พลันที่บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือทางด่วนโทลล์เวย์ ออกประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทาน เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า
‘ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ เวลา 00:01น. บริษัทฯ จะปรับอัตราค่าผ่านทางที่คู่สัญญาสัมปทานกำหนดตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 กันยายน 2550 สำหรับรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2572’
พร้อมกับแนบตารางอัตราค่าผ่านทางในแต่ละระยะที่จะปรับเพิ่มมาให้ด้วย
ผลของการปรับราคาในครั้งนี้ ทำให้ค่าผ่านทาง ‘ดอนเมืองโทลล์เวย์’ ที่ปัจจุบันจัดเก็บในอัตราที่สูงอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับทางด่วนสายอื่น ๆ จะยิ่งสูงเพิ่มขึ้นอีก จากราคา 110 บาท เพิ่มเป็น 130 บาท และสูงสุดที่ 170 บาท
จึงได้ชื่อเป็นทางด่วนสายสั้นที่สุดแต่ค่าผ่านทางแพงที่สุด
หลังทราบข่าว ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รองนายกฯ และรมว.คมนาคม ออกมา ‘ติดเบรก’ แบบสวนควันปืน บอกได้โทรศัพท์ไปคุยกับ ‘สมบัติ พานิชชีวะ’ ประธานกรรมการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง ให้ ‘ชะลอ’ การปรับขึ้นค่าผ่านทาง เนื่องจากประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน และจากการพูดคุยได้ข้อสรุปเบื้องต้นเอกชนยินดีให้ความร่วมมือ
ฟังเผิน ๆ เหมือนดูดี ที่ฝ่ายการเมืองมีความ ‘กระตือรือร้น’ เอาใจใส่ต่อปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนแบบไม่รั้งรอ แต่พอได้เห็นประโยคถัดไปที่ว่า
‘มีเงื่อนไขขอให้ภาครัฐพิจารณาชดเชยในลักษณะคล้ายกับการเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ บีอีเอ็ม ที่ขยายสัญญาสัมปทานแลกกับการปรับโครงสร้างอัตราค่าผ่านทางลงเหลือ 50 บาทตลอดสาย จึงได้ให้กรมทางหลวง คู่สัญญาโครงการทางด่วนโทล์ลเวย์ ศึกษารายละเอียด หากปรับลดค่าผ่านทางลงจะต้องขยายสัญญาสัมปทานเพิ่มอย่างไร โดยคาดว่าจะศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 2 – 3 เดือนนี้’
ตรงอย่างหลังนี้แหละ!!
ที่ไปเข้าทางเอกชน และเป็นสูตรสำเร็จของการแก้ปัญหาความไม่ลงตัวระหว่างหน่วยงานรัฐกับเอกชนมาหลายต่อหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการขอขึ้นราคา แต่ถูกเบรกเอาไว้ด้วยเหตุผลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ไปจนถึงกรณีข้อพิพาทฟ้องร้องเป็นคดีความกัน
สุดท้ายมาจบที่การไกล่เกลี่ย ‘ยื่นหมูยื่นแมว’ ให้กัน เอกชนยอมไม่ขึ้นราคาก็ได้ ยอมยุติคดีไม่ฟ้องร้องก็ได้ แถมเพิ่มเงื่อนไขสร้างส่วนต่อขยายแก้ไขปัญหารถติดให้ด้วย แต่มีข้อแม้ต้องขยายอายุสัมปทานที่กำลังจะสิ้นสุดลง ยืดอายุสัญญาให้เก็บค่าผ่านทางกินไปแบบยาวๆ อีก 10-20-30 ปี แล้วแต่จะตกลงกัน
หนนี้ก็เหมือนกัน ที่เอกชนยอมไม่ขึ้นค่าผ่านทางดอนเมืองโทลเวย์ แต่รัฐต้อง ‘ชดเชย’ จะเป็นเงิน หรือการต่ออายุสัมปทานออกไป หรือให้เอกชนลงทุนขยายเส้นทางจากรังสิตไปถึงบางปะอิน แล้วเก็บค่าผ่านทางตลอดสายไปอีก 30 ปี
งานนี้ไม่ลอกการบ้าน ก็เหมือนรู้ข้อสอบล่วงหน้า หรือไม่แน่อาจจะไปตกลงกันมาก่อนแล้วก็ได้ จึงทำให้ทั้งรัฐมนตรีและเอกชนคิดหาทางออกได้ตรงกัน
แต่อย่าลืมว่า การขยายสัญญาให้ทางด่วนโทลเวย์ 3 ครั้งที่ผ่านมา พร้อมยืดอายุสัมปทานที่เดิมต้องสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี2557 ไปสิ้นสุดในปี2577 นั้น มีบางเรื่องที่ยังเป็นคำถามอยู่
โดยเฉพาะการ ‘ชดเชย’ รายได้จากการปิดใช้สนามบินดอนเมืองในปลายปี2549 ตามการแก้ไขสัญญาฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 กันยายน 2550 ที่แถมพ่วงด้วยการให้ปรับขึ้นค่าผ่านทางล่วงหน้าทุก 5 ปี จนกว่าจะครบสัญญาโดยไม่ต้องขออนุมัตินั้น
ในเวลาต่อมาอีก 5 ปี สนามบินดอนเมืองได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ผ่านมาถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 12 ปี แต่ไม่เห็นมีใครไปขอ ‘ทบทวนสัญญา’ กับเอกชนผู้บริหารทางด่วนโทล์ลเวย์ใหม่ว่า รายได้ที่ขาดหายไปได้กลับมาเหมือนเดิมแล้วและอาจมากกว่าด้วยซ้ำ จะทำอย่างไร?
กลายเป็นอ้อยเข้าปากช้าง นอกจากไม่คืนแล้วยังจะมาปรับขึ้นราคาทุก 5 ปี ตามสัญญาอีก
เช่นเดียวกับการปรับขึ้นราคาในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะที่อ้างการลงทุนในส่วนต่อขยายเพิ่ม ทำไมไม่คิดราคาเพิ่มเฉพาะช่วงที่เป็นส่วนต่อขยาย แต่กลับให้เก็บเพิ่มตั้งแต่ต้นทางที่ดินแดงทุกครั้งไป ไม่นับการเปลี่ยนแปลงสัญญาฉบับที่ 2/2539 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 ที่กระทรวงการคลัง ต้องควักเงินจ่ายให้ด้วย จำนวน 3,000 ล้านบาท
หนนี้เมื่อฝ่ายการเมืองกับเอกชนจะยื่นหมูยื่นแมวกันอีกรอบ
เริ่มมีหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากจะใช้วิธีเอา **‘กุ้งฝอยมาตกปลากะพง’**ไม่ขึ้นราคาแล้วแลกกับการขยายสัมปทานเก็บกินยาวไปอีก 30 ปี สู้ยอมเจ็บให้โขกราคาต่ออีกสองรอบ ครบสัญญาปี2577 แล้วให้กรมทางหลวงเอามาบริหารเอง ถึงตอนนั้นจะให้ขึ้นฟรีก็ยังได้
หรืออย่างมากก็นำกลับมาเปิดประมูลใหม่ ไม่ใช่ปล่อยให้ ‘เสือตัวเก่า’ เก็บกินยาวกันเป็นชาติ
ถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันตรวจสอบ อย่าปล่อยให้นักการเมืองใช้อำนาจแก้ปัญหาแบบเตะหมูเข้าปากสุนัข จะได้ไม่ต้องเสียค่าโง่กันแบบซ้ำๆ อีก