หลังศาลแขวงปทุมวัน ตัดสินคดีแฟลชม็อบ ลงโทษจำคุก 8 จำเลย เป็นเวลา 4 เดือน โดยให้รอลงอาญา 2 ปี ซึ่งมีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกลรวมอยู่ด้วย
จากผลของคำพิพากษาดังกล่าว มีนักวิชาการอย่างน้อยสองคนที่เคยอยู่ในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาให้ความเห็นตรงกันว่า จะทำให้พิธาไม่สามารถเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ในอนาคต เพราะมีปัญหาคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7)
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ซึ่งเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี กำหนดเอาไว้ใน (7)ว่า
‘ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท’
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษา กรธ.ให้ความเห็นว่า คุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (7) มีความเข้มข้นมากกว่ามาตรา 98 ซึ่งหากพิธาจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ก็จะมีการพิจารณาคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้
‘ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ระบุว่า ต้องคำพิพากษาให้จำคุกแม้คดียังไม่ถึงที่สุด แม้จะมีการรอลงอาญาก็ตาม ทำให้เป็นรัฐมนตรีหรือเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้แล้ว’
อดีตที่ปรึกษากรธ.ย้ำ
ธนาวัฒน์ สังทอง อดีต กรธ.ให้ความเห็นไว้เช่นกันว่า คำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวัน ทำให้คุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของพิธา เข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (7) ซึ่งในอนาคตหากจะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าจะมีคนยื่นเรื่องคุณสมบัติต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความในประเด็นนี้
ขณะที่ทีมกฎหมายพรรคก้าวไกล เชื่อว่าคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวัน จะไม่มีผลต่อการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีของพิธา เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) บังคับใช้กับผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในขณะนั้น หากต้องคำพิพากษาก็จะหลุดจากตำแหน่งทันที
ประเด็นนี้ของพิธา แม้นักวิชาการที่อยู่ใน กรธ.มาก่อนทั้งสองคนจะเห็นตรงกัน แต่ก็ไม่ถือเป็นที่สุด เพราะยังต้องไปยื่นร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้งก่อน ซึ่งเบื้องต้นได้ตรวจสอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) เพิ่มเติมจากทั้งอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีต กรธ.ได้ให้น้ำหนักกับความเห็นของทีมกฎหมายพรรคก้าวไกลมากกว่า
เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) ที่บัญญัติไว้เช่นนั้น มีความมุ่งหมายหรือบ่งชี้ไปที่ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น จึงไม่ได้ใช้คำว่า ‘เคย’ เหมือนอย่างที่ระบุไว้ใน (8) ที่ว่า ‘ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่ง..’
เช่นเดียวกับคุณสมบัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) ที่บัญญัติไว้ว่า **‘ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล’ ** ที่ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น อาทิ อดีตแกนนำ กปปส.ที่เป็นรัฐมนตรี และสส.ต้องพ้นจากตำแหน่งไป หลังศาลตัดสินโทษจำคุกและถูกนำตัวไปคุมขังระหว่างรอการอุทธรณ์คดี
เอาเป็นว่า คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งรัฐมนตรีและสส.ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในแต่ละมาตรานั้น จะแยกเป็นสองส่วนหลักๆ คือ สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว หากไปกระทำการที่ฝ่าฝืน ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปทันที ส่วนผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ ต้องไม่มีคำว่า ‘เคย’ หรือถ้าเคยก็ต้องพ้นมาแล้วเป็นเวลากี่ปี ตามที่กำหนดไว้
ด้วยเหตุผลที่ว่า จึงทำให้คนชื่อพิธายังไม่ถูกสอยพ้นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในทันที จากคำตัดสินของศาลแขวงปทุมวัน กรณีคดีแฟลชม็อบ
ส่วนคดีอื่นๆ ที่เข้าคิวรออยู่ต้องไปลุ้นกันเอาเอง