‘กาสิโน’ถูกกฎหมาย อีกด้านหนึ่งของเหรียญ

27 มีนาคม 2567 - 08:54

economy-casino-gambling-legal-SPACEBAR-Hero.jpg
  • นโยบายเปิดกาสิโนของรัฐบาล กลายเป็นโครงการที่หมดแรงต้าน

  • แนวโน้มการพิจารณาของสภา คงเป็นไปตามที่รัฐบาลส่งมา

  • ในเสียงที่ยินดี ก็มีเสียงที่ทักท้วงจากนักวิชาการให้ได้ฉุกคิด

วันพรุ่งนี้ (28 มีนาคม) อาจจะเป็นอีกหน้าหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์ของสภาผู้แทนราษฎรไทย เพราะจะเป็นครั้งแรกที่บรรดานักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะร่วมกันในการประกอบพิธีสังฆกรรม ‘สมยอม’ ร่วมใจกันในการปลดล็อคเปิดให้เกิด ‘กาสิโน’ ถูกกฎหมายขึ้นในไทย

คณะกรรมาธิการวิสามัญเพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร ที่มี รมช.คลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นประธาน จำแลงชื่อใหม่เป็น ‘สถานบันเทิงครบวงจร Entertainment Complex’ จะนำรายงานผลการศึกษาเรื่องนี้ รวมทั้งตัว ‘ร่าง พรบ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ....’ ให้สภาผู้แทนฯพิจารณารับทราบผลการศึกษา ก่อนที่จะนำไปเสนอให้ ครม.ให้ความเห็นชอบ เพื่อนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ผ่านสภาผู้แทนฯต่อไป

รมช.คลัง จุลพันธ์ พยายามจะ _‘ชักแม่น้ำทั้งห้า’ _ หยิบยกข้อดีของการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนเป็นหลักว่า  จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ในลักษณะของ Fun Economy ที่กำลังเป็นเทรนด์อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศมหาศาล และยังแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายที่เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน 

มีการหยิบยกตัวเลขว่า อุตสาหกรรมกลุ่ม Fun Economy มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 13.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว14% ของ GDP โลก และปัจจุบันสถาบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนเป็นจุดขายมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะโตไปที่ระดับ 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2028 โดยมีมาเก๊า และลาสเวกัส ทีทำรายได้มากเป็นอันดับที่ 1-2 ในระดับปีละ 3-3.2 หมื่นล้านเหรียญ สหรัฐฯ

เฉพาะ 4 ใน 7 ของประเทศที่มีรายได้จากสถานบันเทิงครบวงจรสูงสุดเป็นประเทศในอาเซียน คือ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ซึ่งไทยน่าจะมีความพร้อมและจุดแข็งมากกว่าทั้ง 4 ประเทศ

นอกเหนือจากรายได้ที่จะเข้าสู่ประเทศแล้ว ในรายงานผลการศึกษายังระบุว่า ภาครัฐเองก็จะมีรายได้จากการให้สัมปทาน และรายได้จากการเก็บภาษีในหลากหลายรูปแบบ พร้อมกับยืนยันว่าจะมีการจัดระเบียบที่ดี ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปเล่นพนัน ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบในเชิงสังคมตามมา 

รมช.จุลพันธ์ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง ‘อีกด้านหนึ่งของเหรียญ’ คือ ผลกระทบในเชิงสังคมที่อาจจะทำให้มีผู้ติดการพนันเพิ่มมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและควรจะต้องนำมาพิจารณาก่อนที่จะตัดสินใจเดินหน้าในเรื่องนี้

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจผ่านบทความ ‘บ่อน บันเทิงครบวงจร : จนเงินหรือจนความคิด’ โดยระบุว่า เมื่อไรที่มีการเสนอแนวคิดเรื่องเปิดบ่อนกาสิโนออกมาจากฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ จะเป็นสัญญาณที่กำลังบอกว่า รัฐบาลกำลังอยู่ในภาวะ ‘จนตรอก’   ไม่จนเงิน ขาดเงินหรือขาดรายได้มาใช้จ่าย รัฐบาลก็มักจะอยู่ในสภาพ**‘_จนตรอกทางปัญญา’** _ จึงต้องหันมาทิ้ง ‘ไพ่ใบสุดท้าย’ ในการเสนอเปิดกาสิโนถูกกฎหมาย

การอ้างว่าธุรกิจการพนันมีเงินหมุนเวียนนับแสนล้านบาทนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์ เงินนั้นไม่มีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้เกิดการหมุนรอบหรือเกิดตัวคูณทางเศรษฐกิจ เหมือนการผลิตสินค้า ซื้อ-ขายสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจ เป็นเพียงการโอนเงินจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง จากการได้-เสียของการพนัน หรือระหว่างผู้เล่นกับเจ้ามือหรือเจ้าของบ่อน

ภาครัฐอาจจะได้รายได้จาก สัมปทาน ค่าต๋ง หรือภาษี แต่ก็เป็นการได้เงินจากผู้ที่เข้าไปเล่นพนันซึ่งจะมีทั้งคนต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยว และคนไทยที่ชอบเล่นพนัน 

ที่สำคัญอาจารย์เจิมศักดิ์ ไม่เชื่อว่าภาครัฐจะสามารถควบคุมไม่ให้คนไทยทั่วไปเข้าไปเล่นพนันได้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม การฟอกเงิน และการทำผิดกฎหมายอื่นๆตามมา และไม่เชื่อว่าภาครัฐจะทำให้ไม่มีบ่อนผิดกฎหมาย เพราะปัญหาใหญ่ของไทยก็คือ เรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย

ถึงแม้รมช.จุลพันธ์จะอ้างว่าเมื่อมีบ่อนแบบถูกกฎหมาย ทั้งสิงคโปร์ และสหรัฐฯ สามารถจัดเก็บภาษีบาป เพื่อนำเข้ากองทุนช่วยบำบัดเยียวยาผู้ติดพนัน และปราบปรามการพนันที่ผิดกฎหมายจนทำให้อัตราผู้ติดพนันและบ่อนเถื่อนลดลง และจะมีจัดเก็บค่าใช้บริการกาสิโน สำหรับคนไทย ในอัตราที่สูง เช่นเดียวกับ สิงคโปร์ หรือ ญี่ปุ่น 

แต่ก็ยังคงเป็นคำถามว่า เมื่อถึงเวลาปฎิบัติจะทำได้จริงจังมากน้อยแค่ไหน เพราะแม้แต่หวยเถื่อนรัฐก็ยังไม่มีปัญญาปราบ ทั้ง ๆ ที่มีสำนักงานสลากินแบ่งรัฐบาลเป็นเจ้ามือออกหวยรายใหญ่ที่สุด

มีบทความอีกชิ้นหนึ่งของอาจารย์ _ชิดตะวัน ชนะกุล’ _ จากสาขาเศรษฐศาสตร์และการเมือง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็สอดคล้องกับ บทความของอาจารย์เจิมศักดิ์ โดยให้ความเห็นว่า 

กาสิโนอาจมีผลทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ระยะยาวแล้ว หากคนในชาติเสพติดการพนันจะส่งผลลบต่อผลิตภาพของกำลังแรงงานอย่างรุนแรง และผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่ารายได้จากอุตสาหกรรมกาสิโนไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ทั้งนี้งานวิจัยของ National Council on Problem Gambling พบว่า ประชากรในสหรัฐฯ ถึง 2 ล้านคนที่มีปัญหาติดการพนันรุนแรง และ 4-6 ล้านคนมีปัญหา โดยเฉพาะในรัฐที่มีกาสิโน 

แม้แต่ มาเก๊า รายได้หลักของกาสิโน ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาจากนักท่องเที่ยวต่างถิ่น แต่กลับมาจากคนในพื้นที่และใกล้เคียง ที่มีรายได้ไม่มากนัก แต่หวังจะแสวงโชคจากการพนัน ทำให้ในทางปฎิบัติ กาสิโน กลายเป็นแหล่งหาเงินจากกลุ่มเปราะบางและมีปัญหาด้านการพนัน ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกัน แม้แต่ในสวิตเซอร์แลนด์ และฟินแลนด์

สิ่งที่น่าตกใจในบทความของอาจารย์ชิดตะวันก็คือ เมื่อศึกษาข้อมูลครัวเรือนของไทย พบว่าการให้ความช่วยเหลือของรัฐในรูปแบบเงินสดที่ให้กับกลุ่มเปราะบาง ถูกนำไปใช้จ่ายด้านการพนันมากที่สุด ซึ่งหากการเปิดกาสิโนแบบถูกกฎหมายเกิดขึ้นในไทย แต่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้กลุ่มเปราะบางเข้าไปเล่นการพนันได้ จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอย่างมาก และจะยิ่งซ้ำเติมให้คนเหล่านี้ไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้สำเร็จ 

ในตอนท้ายบทความของอาจารย์เจิมศักดิ์ ชี้ให้เห็นว่า ในสมัยรัชกาลที่ 2 ประเทศไทยเคยมีบ่อนถูกกฎหมาย แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯให้เลิกบ่อนการพนัน แต่ต้องล่วงเลยมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงได้มีประกาศปิดบ่อนทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2460

เมื่อครั้งเสด็จฯ ประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 ที่เมืองมอนติคาโล เมืองแห่งการพนัน รัชกาลที่ 5 ทรงเรียนตำราเล่นการพนันต่างๆในกาสิโน และทรงบันทึกในพระราชหัตถเลขาถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ.2450 ความบางตอนว่า

‘...ได้เรียนตำราเล่นเบี้ยอย่างฝรั่งเข้าใจ ข้อซึ่งเข้าใจกันว่าเล่นไม่น่าสนุกนั้นไม่จริงเลย  สนุกยิ่งกว่าอะไรๆหมด  ถ้าชาวบางกอกได้รู้ไปเล่นแล้วฉิบหายกันไม่เหลือ ถ้าหากว่าไปถึงเมืองเราเข้าเมื่อไรจะรอช้าแต่สักวันเดียวก็ไม่ควร ต้องห้ามทันที’

เวลาผ่านมากว่า 117 ปี มาถึงวันนี้วิวัฒนาการของการพนันได้พัฒนามากขึ้นอีกสารพัดรูปแบบ โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ ซึ่งหากเราตัดสินใจจะปลดล็อคกาสิโนให้ถูกกฎหมายจริง จะเกิดหายนะหรือไม่ ถึงเวลานั้นใครจะกล้ารับผิดชอบ...

ข่าวที่น่าสนใจ
economy-digital-wallet-thai-money-SPACEBAR-Thumbnail.jpg

แจกเงินหมื่นของจริง? หรือแค่บริหารความคาดหวัง

Deep SPACE -- ถ้ารัฐบาลแจกเงิน 10,000 ดิจิทัล ตามกำหนดระยะเวลาเดิม ไม่เลื่อนไป เลื่อนมาแบบนี้ ประชาชนทั้งประเทศก็คงใช้จ่ายไปจนหมดนานแล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลทำ ไม่เหมือนสิ่งที่พูด การแจกเงินจึงเลื่อยแล้ว เลื่อนอีก ครั้งนี้ท่าทางเอาจริง มีการกำหนดไทม์ไลน์การทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเงินถึงมือประชาชน หากครั้งนี้ยังเลื่อนอีก หรือมีอุบัติเหตุสุดวิสัย รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ต้องหาเหตุผลที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ และเชื่อว่าปัจจัยการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น ทำให้เพื่อไทย ต้องตัดสินใจว่า เลื่อน หรือ ทำต่อ เล่นกันประชาชนที่ถูกหลอก อันตรายมาก ติดตามใน Deep SPACE..ลึกกว่าที่รู้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์