วันนี้เริ่มพูดกันหนาหูถึงรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ที่สิบเดือนผ่านไปยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันจับต้องได้ มีแต่ขายฝันถึงอนาคตไปวัน ๆ ต่างจากสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่กับปัจจุบันและทำเรื่องอนาคตควบคู่ไปด้วย
จึงไม่แปลกที่วันก่อนนายใหญ่ค่ายเพื่อไทย ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ถึงได้ออกมาบอกให้รอหลังเดือนสิงหาคมไปก่อน การทำงานของรัฐบาลจะมี ‘รูปธรรม’ ออกมา
เช่นเดียวกับคนในพรรคเพื่อไทยเอง ก็ออกมา ‘กระตุก’ แรง ๆ ให้นายกฯ เศรษฐา อยู่ทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลบ้าง ไม่ใช่เดินสายลงพื้นที่ตะบี้ตะบัน เพราะปัญหาของชาวบ้านวันนี้ บ้านถูกยึด รถถูกยึด พ่อค้าแม่ขายย่ำแย่ ขายของไม่ออก รอการแก้ไขอยู่
สอดคล้องกับตัวเลขดัชนีผู้บริโภคเดือนมิถุนายน ที่ศูนย์วิจัยและพยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงออกมาวันก่อนว่า ตัวเลข ‘ลดลง’ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 9 เดือน สาเหตุเพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง สินค้าราคาแพง และยังไม่เห็นมาตรการ**‘กระตุ้น’** เศรษฐกิจที่ชัดเจน
วันนี้จึงทำให้นโยบายเรือธง โครงการแจกเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ 10,000 บาท ที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงในช่วงเลือกตั้ง เป็นความหวังเดียวที่จะนำมากระตุ้นการใช้จ่าย แม้จะช่วยอะไรได้ไม่มากนักก็ตาม
แต่ในทางกลับกัน หากนโยบายเรือธงนี้ไปต่อไม่ได้ ก็จะเป็น ‘บูมเมอแรง’ ย้อนกลับมาทำลาย เศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทยเสียเอง หากท้ายสุดแล้วไม่สามารถแจกเงินหมื่นบาทให้กับประชาชนตามที่รับปากไว้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้
เพราะโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ถูก ‘เลื่อนแล้วเลื่อนอีก’ พร้อมปรับเงื่อนไขกลับไปกลับมา ทั้ง ๆ ที่เดิมบอกใช้เวลาคิดมาเป็นปีและมีรายละเอียดครบทั้งหมด แต่ต่อมากลับอธิบายว่าที่ต้องปรับเงื่อนไขต่างๆ ใหม่ ก็เพราะ **‘รับฟังเสียงสะท้อน’**จากประชาชน
ไม่ว่าจากไม่กู้เงิน มาเป็นการกู้เงิน การขอใช้เงินบางส่วนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) แต่ต่อมาไม่ใช้เงินจาก ธ.ก.ส.แล้ว โดยจะไปใช้วิธี ‘บริหารจัดการ’ งบประมาณปกติ จากงบประมาณปี2567 และปี2568 แทน
ช่วงสายวันนี้ สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายกลางปี2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะเปิดลงทะเบียนกันในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
ทว่าการปรับแผนไม่ใช้เงินจาก ธ.ก.ส.มาใช้วิธีบริหารจัดการงบประมาณแทน กำลังจะเจอเข้ากับ ‘กับดักใหม่’ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.เงินตรา ที่ไม่เปิดช่องให้ทำแบบ ‘ขยักขย่อน’ ชนิดที่แจกเงินดิจิทัลไปตูมเดียว แต่ยังไม่มีเงินบาทตามจำนวนที่แจกไปมากองอยู่ตรงหน้า อาจเข้าข่ายขัดพ.ร.บ.เงินตรา
นี่ยังไม่นับการเกลี่ยงบประมาณจากโครงการต่าง ๆ ที่เสนอรายละเอียดต่อสภาในวาระรับหลักการไปอย่าง แต่กลับเล่นแร่แปรธาตุนำมาทำอีกอย่างหนึ่ง ซุกงบกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ในหมวดงบลงทุน หรือการใช้งบเหลื่อมปี ลงทะเบียนแจกเปิดหัวไว้ก่อนแต่ไม่ได้ใช้จริง
สาระพัดความไม่ชัดเจนในการแจกเงินหมื่นของรัฐบาล ถูกนำไปโยงกับ ‘คดีถอดถอน’ นายกฯ เศรษฐา ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแนวโน้มศาลจะ ‘นัดฟังคำตัดสิน’ ต่อจากคดียุบพรรคก้าวไกลภายในเดือนสิงหาคมเช่นกัน ซึ่งมีบางคนมองข้ามช็อตไปล่วงหน้าว่า ต่อให้รอดจากคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญไปได้ก็เถอะ
แต่หากไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายเรือธง แจกเงินหมื่นบาทให้กับประชาชนตามที่รับปากไว้ได้ นายกฯ เศรษฐา น่าจะถึงคราวต้องปิดฉากชีวิตการเมืองลง โดยนโยบายเรือธงที่ว่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องประหาร ที่ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30
เพราะในเมื่อไม่ใช้เงินจาก ธ.ก.ส.ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และงบกลางปี2567 ก็ผ่านสภาวาระแรกไปแล้ว วันอังคารหน้าก็นำเข้าครม.ขอความเห็นชอบ เสร็จแล้วก็ไม่ต้องเสียเวลาไป ‘ถามกฤษฎีกา’ อีก เพราะเป็นการใช้งบประมาณปกติ
เมื่อทุกอย่างเปิดทางโล่งแบบนี้ แถมตัวเลขดัชนีผู้บริโภคเดือนมิถุนายน ก็เป็นใจให้ ‘เร่งปั๊ม’ การใช้จ่าย เพื่อหนุนให้ตัวเลขจีดีพีโตที่ 2.8 - 3% ตามที่ตั้งเป้าไว้ ถ้าไม่เร่งแจกเงินหมื่นตอนนี้แล้วจะรอไปแจกกันตอนไหน
เว้นเสียแต่จะเจอโรคเลื่อนซ้ำ วันที่ 1 สิงหาคมนี้ เปิดลงทะเบียนไม่ได้ เพราะ ‘ซูเปอร์แอป’ ยังทำไม่เสร็จ ไม่ผ่านการทดสอบอย่างที่ผู้ว่าแบงก์ชาติทักท้วงไว้ แถมยังติดกับดักเก่าใหม่ไปเรื่อย ๆ จนลากยาวข้ามปี
ถึงตอนนั้น ถ้านายกฯ เศรษฐายังอยู่ นโยบายเรือธงจะถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องประหารแทน!!