วิกฤตประเทศไทย คือ วิกฤตภาวะผู้นำ

ประเทศไทยยามนี้ มีประเด็นเห็นต่างในเรื่องเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤตไหม
ฝ่ายที่บอกว่าเศรษฐกิจวิกฤต คือ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และรัฐมนตรีบางคนในพรรคเพื่อไทย ซึ่งใครก็รู้ว่าเป็นข้ออ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรม ในการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท มาใช้ในโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล กอบกู้เศรษฐกิจให้พ้นวิกฤต
ตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง จนถึงวันนี้ 4 เดือนว่าแล้ว นายกฯ เศรษฐา ย้ำแล้วย้ำอีกว่า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่วิกฤต เวลามีวิกฤต ผู้รับผิดชอบต้องรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด นายกฯ บอกว่า เศรษฐกิจวิกฤตแต่ไม่เห็นทำอะไร โครงการแจกเงินดิจิทัล ถ้าไม่แท้งเสียก่อน กว่าจะแจกเงินได้ ต้องรอไปถึง เดือน พฤษภาคม
เท่ากับว่า รัฐบาลปล่อยให้เศรษฐกิจไทยจมอยู่ในวิกฤตนานเกือบปี โดยไม่ทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่มีอำนาจ ถ้าเป็นวิกฤต ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน เช่น ออกพระราชกำหนดกู้เงิน ซึ่งรัฐบาลทำได้ทันที แต่ไม่ทำ กลับใช้วิธีออกเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งใช้เวลานาน
ส่วนฝ่ายที่บอกว่า เศรษฐกิจไทย ไม่วิกฤต คือ สภาพัฒน์ฯ แบงก์ชาติ และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์หลายคน
สภาพัฒน์ฯ บอกว่า เศรษฐกิจยังเติบโตได้ดี แต่โตต่ำกว่าที่คาด เพราะการส่งออกไม่ดี การลงทุนภาครัฐติดลบ แต่การบริโภคภายในขยายตัว ถึง 8% สูงที่สุดในรอบ 20 ปี
แบงก์ชาติ บอกว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
เวลามีวิกฤตเศรษฐกิจ คือ ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ ล่มสลาย หยุดชะงัก บริษัทปิดกิจการพร้อม ๆ กัน จำนวนมาก เลิกจ้างพนักงาน กิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป
บ้านเราเคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 2 ครั้ง คือ ต้มยำกุ้ง ในปี 2540 เป็นวิกฤตระบบการเงิน และวิกฤตโควิด เมื่อปี 2563-2564 ที่มีการล็อคดาวน์ ธุรกิจทุกอย่างหยุดกิจการ คนตกงานเป็นจำนวนมาก
สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ยังห่างไกลคำว่าวิกฤตมาก
แต่ประเทศไทยกำลังมีวิกฤตอีกอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นมาแบบเงียบๆ คือ วิกฤตภาวะผู้นำประเทศ
ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีผู้นำ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีภาวะผู้นำ
4 เดือนกว่า ที่เศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนเคว้งคว้าง ประเทศเหมือนเรือไร้หางเสือ ขาดกัปตัน ไม่รู้ว่าจะมุ่งหน้าไปทางทิศไหน ชะตากรรมของประเทศฝากไว้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โครงการเดียวเท่านั้น
4 เดือนกว่าที่เศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี ผลงานเดียวที่พอจะนึกออกคือ ลดค่าไฟให้ต่ำกว่าต้นทุน ทุก ๆ 4 เดือน และลดค่าน้ำมัน โดยการลดภาษีสรรพสามิต ลดภาษีไวน์ และสุราพื้นบ้าน อย่างอื่นยังนึกไม่ออกว่า มีผลงานอะไร
เวลาพูดถึง นายกฯ เศรษฐา ภาพจำของประชาชน คือ ถุงเท้าสีแดง
รัฐบาลนี้ ไม่มีทีมเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจกระจายกันไปอยู่ตามพรรคต่าง ๆ พรรคใครพรรคมัน ไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่ประสานงานกัน เพราะทุกพรรครู้ว่า เศรษฐาไม่มีอำนาจ เป็นนายกรัฐมนตรีแต่ชื่อ เพราะการผลักดันของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะรัฐมนตรีคลัง เศรษฐาเอาแต่กดดันแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ย เรื่องอื่นไม่ทำ
การประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ใช้เวลาไม่เกินสองชั่วโมง เพราะไม่มีการหารือกันอย่างรอบด้าน ฟังความเห็นจากหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล และข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้อง เพราะเศรษฐาไม่ชอบฟัง ชอบสั่ง ข้าราชการระดับสูงที่เข้าประชุม เพื่อรายงานข้อมูล ในวาระที่เกี่ยวข้อง ถูกตัดบทกลางคันให้พูดสั้น ๆ เท่าที่จำเป็น
ผลการประชุม ครม. หลาย ๆ เรื่อง จึงไม่มีข้อยุติในคราวเดียว หรือแถลงไปอย่างหนึ่งแต่ทำไม่ได้ ตั้งแต่การประชุม ครม. นัดแรกเช่น การแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เป็น 2 งวดต่อเดือน การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ การลดค่าไฟฟ้า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ฯลฯ
ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนคาดหวังกับเศรษฐามาก ว่า จะเป็นผู้นำที่เก่ง มีความสามารถ นำประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้ เพราะเป็นถึง ซีอีโอ บริษัทอสังหาริมทรัพย์เบอร์หนึ่งของไทย แต่ 4 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐาไม่ได้แสดงให้เห็นว่า เก่งกว่า ดีกว่า นักการเมืองทั่ว ๆ ไปอย่างไร อาจจะด้อยกว่ารัฐมนตรีร่วมพรรค ร่วมรัฐบาลบางคนด้วยซ้ำ
ประเทศไทยวันนี้ หยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน
ประเทศไทยวันนี้ กำลังเกิดวิกฤตภาวะผู้นำ ที่ไม่รู้ว่า จะแก้อย่างไร
ข่าวร้าย คือ เศรษฐายืนยันอีกครั้งแล้วว่า จะเป็นนายกรัฐมนตรีครบ 4 ปี และมั่นใจว่า จะทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น
4 เดือน ประเทศไทยยังเป็นอย่างนี้ อีก 4 ปี ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ไม่อยากคิด!!!
######
กบต้มในดิจิทัลวอลเล็ต ตายช้าลงแต่ยังไงก็ตาย

ไม่เสียแรงที่เป็น อดีตขุนพลมือขวาของทักษิณ ชินวัตร ที่มีดีกรีเป็นตั้งแต่ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พลังงาน ไปจนถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กลับมาสู่ทำเนียบคราวนี้ ในฐานะเลขาธิการนายกฯ หมอมิ้ง พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช จึงต้องโดดออกมาเล่นบท ‘นายกฯ น้อย’ ช่วยแก้เกมให้ นายกฯ เศรษฐา ถุงเท้าหลากสี ที่กำลังใกล้ถึงทางตัน ในการแก้โจทย์สำคัญ ออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาแจกชาวบ้าน
ในเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่า รัฐบาลต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์ ว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤต หมอพรหมินทร์ ก็เลยไปยกทฤษฎีกบต้ม (The Boiled Frog Theory) ของ Tichyand Sherman ชาวไอริช เมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาใช้อธิบายสภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ว่าอยู่ในช่วง **‘วิกฤตซึมลึก’**ต่อเนื่อง เหมือนกบที่กำลังถูกต้มจากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆซึมยาวจนไม่รู้สึกตัว แต่กว่าจะรู้สึกตัวก็จะสายไปเสียแล้ว
หมอมิ้ง ถึงขนาดท้าวความว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีปัญหามาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่การส่งออกเริ่มมีปัญหาและมาย่ำแย่ช่วงโควิด-19 เนื่องจากมีปัญหาทั้งการส่งออกและท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจไทยตกลึกที่สุด
มาถึงปัจจุบันเศรษฐกิจไทยก็ยังคงไม่พื้นตัว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่เงินเฟ้อกลับติดลบ และโครงสร้างเศรษฐกิจไทยโตแบบไม่เท่ากัน ทำให้หนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมาอยู่ที่ระดับ 91.6% ของ GDP ซึ่งหากไปถามประชาชนร้านตลาดก็จะพบว่าเดือดร้อน จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเข้ามาแก้ไขปัญหา
ถึงไม่ได้ขยายความต่อว่า มาตรการเร่งด่วนนั้นหมายถึงการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แต่โดยนัยก็ชัดเจนว่า หมอมิ้ง กำลังลากเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่เหตุผลความจำเป็นในการออก พ.ร.บ.กู้เงินมาแจก ที่กำลังเป็นปัญหาว่าจะตีความคำว่า ‘วิกฤต’ อย่างไร
คำตอบ คือ เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤตซึมลึกที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนที่จะมีคนไทยจะมีสภาพเป็นกบต้ม และการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับคนไทย 50 ล้านคน คือหนทางที่เราจะพ้นจากสภาพกบต้ม
ความจริงในมุมมองของ หมอมิ้ง ก็ไม่ได้ผิด เพราะบรรดาคนในวงการธุรกิจ และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีอาการ ‘กบต้ม’ จริง ๆ
อาทิตย์ นันทวิทยา CEO ใหญ่ของ SCBx เอง ก็มองสอดคล้อง แถมยังเปรียบเทียบอีกว่า ไทยเราเหมือนกบที่มีหนังหนาทนทานเป็นพิเศษ จนอาจจะไร้ความรู้สึกร้อนหนาว สถานการณ์จึงซึมลึกมาจนถึงเวลานี้
CEO ของ SCBx ระบุว่า ที่ผ่านมาเรามีปัญหาเชิงโครงสร้างจนทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้า เนื่องจากยังคงพึ่งพาส่งออก และท่องเที่ยว ในขณะที่ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ส่งผลกระทบไปถึงคนระดับล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่มีรายได้ไม่พอรายจ่าย และเกิดปัญหาสะสมตามมาจาก ‘หนี้ครัวเรือน’ ทั้งในและนอกระบบ
ทั้งหมดจึงเหมือนกำลังรอเวลาที่จะถึง ‘จุดเดือด’ ที่จะทำให้กบตัวน้อย ที่หลงระเริงตัวนี้ต้องถูก ‘ต้ม’ ในน้ำเดือดขาดใจตายไปในที่สุด
แต่สิ่งหนึ่งที่หมอมิ้งตอบไม่หมดก็คือ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องใช้หลาย ๆ มาตรการในการแก้ปัญหา การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นถึงแม้อาจจะมีความจำเป็นแต่ก็อาจจะต้องพุ่งเป้าไปเฉพาะกลุ่มมากกว่าจะใช้ทฤษฎี เฮลิคอปเตอร์ โปรยหว่านให้กับคนไทยถึง 50 ล้านคนอย่างที่รัฐบาลตั้งใจจะดำเนินการ
ระเบิดเวลาลูกใหญ่ ในตอนนี้ที่ต้องเร่งแก้ คือ ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน ที่จำเป็นต้องหาแนวทางในการแก้หนี้ และเร่งหารายได้ให้กับบรรดาลูกหนี้ที่กำลังจะย้อนกลับมามีปัญหาอีกในไม่ช้า
ขณะเดียวกัน โจทย์ที่น่าจะสำคัญกว่า คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว ที่ต้องชัดเจนว่า จะขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางไหน และอย่างไร
สรุปง่าย ๆ คือ การเอาเงินไปแจกคนทั้งประเทศ โดยการกู้เงินถึง 5 แสนล้านบาทนั้น คงไม่สามารถทำให้ กบ รอดตายจากน้ำเดือด เพราะตราบใดที่ยังไม่ชักฟืนออกจากเตาไฟ ถึงแม้จะเติมน้ำเย็นใหม่เข้าไปสักเท่าไร
สุดท้ายกบก็ต้องตายเมื่ออุณหภูมิในหม้อค่อย ๆ สูงขึ้นจนถึงจุดเดือดอยู่ดี...
#######
ปรากฎการณ์ ‘สว.สีส้ม’ ไม่ง่ายอย่างที่คิด?!

เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ หลัง สว.ชุดปัจจุบันหมดวาระในเดือนพฤษภาคม
นักวิชาการบางคนเชื่อว่า ด้วยพลังแห่งการจัดการที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามของกลุ่มคณะก้าวหน้า จะถูกนำมาใช้เป็นโมเดลการเลือกตั้งสว.และจะนำไปสู่การสร้างปรากฎการณ์ ‘สว.สีส้ม’ ขึ้น
คงลืมไปว่า การเลือกตั้งตัวแทนประกันสังคมฝ่ายลูกจ้าง ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แค่ระดมคนในสังกัดไปลงทะเบียนให้มากแล้วไปใช้สิทธิกันให้หมด คะแนนที่ได้จึงเกาะกลุ่มกันมามืดฟ้ามัวดิน 6-7 หมื่นคะแนน ทิ้งห่างคนที่ 7 ที่ได้เพียงหนึ่งหมื่นเศษ
แต่สำหรับการเลือกตั้ง สว.หนนี้ เป็นการเลือกตั้ง ‘ทางอ้อม’ มีกลไกซับซ้อนพอ ๆ กับค่ายกลเจ็ดดาว ต้องผ่านการเลือกตั้งถึง 3 ด่าน
ด่านแรก ระดับอำเภอ ด่านที่สอง ระดับจังหวัด และด่านสุดท้าย ระดับประเทศ
โดยเอาผู้ชนะระดับอำเภอ มาแข่งกันที่ระดับจังหวัด และเอาผู้ชนะระดับจังหวัด เข้ามาแข่งกันระดับประเทศที่กรุงเทพฯ เพื่อคัดเอาผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดของ 20 กลุ่ม ๆ ละ 10 คน รวมเป็น 200 คน เข้าไปเป็น สว.และขึ้นบัญชีสำรองลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่มไว้
ที่สำคัญการเลือกตั้งทั้ง 3 ระดับ มีทั้งการเลือกกันเองในกลุ่มก่อน จากนั้น แบ่งสายเพื่อให้ผู้ชนะรอบแรกไป ‘เลือกไขว้กลุ่ม’ กันของแต่ละสายในรอบที่สอง
นอกจากนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สว.ทั้ง 20 กลุ่ม จะต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในสาขาอาชีพนั้นๆ มาไม่น้อยกว่า 10 ปี มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี และเสียค่าสมัครคนละ 2,500 บาท
ต้องจ่ายเงิน 2,500 บาท เพื่อเสนอตัวให้คนอื่นเลือกและเข้าไปเลือกคนอื่นเป็น สว.
ดูแล้วคงไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะไม่ใช่แค่ใช้การ ‘จัดการ’ แบบระดมคนงานในบริษัทหรือเครือข่ายไปลงทะเบียนขอใช้สิทธิ พอถึงวันเลือกตั้งก็ไปกาเบอร์ที่นัดแนะกันไว้แล้วจบอย่างเลือกตัวแทนลูกจ้างไปเป็นบอร์ดประกันสังคม
เพราะเลือกตั้ง สว.หนนี้ อำนาจไม่ได้อยู่ในมือของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50 ล้านคน เหมือนการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่เป็นของคนจาก 20 กลุ่มอาชีพ ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และต้องตีตั๋วใบละ 2,500 บาท เพื่อเข้าไปใช้สิทธิ
เปรียบเป็นโจทย์คณิตศาสตร์ การเลือกตั้งสว.ที่จะมีขึ้น จึงไม่ใช่แค่ 1+1 เท่ากับสอง แต่ยังต้องหารสองชั้น แถมถอดสแควร์รูทตาม กว่าจะ ซ.ต.พ. (ซึ่งต้องพิสูจน์) ได้ต้องผ่านหลายด่าน
ปรากฎการณ์ สว.สีส้ม จากบทสรุปการเลือกตั้งตัวแทนลูกจ้างประกันสังคมในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จึงไม่ง่ายที่จะนำมาใช้เป็นโมเดลเลือกตั้งสว.ที่จะมีขึ้นได้
ด้วยพลังแห่งอำนาจอันหอมหวลรัญจวนใจ ทำให้เริ่มมีการเคลื่อนไหวขึ้นทั้งในกลุ่ม สว.ชุดปัจจุบัน ที่พอมองเห็นช่องทางการเข้าสู่ตำแหน่งสว.ผ่านกระบวนการเลือกตั้งทางอ้อมที่ว่านี้ ได้ตระเตรียมวางตัวทายาท ผ่านการจัดตั้งตัวแทนในกลุ่มสาขาอาชีพต่าง ๆ กันล่วงหน้า
เช่นเดียวกับสื่อใหญ่บางคน ที่วางมือจากธุรกิจสื่อไปก่อนหน้านี้ ก็ออกไปวางเครือข่ายของตัวเอง แต่งตัวรอเข้ามาเป็นสว.ชุดใหม่ด้วยเช่นกัน
ส่วนจะมีใครฝ่าด่านเข้ามาเป็นสว.ชุดต่อไปได้บ้าง งานนี้ไม่ง่าย ให้รอดูของจริงกันตอน กกต.ประกาศผลในวันที่ 23 ก.ค.นี้