รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินวัดใจ ‘ซีพี’ พอแล้วหรือยัง

24 พ.ค. 2567 - 02:30

  • รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินมีความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

  • บอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทยยินยอมตามความต้องการของซีพี

  • ซีพีสามารถ สร้างไปเบิกไป และผ่อนจ่ายสิทธิ์แอร์พอร์ตลิงค์ ตามที่ขอมา

Deep Space รถไฟฟ้าสามสนามบิน-SPACEBAR-Hero.jpg

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่หยุดนิ่งไม่ได้ตอกเสาเข็มแม้แต่ต้นเดียวหลังจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เซ็นสัญญากับบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ของกลุ่มซีพี ไปแล้ว 4 ปี 7 เดือน มีข้อสรุปแล้วว่า จะไปต่ออย่างไร จากการประชุมบอร์ด รฟท. เมื่อวานนี้

ข้อสรุปก็คือ **‘ยอมตามความต้องการ’**ของซีพี  ที่ให้รัฐคือ รฟท.จ่ายเงินร่วมทุน 117,727  ล้านบาทให้เร็วขึ้น  จากเดิมเงื่อนไขตามสัญญาที่เซ็นกันไปเมื่อวันที่ 24  ตุลาคม 2562 ซีพีต้องลงทุน ก่อสร้างไปให้เสร็จ และเปิดให้บริการก่อน 1 ปี รวมแล้วเป็น 6 ปี รัฐจึงจะเริ่มจ่ายเงินอุดหนุน  ภายใน 10  ปี โดยแบ่งจ่ายเป็น 10  งวด ๆ ละ 1 ปี

เงื่อนไขใหม่เปลี่ยนเป็น ‘ สร้างไป เบิกไป’ ซีพีไม่ต้องรอถึง 6 ปี รฟท. จะจ่ายให้เร็วขึ้นคือ หลังจาก รฟท.ส่ง ‘หนังสือให้เริ่มงาน’ หรือ NTP ( Notice  To Proceed) ให้ซีพีไปแล้ว 18 เดือน หรือ 1 ปีครึ่ง ซึ่งใกล้เคียงกับที่ซีพี ขอรับเงินอุดหนุนในปีที่ 2 ของการก่อสร้าง 

เผลอ ๆ ซีพี อาจจะได้เงินเร็วกว่าที่เคยขอไว้ด้วยซ้ำ เพราะเมื่อได้รับ NTP แล้ว ไม่ได้ลงมือก่อสร้างทันทีต้องมีการเตรียมการอย่างน้อย 3-6 เดือน

การเปลี่ยนเงื่อนเวลาการจ่ายเงินอุดหนุนของรัฐจาก จ่ายเมื่อสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการแล้ว เพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้รับสัมปทานจะก่อสร้างให้เสร็จตามกำหนดเวลาในสัญญา จะได้รับเงินเร็วๆ หรือไม่ทิ้งงาน  มาเป็นการสร้างไป เบิกไปตามความต้องการของซีพี ทำให้ซีพี ‘ไม่ต้องกู้เงิน’ เป็นจำนวนมาก ‘ประหยัดค่าดอกเบี้ย’ ได้มหาศาล เพราะใช้เงินอุดหนุนจากรัฐมาทำงานได้

ถ้า ‘บีทีเอสอาร์’ ซึ่งเข้าร่วมแข่งขันประมูลโครงการด้วยเมื่อ  6 ปีที่แล้ว รู้ว่าทำอย่างนี้ก็ได้ ก็อาจจะไม่ขอเงินอุดหนุนจากรัฐสูงถึง 169,934  ล้านบาท มากกว่าซีพี ถึง 52,000 ล้านบาท ทำให้ซีพี เป็นผู้ชนะเพราะ ‘ขอเงินอุดหนุนน้อยกว่า’ พอได้สัมปทานไปแล้ว ค่อยมาแก้ไขสัญญาเพื่อลดต้นทุนการเงิน 

เรื่องสำคัญอีกข้อหนึ่ง ในมติที่ประชุมวานนี้ คือแก้สัญญา ค่าใช้สิทธิ์ แอร์พอร์ตลิงค์ที่ซีพีต้องจ่ายให้ รฟท.ทันทีที่รับโอนสิทธิ จำนวน 10,671 ล้านบาท ซีพีขอแบ่งจ่ายเป็น 7 งวด 7 ปี  โดยอ้างว่าโควิดทำให้ผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงค์น้อยลงไปมาก

ซีพี รับโอนแอร์พอร์ตลิงค์ไป เมื่อเดือนตุลาคม 2564 โดยวางเงินมัดจำ 1,067 ล้านบาท หลังจากนั้น ‘ยังไม่เคยจ่ายเงินที่ค้าง’ อยู่อีก 9 ,604 ล้านบาทเลย เพราะรอการแก้ไขสัญญา

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติเปลี่ยนเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้สิทธิแอร์พอร์ตลิงค์ แต่ ‘ไม่เห็นชอบ’ การจ่ายเงินอุดหนุนแบบ ‘สร้างไป เบิกไป’ จนล่วงเข้าสู่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ซึ่ง**‘ไม่ให้ความสนใจ’** กับโครงการอีอีซี  เพราะเป็นโครงการการริเริ่มโดยรัฐบาลที่แล้ว กลับไปขายฝัน**‘โครงการแลนด์บริดจ์’** ซึ่งไม่มีความเป็นไปได้เลยแม้แต่ เปอร์เซ็นต์เดียว   

ซีพีนั้นได้เปรียบตรงที่ รฟท. ยังไม่ออก NPT ให้ ทำให้โครงการยังไม่เริ่มต้นนับหนึ่ง  เงื่อนไขในการออก NPT  คือ  

1. รฟท. ต้องส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งส่งมอบไปเกือบหมดแล้วตั้งแต่ปี 2565 เหลือเพียงช่วง บางซื่อ พญาไท ที่รอการรื้อถอนท่อส่งน้ำมัน

2. ต้องเพิกถอนสถานะลำรางสาธารณะ ในบึงมักกะสัน เป็นอำนาจของ สภา กทม. ซึ่งน่าแปลกที่ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ

3.ต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ

เอเชีย เอราวัน หรือซีพี ได้บีโอไอ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 จนหมดอายุ และได้รับการต่ออายุไปแล้ว 2 ครั้ง  ครั้งที่ 3  บีโอไอ รอให้มาต่อจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ซีพี ก็ไม่มาปล่อยให้บีโอไอ หมดอายุ ทั้ง ๆ ที่ **‘เป็นฝ่ายได้ประโยชน์’**เต็ม ๆ ในเรื่อง การยกเว้น ลดภาษี

ความล่าช้าในการเพิกถอน ลำรางสาธารณะในมักกะสัน การไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ 100 % และการที่ซีพีไม่ไปต่ออายุบีโอไอเอง ทำให้ รฟท. ออก NPT ไม่ได้ ซีพีจึงไม่ต้องกลัวว่า จะถูก รฟท. ยกเลิกสัญญาหรือปรับ เพราะ รฟท. ยังไม่ได้สั่งให้เริ่มงานเลย จะมาบอกว่าซีพีไม่ทำอะไรเลย  ปล่อยให้เวลาผ่านไปเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว ไม่ได้

บอร์ด รฟท. เมื่อวานนี้จึงมีมติ ‘ให้แก้เงื่อนไขการออก NPT ใหม่’ โดยไม่ต้องให้ซีพีได้ บีโอไอ  เพื่อไม่ให้ซีพีใช้เป็นข้ออ้างในการ ‘ยื้อ’ โครงการต่อไปอีก

มติบอร์ด รฟท. เมื่อวานนี้คงมีการ ‘พูดคุยเจรจานอกรอบ’ กับทางซีพีมาแล้ว ก่อนจะมีการประชุม อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายด่านที่ต้องให้ไฟเขียว ตั้งแต่คณะกรรมการกำกับสัญญา  คณะกรรมการอีอีซี รมต. กระทรวงคมนาคม ที่เป็นต้นสังกัด รฟท. และสุดท้ายต้องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 

จะไปได้ตลอดรอดฝั่ง เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ได้ออกจากสถานีเสียที  นอกจากจะขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทยที่คุมกระทรวงคมนาคม และบอร์ดอีอีซีว่า จะมี**‘ข้อต่อรอง’**อะไรให้โครงการไปต่อไหม  

ยังต้องถามใจซีพีว่า พอแล้วหรือยัง หรือจะขออีก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์