เงินหมื่นดิจิทัลถึงทางตัน จะไปต่อต้องลดไซส์

11 ก.ค. 2567 - 07:43

  • ปรับแล้ว ปรับอีก ปรับต่อ เงินหมื่นดิจิทัล

  • ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องไม่จบสิ้นว่าจะทำโครงการอย่างไร

  • สุดท้ายใช้เงิน ธ.ก.ส.ไม่ได้ ต้องหันไปใช้งบปี 68 แทน

economy-digitalwallet-app-money-SPACEBAR-Hero.jpg

การประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet  ที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานวานนี้  มีมติสำคัญคือ  ลดวงเงินงบประมาณจาก 500,000 ล้านบาท เหลือ 450,000 ล้านบาท โดยยังคงจำนวนผู้มีสิทธิ 50  ล้านคนเท่าเดิม

การลดวงเงินลง 50,000 ล้านบาท ทำให้ไม่ต้องใช้เงินจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว

‘จุลพันธ์’ ให้เหตุผลการลดวงเงินว่า จากการศึกษาข้อมูลโครงการช่วยเหลือของรัฐในอดีตพบว่ามีประชาชนมาลงทะเบียนไม่ถึง 100% และผู้มีสิทธิใช้จ่ายเงินประมาณ 80-90% เท่านั้น ดังนั้น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ‘อาจใช้เงินไม่ถึง’ 90% ของวงเงิน 500,00 ล้านบาท 

รู้ได้อย่างไรว่าคนที่ได้เงิน 10,000 บาทไปฟรี ๆ แล้ว จะมีคนใช้ไม่หมด ใช้ไปแค่ 9,000 บาท แล้วถ้า ทั้ง 50 ล้านคน ทุกคนใช้สิทธิ 10,000 บาทหมด แต่รัฐบาลเตรียมเงินไว้แค่ 450,000 ล้านบาท เงินไม่พอจะทำอย่างไร เข้าข่ายหลอกลวงสัญญาว่าจะให้ 10,000 บาท แต่ให้แค่ 9,000 บาท

จะไปยกเอาโครงการในอดีตซึ่งคงหมายถึง ‘โครงการคนละครึ่ง’ มาเป็นต้นแบบไม่ได้ เพราะโครงการคนละครึ่ง ผู้ใช้สิทธิต้องออกเงินตัวเองครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งรัฐออกให้ ผู้ใช้สิทธิก็เลือกใช้จ่ายเท่าที่ตัวเองต้องการ หรือจำเป็นเพราะต้องออกเงินเองครึ่งหนึ่งด้วย 

แต่โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต รัฐจ่ายให้หมดทั้ง 10,000บาท แรงจูงใจที่จะไม่ใช้เงินที่ได้แจกมาฟรี ๆ มีน้อยมาก

จะอย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อบอกว่าจะแจกเงินให้คน 50  ล้านคน ๆ ละ 10,000 บาท ก็ต้องมีเงินไว้ 500,000 ล้านบาท  ไม่ใช่เตรียมไว้แต่ 450,000 ล้านบาท  โดยคิดเอาเองว่า ‘เท่านี้ก็พอ’ เพราะจะมีคนที่ไม่มาลงทะเบียน คนที่ลงทะเบียนส่วนหนึ่งก็ใช้ไม่หมด 10,000 บาทหรอก

เหตุผลแท้จริงของการลดวงเงิน 50,000 ล้านบาท คือ ‘ใช้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ไม่ได้’ เพราะจะผิดวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ที่กฎหมายระบุว่าต้องเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรเท่านั้น

จุลพันธ์เองก็รู้ดี  ‘จึงไม่มีหนังสือไปถาม’ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าทำได้ไหม เพราะรู้คำตอบอยู่แล้ว 

แหล่งเงิน 500,000 ล้านบาท สำหรับโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล มาจาก 3 ส่วน คือ  

1.งบประมาณปี 2568 จำนวน152,700 ล้านบาท

2.งบประมาณเพิ่มเติม ปี 2567 หรือ งบกลาง 172,000 ล้านบาท 

3.งบประมาณจากหน่วยงานรัฐ หมายถึง ธ.ก.ส. 172,300 ล้านบาท   

ถ้าไม่ใช้เงิน ธ.ก.ส. 172,300 ล้านบาทแล้วเพราะ ‘ผิดกฎหมาย’ งบประมาณของโครงการจะเหลือแค่ 327,700  ล้านบาท  แม้จะลดวงเงินลงมาเหลือ 450,000  ล้านบาทแล้ว ก็ยังขาดอยู่ถึง 122,300 ล้านบาท 

จะเอาเงินก้อนนี้มาจากไหน ?

สำนักงบประมาณ เสนอในที่ประชุม คณะอนุกรรมการว่า ‘ใช้วิธีบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ’ ซึ่งไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร

ถ้าหมายถึงการไป ‘เฉือน’ งบประมาณของกระทรวงต่างๆที่จัดสรรไปแล้วมารวมๆกัน บอกได้เลยว่า ‘ยาก’ เพราะอย่าว่าแต่ รมต. กระทรวงต่างพรรคจะไม่ยอม กระทรวงของพรรคเพื่อไทยเองก็เถอะคง**‘ไม่มีใครยอม’** ถูกเฉือนงบฯไป **‘โปะ’**โครงการเงินหมื่นดิจิทัลหรอก

สุดท้ายแล้วถ้าจะให้โครงการแจกเงินดิจิทัลไปต่อได้ หนีไม่พ้นต้องลดขนาดโครงการให้เล็กลง  คือ ลดจำนวนผู้ได้รับสิทธิจาก 50  ล้าน  ลดลงไปสัก 10 ล้านคน เหลือ 40  ล้านคน  ก็จะพอดีกับเงินที่มีอยู่เพื่อโครงการเดินต่อไปได้  เพราะยังมีเรื่องใหญ่ๆที่เชื่อว่า รัฐบาลเองยังไม่มีคำตอบสุดท้ายเงินมาแล้วจะแจกยังไง แอปฯ จะเสร็จเมื่อไร เสร็จแล้วใช้ได้จริงไหม ฯลฯ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์