เมื่อผู้คุ้มครองผู้บริโภค ตกเป็นจำเลยของ True ID

19 มี.ค. 2567 - 08:39

  • เป็นการต่อสู้หนักหน่วงมากที่สุดยุคหนึ่งของผู้ประกอบการกับผู้ควบคุม

  • ทรู ไอดี ฟ้องร้อง กรรมการ กสทช.เป็นหนึ่งของความขัดแย้งครั้งล่าสุด

  • ก่อนหน้านี้ กรรมการ กสทช.เสียงข้างน้อย กับ เสียงข้างมากก็เห็นแย้งกันตลอด

economy-consumer-council-true-SPACEBAR-Hero.jpg

คนที่เสียสตางค์ซื้อกล่อง True ID หรือจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนจำนวนมากหงุดหงิดกับการถูกบังคับ หรือยัดเยียด ให้ดูโฆษณาทุกครั้งที่เปิดเครื่องหรือเปลี่ยนช่อง

จะกดรีโมท หนีช่วงโฆษณาไปช่องอื่นก่อน เหมือนดูฟรีทีวีก็ไม่ได้ เพราะมีโฆษณามารอดักอยู่ทุกครั้งที่เปลี่ยนช่อง หนีอย่างไรก็ไม่พ้น 

ถ้าเป็นฟรีทีวีจะไม่ว่าอะไรเลย เพราะดูฟรีไม่เสียสตางค์ แต่อุตส่าห์เสียสตางค์ซื้อกล่อง จ่ายค่ารายเดือน เพื่อดูคอนเทนต์แบบไม่มีโฆษณา กลับกลายเป็นว่า ถูกบังคับให้ดู ในขณะที่เจ้าของกล่องก็มีรายได้สองทาง ทั้งขายกล่อง เก็บค่าดูจากสมาชิกและขายโฆษณา 

มีผู้ชมสมาชิก True ID จำนวนมากรู้สึกว่า ถูกเอารัดเปรียบ ถูกบังคับ ยัดเยียดให้ดูโฆษณา แบบไม่มีทางเลือก จึงไปร้องทุกข์กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช.ว่า ทำไมถึงปล่อยให้ True ID บังคับดูโฆษณา

บางรายไปฟ้องศาลปกครองว่า กสทช.ไม่กำกับดูแล ผู้ให้บริการ ปล่อยให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต 1 ใน 7 กรรมการ กสทช. ที่ดูแลเรื่องกิจการโทรทัศน์ ทุกรูปแบบ ทั้งทีวีที่ใช้คลื่นความถี่อย่างทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม ทีวีผ่านอินเตอร์เน็ตที่เรียกกันว่า  OTT(Over The TOP) และเป็น ประธานอนุกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค ด้านโทรทัศน์  มีอำนาจเพียงให้คำแนะนำ สำนักงาน เลขาธิการ กสทช.และเลขาธิการ กสทช.   

สำนักงาน เลขาธิการ กสทช. มีหน้าที่สอบถามไปยังผู้รับใบอนุญาตในกิจการโทรทัศน์  จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังเจ้าของช่องทีวีดิจิทัล ที่ True ID นำมาออกอากาศในแพลตฟอร์มของตนว่า  เป็นการกระทำที่สอดคล้องกับเงื่อนไขในใบอนุญาตไหม

เรื่องก็มีอยู่เท่านี้ แต่ True ID อ้างว่า  ‘กสทช.’ ถามแบบนี้  ทำให้ตัวเองเสื่อมเสีย ถูกเข้าใจผิดว่า ทำธุรกิจไม่ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่ กสทช. ไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจน ในเรื่อง OTT เลย ‘ จึงฟ้อง พิรงรอง เป็นจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ทำให้ True ID ได้รับความเสียหาย โดยฟ้องต่อศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ’

คนที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค กลายเป็นจำเลยในคดีอาญาไปได้อย่างไร

คดีความระหว่าง กสทช. กับเอกชน หรือผู้บริโภค มักฟ้องร้องกันที่ศาลปกครอง เพราะเป็นคดีพิพาทระหว่าง รัฐกับเอกชน มีโทษทางปกครอง คือ ยกเลิกการกระทำที่เป็นข้อพิพาท แต่ True ID  ฟ้องพิรงรองเป็นคดีอาญา ซึ่งมีโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ 

เรียกว่า จัดหนัก เอากันให้ถึงติดคุกติดตะรางกันเลย

ศาลมีคำสั่งรับฟ้อง เมื่อวันที่ 14  มีนาคมที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าคดีมีมูล

ตลอดเวลาเกือบ 2  ปีที่ บอร์ด กสทช. ชุดใหม่เข้ารับตำแหน่ง  กสทช. เต็มไปด้วยความขัดแย้งภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในบอร์ด ที่แบ่งออกเป็น  3 ก๊ก ความขัดแย้งระหว่าง รักษาการ เลขาธิการ กสทช. กับ บอร์ด กสทช. 4 คน  

ความขัดแย้งเรื่อง การตั้งเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ ที่ว่างมาเกือบจะ 4 ปีแล้ว หลังฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาฯ คนก่อน ครบวาระ  

ความขัดแย้งในเรื่องโครงการเทเลเฮลท์ ที่ประธาน กสทช. จะใช้เงินกองทุน USO  3.8 พันล้านไปทำโครงการ ซึ่ง บอร์ด กสทช. 4 คน รวมทั้ง พิรงรอง ไม่อนุมัติ จนโครงการตกไป  

รวมทั้ง การควบรวมทรูกับดีแทค ที่พิรงรอง เป็นเสียงข้างน้อยที่เห็นว่า กสทช. มีอำนาจในการอนุมัติ ไม่ใช่แค่รับทราบ

กรณี True ID  ฟ้อง พิรงรอง เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาความขัดแย้งใน กสทช. ทั้งในระดับบอร์ด และเจ้าหน้าที่ และการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุน USO ที่มีเงินแต่ละปีนับหมื่นล้าน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์