สัปดาห์ที่แล้วระหว่างเดินสายเป็น ‘เซลล์แมน’ ขายผ้าขาวม้าอยู่ที่ยุโรป และสภาพัฒน์ฯมีการแถลงตัวเลข GDP ไตรมาสแรกออกมา ซึ่งมีอัตราเติบโตเพียง1.5% ต่ำสุดในอาเซียน นายกฯเศรษฐา ทวิสิน ดูจะมีอาการร้อนรนเป็นพิเศษ ซึ่งอาจเป็นเพราะมี ‘ฮ็อตไลน์’ สายตรงมาจาก ‘Tony’ นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า ที่ให้คำปรึกษาแกมบังคับว่า ต้องรื้อฟื้นให้มีการประชุม ครม.เศรษฐกิจขึ้นมาเป็นการด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาคงเพราะเหตุนี้ นายกฯนิด จึงมีท่าที ‘ขึงขัง’ เปิดเผยผ่าน ‘X’ หรือ ทวิตเตอร์ส่วนตัวเกือบจะทันทีว่า จะเรียกประชุม ครม. เศรษฐกิจ ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ( 27 พฤษภาคม 2567) เพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยที่กำลังอ่อนแรง และ ‘หายใจรวยริน’ ใกล้จะเข้าสู่อาการ ‘โคม่า’ มากขึ้นทุกขณะ
โดยสั่งให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเร่งทำการบ้าน เพื่อจะมาระดมสมองหาแนวทางต่าง ๆ ในการออกมาตรการ ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ ช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและธุรกิจขนาดเล็กที่กำลังประสบปัญหา
สิ่งที่ประชาชนคาดหวังก็คือ การประชุมคราวนี้จะต้องมีลักษณะเหมือน ‘War Room’ ที่มีนายกฯ เศรษฐา นั่งเป็นประธานและ ‘ทุบโต๊ะ’ ตัดสินใจ หลังจากมีการระดมสมองกันอย่างหนัก โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจคงจะทำการบ้านมาอย่างดี เพื่อนำเสนอแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลางให้ที่ประชุมตัดสินใจ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับตรงข้ามโดยสิ้นเชิง หากฟังจากผลประชุมที่ออกมา คือ ที่ประชุมจะมีการประชุมอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า ???!!!???
การประชุม ครม.เศรษฐกิจคราวนี้ แทนที่จะช่วยดึงความเชื่อมั่นกลับมาให้กับตลาดเงิน-ตลาดทุน จึงกลับกลายเป็นการ ‘ฉุด’ ความมั่นใจ ทำให้หลายๆคนในแวดวงนักวิชาการ กูรูด้านเศรษฐศาสตร์ และตลาดเงินตลาดทุนต่างมีอาการ ‘ปลง’ กับวิธีการทำงานของรัฐบาล เพราะผ่านมา 10 เดือน ยังคงมีสภาพเหมือน ‘ตาบอดคลำช้าง’ ไม่ต่างอะไรกับคนมือใหม่หัดขับ และขาด Sense of Urgency อย่างแรง เพราะยังคงไม่เข้าใจถึงความรุนแรงของปัญหาเศรษฐกิจในตอนนี้
เพราะแม้แต่ตัวนายกฯ เศรษฐา ก็ยังคง ‘บริหารงานด้วยปาก’ เพราะหลังประชุมก็รีบเก็บเสื้อผ้า เหน็บผ้าขาวม้า ขึ้นเครื่องบินไปแสดงวิสัยทัศน์ในงาน UBS Asian Investment Conference 2024 ที่ฮ่องกงอีกแล้ว
หากพยายามถอดความเห็นจากที่ประชุม เราจะพบความจริงที่น่าเศร้าว่า นอกเหนือจากรัฐบาลยังคงวนเวียนกับการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแรง ทั้ง ๆ ที่หากพลิกรายงานสภาวะเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ฯ ในไตรมาสแรกก็แจกแจงไว้หมดแล้ว
สิ่งที่สำคัญที่ War Room เศรษฐกิจ ‘สอบตก’ อย่างชัดเจน คือยังคงไม่มองไปข้างหน้า ในการพิจารณาตัดสินใจกำหนดเป้าหมาย การดำเนินการรวมทั้งมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาแบบเป็นรูปธรรมแม้แต่เรื่องเดียว
รัฐบาลควรตระหนักอยู่แล้วว่าปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว เป็นผลโดยตรงมาจากความ ‘ล่าช้า’ ของการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ของรัฐบาลเอง ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำทันทีคือการออกมาตรการ Fast Track เร่งรัดการเบิกจ่ายงบปี2567ให้เร็วขึ้นเป็นกรณีพิเศษ
เช่นการจ่ายเงินค่างวดงานในช่วงต้นของสัญญาให้กับภาคเอกชนที่รับงานราชการให้เร็วและมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อให้เม็ดเงินไหลลงไปสู่ระบบ
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังก็ควรมีข้อเสนอ ‘มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น’ แบบเร่งด่วนที่เป็นรูปธรรม ว่าจะนำมาตรการอะไรมาใช้ ในวงเงินมากน้อยแค่ไหน ระหว่างที่ต้องรอเม็ดเงินจากโครงการแจกเงินหมื่น ดิจิทัลวอลเล็ต ที่รัฐบาลยังคงวุ่นวายอยู่กับการหาแหล่งเงินถึง 5 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการ
ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือปัญหาเรื่องสภาพคล่องของธุรกิจ SMEs โดยการให้ ‘บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม’ หรือ บสย.ออกโครงการ PGS รอบที่ 11 เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับ SME รายใหม่ นอกเหนือจากการกำหนดกรอบวงเงินไว้ 5 หมื่นล้านบาท ก็ควรจะต้องสรุปรายละเอียดให้ชัดว่าจะให้ บสย.ดำเนินการอย่างไร
ส่วนโจทย์ในการที่จะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซั่นส์ ไปยังประเทศกลุ่มตะวันออกกลางนั้น ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ ‘ไม่ได้มีอะไรใหม่’ จากแผนและเป้าหมายเดิมของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ดำเนินการอยู่แล้ว
แต่ทั้งหมดที่เราได้จากการประชุมเมื่อวาน คือ กรอบแนวคิดที่ยังคงต้องรอผลสรุปที่ชัดเจนในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า !!!
สิ่งที่แปลกประหลาดไปกว่านั้นคือ รัฐบาล ‘ไม่ได้มีการจัดตั้ง’ คณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ในลักษณ War Room แต่จะเป็นการเชิญรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมเป็นครั้ง ๆ โดยมี สภาพัฒน์ฯ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นฝ่ายเลขานุการ ทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่า
สรุปแล้วรัฐบาลของ นายกฯ เศรษฐา ให้ความสำคัญ และน้ำหนักในปัญหาเศรษฐกิจที่พวกเราคนไทยกำลังเผชิญวิบากกรรมอยู่ในเวลานี้มากน้อยแค่ไหนกันแน่...