ยึดแบงก์ชาติ ส่ง‘กิตติรัตน์’นั่งประธานบอร์ด

18 ก.ย. 2567 - 02:30

  • ความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ

  • การกดดัน เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินมีมาต่อเนื่อง

  • ส่ง ‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง’ นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

economy-government-bot-fund-SPACEBAR-Hero.jpg

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเดินหมากสำคัญ ‘รุกฆาต’ ส่ง ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ยึดวังบางขุนพรหม นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หวัง ‘คอนโทรล’ นโยบายการเงินการคลัง เดินหน้านโยบายเศรษฐกิจแบบผ่อนคลายเต็มสูบ

กว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมาหลังเกิดเหตุฆาตกรรมทางการเมืองจากคำร้องของอดีต สว. 40 คน ที่ทำให้ อดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลังจากบริหารงานมาได้เพียงหนึ่งปี 

ในฐานะคนกำหนด และเดินเกมทั้งหมดของรัฐบาลชุดนี้อย่างไม่เป็นทางการให้กับลูกสาวสุดเลิฟ อดีตนายกฯ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ งัดทุกกระบวนท่าในการจัดระเบียบทางการเมืองจนเกือบจะมั่นใจแล้วว่าสามารถคุมเกมทั้งนอกและในสภาฯจนไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลของ นายกฯ**‘อิ๊งค์’** แพทองธาร ชินวัตร 

ถึงแม้จะมีบรรดานักร้องที่พยายามจะใช้ ‘นิติสงคราม’ มาสร้างคลื่นรบกวนโสตประสาทเป็นระยะๆ แต่ทักษิณก็มั่นใจว่าไม่น่าจะระคายผิว หรือกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลชุดนี้อีกต่อไป ถึงขนาดท้าให้ ‘ร้องดังๆ’

แต่อดีตนายกฯทักษิณ ตระหนักดีว่า จุดชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้ คือปัญหาเศรษฐกิจ ที่ต้องเร่งพลิกฟื้นให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำให้นโยบายด้านการเงินและการคลังสอดประสานไปในทิศทางเดียวกันให้ได้

ความล้มเหลวในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาในยุคของอดีตนายกฯ เศรษฐา ผ้าขาวม้าหลากสี ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือ แนวคิดที่ **‘ไปคนละทิศทาง’**ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะในขณะที่รัฐบาลต้องการให้มีการกำหนดนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลัง ‘อ่อนแรง’ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

อดีตนายกฯ เศรษฐาแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่พอใจกับการที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ไม่นำพากับเสียงเรียกร้องที่ต้องการให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มิหนำซ้ำแบงก์ชาติยังมีท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการทุ่มแจกเงินหมื่นผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นโครงการเรือธงของพรรคเพื่อไทย 

มีการเปิด ‘วอร์’ ยิงใส่ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ผ่านสื่อหลายครั้ง แถมยังได้รับแรงหนุนจากระดับอดีตประธานที่ปรึกษาของนายกฯ เศรษฐา อย่าง ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ และระดับหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร เองก็ยังออกตัวมาช่วยอีกแรง โดยระบุว่าตอนนี้กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญมาก ๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 

เมื่อคุยกันไม่รู้เรื่อง เหมือนพูดกันคนละภาษา แต่ก็ไม่สามารถจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้ง่ายๆ จึงมีความพยายามที่จะส่งคนที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทยเข้าไปยึดกุมสภาพ โดยพุ่งเป้าไปที่ตำแหน่ง ‘ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย’ โดยจะเข้าไปแทนที่ ‘ปรเมธี วิมลศิริ’ ประธานกรรมการแบงก์ชาติคนปัจจุบันที่กำลังจะสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งในเดือนกันยายน หลังจากนั่งในตำแหน่งนี้มาสองสมัยและจะครบวาระในเดือนกันยายนปีนี้ 

ตำแหน่งนี้ถึงแม้จะไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทางการเงิน แต่ก็สามารถประเมินการทำงานของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ รวมถึงเชื่อว่าจะสามารถสร้างแรง ‘กดดัน’ และมีอิทธิพลทางความคิดให้กับคนในแบงก์ชาติ และคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ได้มากขึ้น และยังสามารถจะเข้าไปช่วยปูทางในการส่งคนเข้ามานั่งในตำแหน่งแทนผู้ว่าฯเศษฐพุฒิ ที่จะครบวาระในเดือนกันยายนปีหน้า 

ในตอนแรกชื่อของคนที่จะถูกส่งเข้าไปมี 2 แคนดิเดต คือ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ และ ‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ อดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย แต่แผนก็เกิดสะดุดกลางอากาศ เนื่องจากศุภวุฒิถูกส่งให้ไปนั่งเป็นประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ ‘สภาพัฒน์ฯ’ ในขณะที่ในเวลานั้น โต้ง กิตติรัตน์ ยังติดปัญหาเรื่องคดีขายข้าวจีทูจีให้กับอินโดนีเซีย และมีตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ  

แต่มาถึงวันนี้ชื่อของ โต้ง กิตติรัตน์ ถูกหยิบขึ้นมาเป็นตัวเลือกใหม่อีกครั้ง เมื่อพ้นจากบ่วงคดีความเรียบร้อยแล้ว พร้อมๆกับเพิ่งพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯเศรษฐา และไม่ได้มีตำแหน่งสำคัญในพรรคเพื่อไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท.คนใหม่ โดยมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา 1 ชุดเพื่อคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยมีอดีตปลัดกระทรวงการคลัง สถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน 

ล่าสุดกระทรวงการคลังส่งชื่อ กิตติรัตน์ ให้ ธปท.พิจารณาคุณสมบัติ เพื่อส่งชื่อต่อให้คณะกรรมการสรรหาฯ ในขณะที่ในส่วนของแบงก์ชาติยังไม่ได้เสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามาให้พิจารณา แต่ตามขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการฯคาดว่าจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคม และจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 

จนถึงนาทีนี้ ชื่อของ โต้ง กิตติรัตน์ น่าจะมีโอกาสสูงสุดที่จะมานั่งในตำแหน่งนี้ ทำให้เกิดอาการสั่นไหวกันอย่างมากที่วังบางขุนพรหม และเริ่มเกิดแรงต้านจากคนในแบงก์ชาติ เนื่องจากหวั่นใจว่าจะมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง และอาจกระทบต่อความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ เพราะอาจจะถูกนำไปรับใช้นโยบายทางการเมือง แต่ปัญหาจะบานปลายจนไปกระทบต่อความเชื่อมั่นของในสายตาของนักลงทุนต่างชาติหรือไม่ จนกระทบต่อตลาดเงินหรือตลาดทุนหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

โต้ง กิตติรัตน์ จะเป็นหมาก ‘รุกฆาต’ หรือกลายเป็นหมากที่ทำให้ ถูก ‘พิฆาต’ จึงเป็นอะไรที่ห้ามกระพริบตา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์