สว.สีน้ำเงินฉีกหน้าเพื่อไทย ล่มเรือธงร่างรัฐธรรมนูญใหม่

26 ก.ย. 2567 - 03:03

  • จะจบลงแบบไหน การทำประชามติต้องล่าช้าออกไป

  • รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คงต้องใช้เวลาอีกนาน

  • แก้รัฐธรรมนูญ ได้มีการหักมุมมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง

economy-government-politics-amendment-referendum-law economy-government-politics-amendment-referendum-law-SPACEBAR-Hero.jpg

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย เข้ามาทำงานยังไม่ครบขวบปี แต่เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาเป็นคนที่สองแล้ว ขณะที่นโยบายเรือธงที่ใช้หาเสียงและแถลงต่อสภาไว้ ก็ล่มไปต่อหน้าต่อตาอย่างน้อยสองลำ คือ ดิจิทัลวอลเล็ต ที่ได้แค่ต่อลมหายใจ ไม่ใช่พายุหมุนทางเศรษฐกิจอย่างที่โม้ไว้

ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ที่จะสตาร์ท 400 บาทก่อน ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ก็วืดไปอีกเหมือนกัน!!

ล่าสุดเรือธงอีกลำ คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชนโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ก็ทำท่าจะติดสันดอนไปต่อไมได้ เมื่อสว.กลับลำ ไม่เอาตามสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้แก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ จากเสียงข้างมากสองชั้นให้เหลือชั้นครึ่ง

กลายเป็นแฟชั่น ‘กลับลำ’ ที่ระบาดไปถึงสภาสูงในชั่วโมงนี้ และคงได้เห็นบรรยากาศแบบ ‘กลับลำแล้ว กลับลำอยู่ กลับลำต่อ..’ ที่กว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คงต้องใช้เวลาอีกนาน

วันก่อนพรรคเพื่อไทย โต้โผใหญ่การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับสุดซอย ส่งสัญญาณ ‘ไอ้เสือถอย’ ไม่เดินหน้าต่อ เมื่อมีการขบเหลี่ยมกันขึ้นในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งไม่ว่าจะมาจากการกลับลำของใคร พรรคไหนก็ตามเถอะ

แต่มันทำให้แผนการแก้รัฐธรรมนูญแบบกินสองต่อแล้วเข้าฮอสต้องถูกพับแผนไป

ไม่ว่าการรื้อปมจริยธรรม การแก้ไขคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมืองให้ต่างจากผู้สมัครสส.การแก้โทษตัดสิทธิการเมืองเหลือ 5 ปี ปรับเกณฑ์การลงมติเรื่องสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดแทน หรือรื้อเงื่อนไขการทำประชามติแก้ไขรัฐรรมนูญ

ทั้งหมดต้องถูกพักเอาไว้ คงรอให้คลื่นลมสงบก่อนค่อยมาว่ากันใหม่ หรือไม่ก็รอทำไปพร้อมกันตอนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โน่น ไม่ต้องทำคู่ขนานกันไปแล้ว  

ทีนี้การกลับลำในลักษณะนี้ของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาล ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก โดยเฉพาะในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ได้มีการหักมุมมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว

เริ่มจากขอตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาก่อนทำประชามติว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ พอศึกษาเสร็จ ก็ไม่ยอมสรุปผลศึกษาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเสียที แต่รอให้พรรคเพื่อไทย หลอกถามศาลรัฐธรรมนูญผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเสียก่อนว่า

ตกลงต้องทำประชามติกี่ครั้ง สองหรือสามครั้งกันแน่?!

พอได้รับคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังออกลีลาต่อ "หมกเม็ด" ให้มีการแก้ไขแก้ไขกฎหมายประชามติเสียก่อนถึงจะทำประชามติได้ หาไม่แล้วเกณฑ์การออกเสียงประชามติที่กำหนดไว้สูงลิ่ว ต้องใช้เสียงข้างมากถึงสองชั้นนั้น

ขืนทะเล่อทะล่าทำประชามติไป มีสิทธิ์ตกม้าตายสูง เสียของเปลืองงบหลวงกันเปล่า ๆ

เอาเป็นว่า ผ่านไปจะครบหนึ่งปีแล้ว การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ยังไปไม่ถึงไหน เพราะมีการจอดแวะพักกลางทางอยู่ตลอด

ล่าสุดเดินมาเกือบจะสุดทางแล้ว เมื่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบปรับหลักเกณฑ์จากเสียงข้างมากสองชั้น ให้เหลือเพียงชั้นครึ่งนั้น ได้มาอยู่ในมือของวุฒิสภา ซึ่งการพิจารณาในชั้นของกรรมาธิการฯ ได้ให้ความเห็นชอบตามสภาผู้แทนราษฎรในทุกถ้อยคำ ไม่ได้มีการแก้ไขใด ๆ เลย

ตามปฏิทินจะนำเข้าสู่การพิจารณา วาระ 2-3 ของที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

แต่จู่ ๆ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่พิจารณากันครั้งสุดท้ายเมื่อวานนี้(25 ก.ย.67) ได้มีการกลับมติแบบ 360 องศา แก้ไขให้กลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น ด้วยเสียงเกือบเอกฉันท์ 17 ต่อ 1 เสียง

นับเป็นความพร้อมเพรียงที่พอ ๆ กับมาฆบูชาทางการเมืองกันเลยทีเดียว

ชนิดที่ทำให้ สว.นันทนา นันทวโรภาส ซึ่งเป็นเสียงหนึ่งเดียวที่ไม่เห็นด้วยในคณะกรรมาธิการฯ เพราะเกรงจะทำให้กฎหมายสะดุด ไม่สามารถทำประชามติได้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้ ถึงกับตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

"เป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ที่ผ่านมาเป็นเรื่องหนึ่ง แต่วันนี้มีการกลับมติค่อนข้างหนักหน่วง ซึ่งเข้าใจว่าการทำ พ.ร.บ.ประชามติ หากมีเสียงค้านของสว.ก็อาจจะไม่สามารถทำได้ทันกับช่วงเวลาเลือกตั้งท้องถิ่น หรืออบจ.ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 68"

สว.นันทนา มองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดปกติ และจะมีผลไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นไม่ทันในสภาชุดนี้ เพราะเป็นการทำให้กระบวนการยืดเยื้อออกไป เนื่องจาก สว.ไม่เห็นชอบกับร่างของสส.ก็จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันใหม่

สว.นันทนา ย้ำว่า การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา คาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 60 วัน ซึ่งจะทำให้เลยกำหนดเวลาที่วางไว้

การกลับลำของสว.หนนี้ ช่างบังเอิญเกิดขึ้นในห้วงเวลาไล่เรี่ยกับการถอดใจของพรรคเพื่อไทยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราพอดี จึงต้องตามดูกันว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติจะจบลงแบบไหน

แต่ไม่ว่าจบลงแบบไหน ก็คงทำให้การทำประชามติต้องล่าช้าออกไปอย่างแน่นอน..

เพราะได้เห็นสัญญาณค่อนข้างชัดจากการกลับลำไปใช้เสียงข้างมากสองชั้นของคณะกรรมาธิการสว.ว่า เป็นการหักมุม ดึงเช็ง ให้การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ต้องทอดเวลาออกไป

ยิ่งหากต้องการลากเกมยาวออกไปกว่านั้น หลังตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภาและได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว หากสภาใดสภาหนึ่งไม่ให้ความเห็นชอบ และสภาผู้แทนราษฎร จะนำมายืนยันเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะต้องรอให้ผ่าน 180 วัน หรือ 6 เดือนไปก่อน

ถ้าขืนเดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังสองก้าว กลับลำแล้ว กลับลำอยู่ และกลับลำต่อไปเรื่อย ๆ ไม่รู้อีกเมื่อไหร่กว่าจะได้ทำประชามติถามประชาชนผู้มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญว่า ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

งานนี้หากพรรคสีแดงกับพรรคสีน้ำเงิน ไม่แอบหลิ่วตาสมคบกันลากยาวการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว คงมีคนส่งสัญญาณให้สว.สีน้ำเงินฉีกหน้าเพื่อไทย เพื่อล่มเรือธงอีกลำลงเป็นแน่แท้เทียว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์