วันนี้ตรงกับวันที่ 9 เดือน 9 ครม.ชุดใหม่หลายคน นัดหมายกันไว้จะเข้าทำงานที่กระทรวงวันแรกพร้อมกัน รอดูว่าจะพร้อมเพรียงกันแบบ ‘สุขา สังฆัสสะ สามัคคี’ ขนาดไหน
เพราะบางคนยังไม่สะดวก อาทิ นายกฯ ‘อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร’ ที่มีกำหนดเข้าทำเนียบฯ ในวันจันทร์ที่ 16 กันยายนโน่น หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว
หรืออาจจะกังวลกับ ‘ฤกษ์กบฏ’ เพราะวันนี้เมื่อ 39 ปีก่อน เจ้าของฉายาแมวเก้าชีวิต ‘พ.อ.มนูญ รูปขจร’ ชื่อยศในขณะนั้น นำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 แต่ก่อการไม่สำเร็จจึงกลายเป็นกบฏ เพราะเกิดเหตุที่เรียกว่า ‘ไม่มาตามนัด’ ขึ้น
ส่วนวันนี้ใครจะมาไม่มาตามนัด คงไม่มีผลใดๆ เพราะผ่านกระบวนการต่างๆ มาแล้ว เหลือเพียงแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 กันยายนนี้ จากนั้น ก็เดินหน้าทำงานขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ และนโยบายระยะกลางระยะยาวอีกรวม 15 หน้ากระดาษไปได้ทันที
ทีนี้มาดูรายละเอียดนโยบายรัฐบาลอิ๊งค์ 1 ที่จะแถลงต่อรัฐสภาปลายสัปดาห์นี้ แม้จะมีคำว่า ‘มุ่งสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ’ อยู่ในพารากราฟต้นๆ แต่ปรากฎว่า ไม่มีเนื้อหานี้อยู่ในนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ แต่อย่างใด
โดยนำการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน และการนิรโทษกรรมกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ที่ทำให้บ้านเมืองติดหล่มความขัดแย้งมานาน ไปใส่ไว้ในนโยบายระยะกลางและระยะยาวแทน
แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อน ที่นำปัญหาการเมือง ความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำ ใส่ไว้ในนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการเป็นลำดับต้น ๆ ทันที
ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ ที่แม้จะยังมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำอยู่ก็ตาม แต่ในบางเรื่องอาจต้องให้ครม.ชุดใหม่ให้การยืนยันอีกครั้ง
โดย ‘นิกร จำนง’ อดีตโฆษกคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นใหม่ ยอมรับว่า ในบางเรื่อง เช่น คำถามประชามติที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ระหว่างฝ่ายค้าน กับผลศึกษาที่ครม.ชุด เศรษฐา ทวีสิน ให้ความเห็นชอบไป และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของสภาไปแล้ว
อาจต้องย้อนกลับมาให้ ครม.ใหม่ยืนยันอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการยึดตามคำถามเดิมหรือทบทวนตามข้อเสนอของฝ่ายค้านก็เป็นได้
ทั้งนี้ คำถามเดิมที่ครม.ชุดก่อนให้ความเห็นชอบไป คือ คำถามว่า
‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์’
ในขณะที่พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งปัจจุบันคือพรรคประชาชน ได้เสนอทบทวนคำถามประชามติให้เปิดกว้างมากขึ้น โดยใช้ข้อความว่า
‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ’
ประเด็นนี้ ต้องรอ ‘วัดใจ’ รัฐบาลชุดใหม่จะเอาอย่างไร จะถือโอกาสดึงเรื่องกลับมาพิจารณาใหม่ เพื่อให้เรื่องช้าลงเช่นที่ผ่านมา ตามสไตล์ถนัดแบบเดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลัง 3 ก้าวอีกหรือเปล่า
นอกจากนั้น ในเร็วๆ นี้ รัฐสภาจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่มีทั้งร่างของพรรคเพื่อไทยและร่างของพรรคประชาชน เพื่อทำคู่ขนานกันไปกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ต้องใช้เวลาอีกนาน และอาจเสร็จไม่ทันการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่เหลือเวลาอีกไม่ถึงสามปี
ยิ่งหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น มีการยุบสภาก่อนกำหนด จะยิ่งทำให้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่เสร็จไม่ทันแน่ ๆ
ดังนั้น โอกาสที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา รวมทั้ง กฎหมายลูกอีกบางฉบับ ที่เกี่ยวกับโทษยุบพรรคการเมืองและการทบทวนมาตรฐานจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสียใหม่ หลังมีปัญหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้นายกฯ เศรษฐา ต้องหลุดจากตำแหน่งไปแบบไม่คาดฝัน
การกำหนดให้สส.และรัฐมนตรี ใช้กรอบ ‘จริยธรรม’ เดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น โดยที่สภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้มีส่วนร่วมพิจารณากฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จึงเป็นสิ่งที่นักการเมืองยอมรับไม่ได้ และถือโอกาสนำมาทบทวนใหม่
เพราะทั้ง เพื่อไทย ภูมิใจไทย ต่างมี ‘ชนักปักหลัง’ ถูกร้องยุบพรรคอยู่ในมือ กกต.ทั้งคู่ ในขณะที่นายกฯ อายุน้อย 100 คำร้อง ก็อยู่ระหว่างเผชิญศึกที่เรียกว่า ‘นิติสงคราม’ จากฝ่ายแค้นอยู่พอดี โดยไม่ได้แยแสต่อคำขอที่ว่า ไม่อยากถูกฟ้องเพราะลูกยังเล็กอยู่
ส่วนพรรคประชาชนและพรรคอื่นๆ ล้วนมีจุดยืนไปในทางเดียวกัน คือ ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค รวมถึงมาตรฐานจริยธรรม ที่ศาลรัฐธรรมนูญวางบรรทัดฐานไว้ใหม่ ก็เห็นควรทบทวนให้เกิดความชัดเจนเช่นกัน
ทว่ายังมีบางสุ้มเสียงเห็นว่า ไหน ๆ จะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอยู่แล้ว ทำไมไม่รอทำไปพร้อมกันในคราวเดียว เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ที่ควรให้ ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนเป็นคนตัดสิน ไม่ใช่ให้นักการเมืองตัดสินใจกันเอง
อีกทั้ง หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจริง และเป็นหมวดที่ต้องทำประชามติเมื่อแก้ไขเสร็จ ก็จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณซ้ำซ้อนอีก
งานนี้ต้องรอวัดใจรัฐบาลชุดใหม่จะเอาอย่างไร จะแก้รายมาตรากันเหนียวไว้ก่อนหรือจะไปว่าพร้อมกันคราวเดียวในช่วงที่มี ส.ส.ร.หรือขืนปล่อยไว้นานจะทำให้สายเกินเพลไปหรือเปล่า
เพราะนาทีนี้รัฐบาลกำลังเผชิญกับนิติสงครามที่มาจากรอบทิศ ชะตากรรมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงอยู่ในกำมือของรัฐบาลจะเลือกเอาแบบไหน ?!