไม่ทำตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบาย

วิธีการที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ก็คือ การประนอมอำนาจและยอมรับความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ และความเห็นต่าง พยายามหาจุดร่วมที่ตกลึกไปในทิศทางเดียวกันให้ได้ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับวิธีการประนอมอำนาจกับกลุ่มการเมืองสายอนุรักษนิยมในเวลานี้ 

เพราะหากเข้าใจสำนวน ‘เย็นให้พอ รอให้เป็น’ อีกไม่นาน ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ก็ถึงเวลาที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามเงื่อนไขของ ‘เวลา’

ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ เข้ามารับตำแหน่ง เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 โดยจะมีวาระ 5 ปี สามารถต่อได้อีกสมัย ซึ่งหมายความว่าจะหมดวาระในปีหน้า 2568 แต่เนื่องจากเงื่อนไขคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.ธปท. 2551 ในมาตรา 28/17 กำหนดให้ผู้ว่าแบงก์ชาติต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี ในวันที่ ครม.เสนอชื่อเพื่อแต่งตั้ง ทำให้ปิดโอกาสการกลับมานั่งในตำแหน่งอีกสมัยของ ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิไปโดยปริยาย

ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิหมดโอกาสจะกลับมานั่งในเก้าอี้อีกสมัย เนื่องจากเกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2508 ทำให้เขาจะมีอายุเกิน 60 ปี หมดสิทธิ์ที่จะกลับมานั่งเก้าอี้อีกสมัย 

โจทย์ในตอนนี้รัฐบาลจึงควรมองข้ามช็อตไปวางเกมที่จะสรรหา ผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่ที่สามารถจะทำงานได้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลได้หรือไม่ มากกว่าการ ‘ดิสเครดิต’ ตัวเอง จากการสาดวาทกรรมตำหนิแบงก์ชาติเหมือนที่ผ่านมา 

ในการสรรหาผู้ว่าแบงก์ชาตินั้น มีการกำหนดไว้ว่าจะต้องมีการตั้งกรรมการสรรหา7 อรหันต์ โดยมาจาก อดีตปลัดกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ ๆ อย่างกระทรวงการคลัง พาณิชย์ อุตสาหกรรม อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ อดีตผู้ว่า ธปท. หรือเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) โดยจะเสนอชื่อบุคคลที่สมควรแต่ตั้งจำนวน 2 คนให้ คณะกรรมการธปท.เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ

ในขณะที่หากดูจากรายชื่อคณะกรรมการ ธปท.ชุดปัจจุบันจำนวน 12 คน นอกจากประธาน **‘ปรเมธี วิมลศิริ’ ** แล้ว กรรมการอีก 11 คน ก็มาจากแบงก์ชาติ เพียง 4 คือ ตัวผู้ว่าฯ ‘เศรษฐพุฒิ’ และรองอีก 3 คน คือ ‘รณดล นุ่มนนท์’ , ‘รุ่ง มัลลิกะมาส’ และ ‘อลิสรา มหาสันทนะ’ กรรมการอีก  2 โดยตำแหน่ง คือ เลขาฯ สภาพัฒน์ ‘ดนุชา พิชยนันท์’ และ ‘พรชัย ฐีระเวช’ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

กรรมการทรงคุณวุฒิ อีก 5 คนประกอบด้วย ‘นนทิกร กาญจนะจิตรา’ อดีตเลขาคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ‘มนัส แจ่มเวหา’ อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง ‘ปกรณ์ นิลประพันธ์’ เลขาคณะกรรมกรรกฤษฎีกา ‘รพี สุจรติกุล’ อดีตเลขา กลต. และ ‘สุภัค ศิวะรักษ์’ อดีต CEO ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

หากรัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา อยากได้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติที่สามารถทำงานเข้าขากันมากกว่าที่เป็นอยู่ ก็คงต้องลองเริ่มต้นจากเตรียมมองหามือดีในแวดวงเศรษฐกิจ เพื่อเสนอชื่อให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณา 

แต่ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไร เพราะแม้แต่ตำแหน่ง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ มาถึงนาทีนี้ ยังหาคนในคาถาไปสมัครไม่ได้เลย...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์