ความผิดพลาดของ ‘เศรษฐา’ ทิ้ง EEC ไปขายฝัน ‘แลนด์บริดจ์’

19 ม.ค. 2567 - 09:25

  • โครงการ EEC ที่ลงมือทำตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกปล่อยทิ้ง

  • รัฐบาลเพื่อไทย หันมาปั้นโครงการแลนด์บริดจ์แทน

  • ในขณะที่รายละเอียดโครงการแลนด์บริดจ์ ยังไม่สมบูรณ์ เป็นเพียงภาพร่างในฝันเท่านั้น

economy-eec-thailand-SPACEBAR-Hero.jpg

มันอาจจะไม่ผิดในการที่ นายกรัฐมนตรี ถุงเท้าหลากสี เศรษฐา ทวีสิน จะถูกจริตกับ การแสดงบทบาทผู้นำของไทย ในการเดินสาย ‘โรดโชว์’ ไปในทุกเวทีสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นเวทีสหประชาชาติ APEC ASEAN หรือ แม้แต่ล่าสุด World Economic Forum ที่ดาวอส สวิสเซอร์แลนด์ 

ที่ต้องบอกแบบนี้ ก็เพราะตัวนายกฯ เศรษฐาเองก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ‘รักและหลงใหล’ กับบทบาทในตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในเวลานี้มาก เพราะทำให้เขามีโอกาสได้ยกระดับขึ้นไปเทียบชั้นกับบรรดาผู้นำรัฐบาล และนักธุรกิจชั้นนำของโลก จึงทำให้ตลอดสี่เดือนที่ผ่านมาเขาสนุกกับการเดินสายออกไปปรากฎตัวในเกือบทุกเวทีการประชุมใหญ่ ๆ ของโลก ในฐานะ **‘เซลล์แมน’**ของประเทศไทย

แต่ นายกฯ เศรษฐา กำลัง ‘พลาด’ อย่างแรง ที่ไปดึงโครงการแลนด์บริดจ์ มาเป็นจุดขาย ทั้ง ๆ ที่โครงการนี้ยังเป็นเพียงภาพร่างในฝัน ยังเป็นเพียง Conceptual Paper ที่ทำได้แค่การขายไอเดีย และแนวคิด ไม่ต่างอะไรกับการขายโปรเจคของบรรดาธุรกิจ Start Up ที่ต้องการแสวงหารัฐบาล หรือ นักลงทุนที่สนใจเข้ามาร่วมทำการศึกษาในรายละเอียดความเป็นไปได้ของโครงการในเชิงลึกอีกหลายด้าน ซึ่งกว่าจะเห็นโครงการนี้เป็นรูปเป็นร่างจริงๆก็คงต้องใช้เวลาอีกแรมปี

มันอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ผิดอีกเช่นกัน เพราะดูจะเป็นธรรมชาติของการเมืองแบบไทย ๆ ที่พรรคการเมืองซึ่งมีโอกาสเข้ามานั่งเป็นแกนนำในการบริหารประเทศ มักจะไม่อยากสืบทอดมรดกทางการเมือง หรือ ดำเนินนโยบายในด้านต่าง ๆ ที่เหยียบรอยเท้าเดิมของรัฐบาลชุดก่อน ยิ่งหากเคยอยู่ฝั่งตรงข้ามกันมาก่อนหน้านี้ 

เพราะเหตุนี้ในช่วงหาเสียง พรรคเพื่อไทย ที่ชูเศรษฐา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จึงต้องพยายามที่หา ‘จุดขาย’ ใหม่ ๆ เพื่อให้ได้ฐานเสียงจากคนส่วนใหญ่

จุดขายสำคัญของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน คือ การสร้างภาพว่ารัฐบาลของนายกฯ ลุงตู่ ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ และมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

พรรคเพื่อไทยวางจุดขายในเรื่องเศรษฐกิจเอาไว้  3 เรื่องที่มุ่งหวังว่าหากประสบความสำเร็จจะได้ ‘ทั้งเงินทั้งกล่อง’ หวังกวาดคะแนนนิยมจากระดับรากหญ้า ทั้งโครงการแจกเงินดิจิตอลให้กับคนไทยคนละหมื่นบาท โครงการสนับสนุน Soft Power และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 

แต่ผ่านไปกว่าสี่เดือน จุดขายทั้ง 3 เรื่อง ยิ่งนับวันยิ่งห่างไกลจากความสำเร็จ และมีปัญหาติดขัด กลายเป็น ‘หนังไม่ตรงปก’ ฝันไกลแต่ไปไม่ถึง จนฉุดเรทติ้งของรัฐบาลตกฮวบฮาบ ทำให้ตลาดหุ้นดิ่งเหวไม่ฟื้นมาจนถึงเวลานี้ 

อาจเป็นเพราะเหตุนี้ รัฐบาลจึงต้องพยายามหาจุดขายใหม่ ซึ่งหลังจากมอง‘ไพ่’ ที่ถืออยู่ในมือ นายกฯ เศรษฐาก็แอบไป ‘ปิ๊ง’ กับไอเดียการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ของพรรคภูมิใจไทย ปฎิบัติการ ‘ไฮแจค’ ปล้นกลางแดด คว้าโครงการแลนด์บริดจ์มาเป็น ‘เรือธง’ลำใหม่ของรัฐบาลจึงเกิดขึ้น

แต่การจั่วไพ่ใบใหม่ คือ โครงการแลนด์บริดจ์ อาจจะเป็นจุด**‘พลาด’** อีกครั้งของ รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ที่กลับไปลดความสำคัญของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ทั้ง ๆ ที่ตลอดเกือบ 9 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้มีการพัฒนาไปอย่างมาก โดยเฉพาะการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนตั้งโรงงาน โดยมี 5 cluster หลัก คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (รถ EV) อิเลคโทรนิคส์ อัจฉริยะ (Smart Tech) ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (BCG) และ แปรรูปอาหาร (Food)  

แต่ปัจจุบันโครงการ EEC เริ่มส่ออาการ ‘เครื่องดับ’ เนื่องจากรัฐบาลชุดใหม่ของนายกฯ เศรษฐา

กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้าง ECO system ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้ออำนวยให้กับภาคเอกชนที่สนใจจะเข้ามาลงทุน

เห็นได้ชัดจากโครงการรถไฟความเร็วสูง ไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มี เอเชีย เอราวัน ในเครือซีพี เป็นคู่สัญญา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญ ที่กำลังมีปัญหาติดขัด และกำลังขอขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งกำลังจะหมดอายุในวันจันทร์ที่ 22 มกราคมนี้ 

ปัญหาทั้งหมดเกิดจากภาคเอกชนต้องการรอแก้ไขสัญญาใหม่ในหลาย ๆ ส่วนกับ รฟท. แต่การเจรจายังไม่เรียบร้อย จึงไม่สามารถออกหนังสือเริ่มงาน NTP ให้กับเอกชน ทำให้ต้องทำเรื่องไปขอขยายระยะเวลาการออกบัตรส่งเสริมลงทุนจาก บีโอไอไปอีก 4 เดือน

ประเด็นปัญหาเรื่องการแก้ไขสัญญาระหว่าง รฟท.กับภาคเอกชนที่ได้สัมปทานยืดเยื้อมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว แต่มาจนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่รัฐบาลจะต้องรีบเข้ามาตัดสินใจไม่ปล่อยให้โครงการหยุดชะงัก ที่อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

ทั้งหมดจึงเป็นตัวอย่างของความผิดพลาด ทั้ง ๆ ที่ EEC ควรจะเป็นกุญแจสำคัญที่ตอบโจทย์ของกระแสเศรษฐกิจการลงทุน ที่ประเทศไทยกำลังต้องการเม็ดเงินจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ที่อาจจะเป็นจุดที่ช่วยพลิกฟื้นให้เศรษฐกิจไทยกลับมามีศักยภาพในการเติบโตไปสู่ยุคใหม่ไปอย่างน่าเสียดาย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์