‘ขอยืนยันว่า EA ไม่เหมือน STARK และไม่ใช่ STARK แน่นอน เพราะเรามีทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่เหมาะสม ธุรกิจโรงไฟฟ้ามีกำไรต่อเมกะวัตต์เติบโตดีกว่าคู่แข่งรายอื่นเสมอมา มีกระแสเงินสดจากรายได้ค่าไฟฟ้าเข้ามาประมาณ 1,000ล้านบาทต่อเดือน’
คนพูดคือ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ อดีตซีอีโอ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ในการแถลงข่าวครั้งสุดท้าย ก่อนจะกลายเป็น **‘ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง’**บริษัท และฟอกเงิน ตามข้อกล่าวหาของ ก.ล.ต ในเร็ววันนี้
ถูกต้องแล้วที่บอกว่า EA ไม่เหมือน STARK เพราะในแง่ความเสียหายต่อผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้เงินกู้ เจ้าหนี้หุ้นกู้ EA เสียหายหนักกว่าเยอะ
ตัวเลขคร่าว ๆ เฉพาะหนี้ STARK มีหนี้ที่เป็น ‘เงินกู้สถาบันการเงิน’ 8,600 ล้านบาท หนี้หุ้นกู้5 รุ่น รวมมูลค่า 9,198.4 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นกู้ เกือบ 5,000ราย
รวม ๆ แล้ว เป็นหนี้ทั้งหมด 17,798 ล้านบาท ที่เจ้าหนี้ทั้งธนาคารทั้งผู้ถือหุ้นกู้ถูกผู้บริหารโกงไป
ในขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สรุปมูลค่า ‘ความเสียหาย’ ที่พบในงบการเงินของSTARK รวมกว่า 2.15 หมื่นล้านบาท ก้อนใหญ่สุดคือ การซื้อวัตถุดิบ และสินค้าจากซัพพลายเออร์ ที่ ‘สูงเกินจริง’ ถึง 1.04 หมื่นล้านบาท และการ **‘ปั้น’**ตัวเลขรายได้ ลูกหนี้สูงเกินความเป็นจริงไป 7.76 พันล้านบาท
ส่วนของ EA ยอดหนี้ล่าสุด ที่ถึงกำหนดชำระภายในปีนี้ 19,505 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ระยะยาว 5,659 ล้านบาท เงินกู้ระยะสั้น 8,354 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี 5,492 ล้านบาท
ดูแค่นี้เหมือนจะไม่เยอะ แต่นี่แค่หนี้ที่จะต้องชำระภายในปีนี้ ถ้าไปดูหุ้นกู้ทั้งหมด EA ออกหุ้นกู้ไปแล้ว 16 ชุด มูลค่ารวม 31,166 ล้านบาท ‘มากกว่า STARK 3 เท่าตัว’ หุ้นกู้ทั้ง 16 ชุด ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ครบกำหนดไถ่ถอน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมปีนี้ ไปจนถึงกลางปี 2533
หุ้นกู้ทุกชุดมีเงื่อนไข cross default คือ ถ้า EA ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ย หรือคืนเงินต้น หุ้นงวดรุ่นใดรุ่นหนึ่ง หุ้นกู้ที่เหลือทั้งหมด จะผิดนัดชำระหนี้ทันที เจ้าหนี้สามารถฟ้องให้ชำระเงินต้นได้
สมโภชน์ บอกว่า โรงไฟฟ้า EA มีกระแสเงินสดดี มีรายได้เดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาท สามารถชำระดอกเบี้ย หุ้นกู้ได้แน่นอน
ไปดูของจริงจากงบการเงินไตรมาส 1 / 2567 ของ EA 3 เดือนมีรายได้ 5,881 ล้านบาท กำไรแค่ 888.70 ล้านบาท เฉลี่ยกำไรแค่เดือนละ 200 กว่าล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปีที่แล้ว ถึง 61 % เพราะว่าโรงไฟฟ้าโซล่าที่นครสวรรค์ หมดสัญญาสิ้นเดือนธันวาคม 2566 ไม่ได้รับเงินอุดหนุน หรือค่า adder จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตหน่วยละ 6.50 บาทอีกแล้ว กำไรจึงลดลง จน EA ปิดโรงไฟฟ้านี้ ‘เลิกกิจการ’ ไปแล้ว
รายได้ของ EA ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มาจากการขายไฟฟ้า พลังงานแดด และลม ให้ กฟผ. และ กฟภ. โดยได้รับเงินอุดหนุน ค่า adder ตั้งแต่หน่วยละ 3 บาทสำหรับพลังงานลม ไปจนถึงหน่วยละ 8 บาท สำหรับพลังงานแดด ตามนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนของรัฐ
ค่า adder ซึ่งเป็น ‘กำไรเหนาะๆ’ สบาย ๆ ของ EA ถูกผลัก ‘ภาระ’ ไปให้ผู้ใช้ไฟ แบบไม่รู้ตัว เป็นค่า FT ในหมวด ‘ค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ’ ปีหนึ่ง ๆ ค่า adder ที่เป็นต้นทุนค่าไฟสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของEAและผู้ประกอบการอื่น ๆ อีกกว่า 40 โรง มีมูลค่ามากถึง 4 – 5 หมื่นล้านบาท
สัญญาขายไฟที่มีค่า adder ของ EA หมดไปแล้ว 1 โรงที่นครสวรรค์ โรงไฟฟ้าลำปางจะหมดในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า โรงไฟฟ้ากังหันลม หมดสัญญาไล่เลี่ยกันในกลางปี 2570
รายได้จากค่า adder ของEA มีแต่จะ ‘ลดลง’ และหมดไปในอีก 3 ข้างหน้า EA พยายามหาธุรกิจทดแทนคือ ขยายตัวเข้าไปในอุตสาหกรรมรถอีวี ซึ่งมีการแข่งขันรุนแรง และไม่มีเงินอุดหนุนเหมือนขายไฟ ขณะเดียวกันก็ใช้วิธี **‘สร้างเรื่องเล่า’**ขายนักลงทุนว่า ไปลงทุนที่ลาวบ้าง จีนบ้าง จะทำเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ สร้างอีโคซีสเต็มส์ EV
บังเอิญสำนักงาน ก.ล.ต ‘ตื่นจากหลับ’ หลังจากดองเรื่องไว้ 7 ปี แจ้งข้อหา สมโภชน์กับพวกว่า ‘ทุจริต’ ผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัท ทำให้น้ำลดตอผุด
EA ไม่ใช่ STARK แต่เหมือน STARK คือ ผู้บริหารถูกกล่าวหาว่ามี ‘พฤติกรรมฉ้อโกง’ บริษัท และผู้ถือหุ้น จะต่างกันตรงที่ความเสียหายที่เฉพาะหนี้หุ้นกู้มากกว่า หนักกว่า STARK หลายเท่า ถึงขั้นส่งผล ‘สะเทือน’ ครั้งใหญ่ต่อการลงทุนในตลาดทุน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วไป
EA ยังเหมือน STARK ตรงที่ผู้เสียหายไม่ได้มีเฉพาะนักลงทุนทั่วไป แต่แบงก์ใหญ่โดนไปเต็ม ๆ ด้วยโดยเฉพาะแบงก์ไทยพาณิชย์ หรือ SCB ที่เป็นเจ้าหนี้หลักทั้งของ STARK และ EA ทำให้ชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธาน STARK ที่หนีคดีไปอยู่ที่ดูไบ เกือบปีไปไม่รอด ถูกจับตัวกลับมาดำเนินคดีถึงแม้ว่า ดูไบกับไทยจะไม่มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ตาม