ใครที่อายุไม่ถึง 40 คงโตไม่ทันยุค ‘แพ็คลิงค์ - โฟนลิงค์’
แพ็คลิงค์และโฟนลิงค์ คือชื่อผู้ให้บริการระบบวิทยุติดตามตัว หรือ เพจเจอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย สำหรับรับ SMS รับอย่างเดียวส่งไม่ได้ ผู้ส่งต้องโทรฯ ไปฝากข้อความกับโอเปอเรเตอร์ที่คอลล์เซ็นเตอร์ ให้ส่งข้อความไปยังผู้รับ
‘แพ็คลิงค์’ เป็นของ ‘บริษัทแปซิฟิค เทเลซีส’ จากสหรัฐฯ ร่วมทุนกับ ‘ชินวัตร คอมพิวเตอร์’ ของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเซลล์แมนขายคอมพิวเตอร์ให้กรมตำรวจและหน่วยงานราชการอยู่ แพ็คลิงค์เริ่มให้บริการในปี 2529 เฉพาะในกรุงเทพ และจังหวัดใกล้เคียง โดยได้สัมปทานอายุ 10 ปี จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย
หลังจากนั้น อีก 3-4 ปี ทักษิณ แยกตัวออกมาตั้งบริษัท ‘ชินวัตร เพจจิ้ง’ ให้บริการ ‘โฟนลิงค์’ โดยได้สัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มีขอบข่ายบริการที่กว้างกว่าแพ็คลิงค์ คือ ต่างจังหวัดก็ใช้ได้
โทรศัพท์มือถือในยุคแรก มีราคาแพงเกือบแสนบาทต่อเครื่อง ค่าโทรฯคิดเป็นนาทีๆละ 3-5 บาท ต่างจังหวัดนาทีละ 12 บาท โทรออกก็เสีย รับสายโทรเข้าก็ต้องจ่าย และใช้โทรฯคุยกันได้ย่างเดียว ส่ง SMS ยังไม่ได้ จึงทำให้ระบบเพจเจอร์ได้รับความนิยม
เมื่อโทรศัพท์มือถือถูกลง ทั้งตัวเครื่องและค่าบริการ มีการพัฒนาเทคโนโลยีดีขึ้นเรื่อย ๆ ส่งและรับข้อความ รูปถ่ายได้ เพจเจอร์ก็ได้รับความนิยมน้อยลง จนหายไปประมาณปี 2542-2543 ในต่างประเทศที่ใช้กันอยู่คือ ในวงการแพทย์ สาธารณสุข และการกู้ภัย เพราะใช้**‘คลื่นวิทยุที่มีความถี่สูงมาก’** ส่งสัญญาณไปถึงพื้นที่ ที่คลื่นสมาร์ทโฟนเข้าไม่ถึง
เทคโนโลยีตกยุคโลว์เทค อย่างเพจเจอร์ กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เมื่อเกิดเหตุการณ์ ‘เพจเจอร์ ระเบิด’ทั่วประเทศเลบานอน พร้อม ๆ กันตอนบ่ายของวันที่ 17 กันยายน มีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 2,800 คน ซึ่งมีนักรบ ผู้ปฏิบัติงานของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ จำนวนมาก เป็นเหยื่อของการระเบิดครั้งนี้
กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ ระบุว่า ‘มอสสาด’ หน่วยสืบราชการลับของอิสราเอล เป็นคนลงมือ เช่นเดียวกับคนในแวดวงสายลับ ข่าวกรองของสหรัฐฯและโลกตะวันตก เชื่อว่า เป็นฝีมือมอสสาด
แม้อิสราเอลจะเงียบ ไม่ยอมรับหรือปฏิเสธ แต่รูปแบบของปฏิบัติการที่ใช้เพจเจอร์เป็นเครื่องมือ จุดระเบิดพร้อม ๆ กันทั่วประเทศ เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย เป็นปฏิบัติการที่โหดเหี้ยมแบบเลือดเย็น ไม่สนใจว่า จะมีผู้บริสุทธิ์ตายและเจ็บ
ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องน่าทึ่งว่าคิดได้อย่างไร และมีแต่องค์กรลับอย่างมอสสาดท่านั้นที่จะทำได้
หลายปีที่ผ่านมา อิสราเอล และสหรัฐฯ ลอบสังหารบุคคลสำคัญของอิหร่าน ไอซีส ฮิซบุลเลาะห์ ฮามาสฯได้หลายครั้ง โดย ‘ล็อกพิกัดโลเคชั่น’ ของเป้าสังหารได้จาก สัญญาสมาร์ทโฟน ทันทีที่เป้าสังหารโทรออก หรือ รับสายโทรเข้าสัญญาณจะถูกส่งผ่านดาวเทียมไปยังกองบัญชาการที่อยุ่ห่างไปหลายพันไมล์ เพื่อกดปุ่มให้โดรนพิฆาต ออกปฏิบัติการล่าสังหาร ยิงจรวดหรือทิ้งระเบิด ถล่มอาคาร หรือยานพาหนะที่เป้าสังหารอยู่ข้างใน
ผู้ก่อตั้ง และผู้นำสูงสุดของฮามาสในฉนวนกาซา คือ ‘ยาห์ยา ซินวาร์’ รอดพ้นจากการถูกลอบสังหารโดยอิสราเอล จนถึงทุกวันนี้ได้ เพราะไม่ใช้สมาร์ทโฟน หรือเทคโนโลยีทันสมัย แต่สั่งการโดยใช้จดหมาย เขียนข้อความที่เป็นรหัส ผ่านคนนำสารที่ไม่ซ้ำหน้ากันถือไปให้คนรับ
เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ผู้นำกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ ‘ฮัสซัน นาสราลเลาะห์’ มีคำสั่งห้าม สมาชิกฮามาสและคนในครอบครัวใช้สมาร์ทโฟน เขาบอกว่า สายลับอยู่ที่ไหน ก็อยู่ในสมาร์ทโฟนในมือคุณ ในมือภรรยา ในมือลูก ๆ ของคุณ นั่นแหละคือสายลับ จงฝังมันเสีย เอาไปเก็บไว้ในหีบเหล็กแล้วใส่กุญแจล็อกไว้
เขาบอกว่า ถ้าอิสราเอลใช้ไฮเทค เราก็จะใช้โลว์เทค
ก่อนหน้านี้ หลายปี ฮัสซัน นาสราลเลาะห์ ผลักดันให้ฮามาสลงทุนระบบเพจเจอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดักจับสัญญาณ เพราะเพจเจอร์ใช้ได้เฉพาะส่งข้อความ ระบุพิกัดของผู้รับไม่ได้
อิสราเอล มองเห็นช่องว่างตรงนี้
ข่าววิเคราะห์ของ ‘นิวยอร์ค ไทมส์’ อ้างอิงแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงและข่าวกรองในอดีตและปัจจุบัน 12 คนที่ได้รับรายงานสรุปเหตุการณที่เกิดขึ้นว่า เป็นปฏิบัติการที่ซับซ้อนและเตรียมการมานาน
เพจเจอร์ที่ระเบิดเป็นยี่ห้อ ‘Glod Apollo’ ของไต้หวันทั้งหมด แต่ ‘Hsu Ching Kuang’ ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Gold Apollo ยืนวันว่า เลิกผลิตเพจเจอร์มานานแล้ว แต่อนุญาตให้บริษัท ‘B.A.C. Consulting’ ซึ่งมีที่อยู่ที่ บูดาเปสต์ ฮังการี ใช้ชื่อแบรนด์ได้ แต่ B.A.C. ออกแบบและผลิตเพจเจอร์เอง บริษัทGlod Apollo ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ
ในขณะที่ทางการฮังการี ปฏิเสธว่า B.A.C. ไม่มีการออกแบบ และการผลิตในฮังการีเป็นเพียงบริษัทคนกลางทางการค้าเท่านั้น
รายงานข่าวของนิวยอร์ค ไทมส์ระบุว่า B.A.C. เป็น **‘บริษัทบังหน้า’**ที่ อิสราเอลตั้งขึ้นมา ก่อนหน้าที่ ฮิซบุลเลาะห์จะสั่งให้สมาชิกเปลี่ยนไปใช้เพจเจอร์ด้วยซ้ำ โดยจดทะเบียนที่ฮังการี เพื่อออกแบบและผลิตเพจเจอร์ ตามคำสั่งซื้อของฮามาส นอกจาก B.A.C. แล้ว ยังมีอีก 2 บริษัทที่อิสราเอลตั้งขึ้นมา
B.A.C. ผลิตเพจเจอร์ให้ลูกค้าทั่วไปด้วย แต่แยกการผลิตเพจเจอร์ให้ฮิสบุลเลาะห์ เป็นการเฉพาะ โดยใส่ PETN ซึ่งเป็นดินปืนระบิดแรงสูง ลงไปในแบตเตอรี่ของเพจเจอร์
B.A.C. เริ่มส่งเพจเจอร์ให้ฮิซบุลเลาะห์ ในฤดูร้อนของปี 2022 จำนวนไม่มากนัก แต่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ หลังจาก นาสราลเลาะห์ สั่งห้ามใช้ สมาร์ทโฟน ให้สมาชิกฮิสบุลเลาะห์ใช้เพจเจอร์ รับคำสั่งจากผู้นำอย่างเดียว
ฮิสบุลเลาะห์มองว่า เพจเจอร์เหล่านี้ เป็นการป้องกันตัวเอง แต่สำหรับอิสราเอล มันคือ ‘ปุ่ม’ ที่จะถูกกดให้ระเบิด เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
เมื่อถึงเวลานั้น อิสราเอลจะสั่งให้เพจเจอร์ทุกเครื่องระเบิด โดยส่งสัญญาณเสียง ‘ปี๊บ’ ไปที่เครื่อง พร้อมกับข้อความเป็นภาษาอารบิก เพื่อหลอกว่าเป็นคำสั่งจากผู้นำระดับสูงของฮิซบัลเลาะห์ หลังจากนั้น ชั่วเสี้ยววินาที่ เพจเจอร์ทั่วเลบานอนก็ระเบิด
มันคือ ‘ม้าเมืองทรอย’ ที่กองทัพกรีกทิ้งไว้ก่อนถอนกำลังจากการตีเมืองทรอย ทหารเมืองทรอยลากเข้าไปในเมือง เพราะคิดว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้า ตกดึกทหารกรีกที่ซ่อนอยู่ในตัวม้า ก็ออกมาฆ่าชาวเมืองทรอย และยึดเมืองได้ในที่สุด
หนึ่งวันหลังจากเพจเจอร์ระเบิด ก็เกิดเหตุ **‘วิทยุสื่อสาร’**หรือ Walki Talki ยี่ห้อ ICOM รุ่น IC-V 82 ของญี่ปุ่น ที่สมาชิกฮิสบุลเลาะห์ใช้ประจำตัว ระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน บาดเจ็บ 450 คน ซึงสถานที่เกิดระเบิด บางแห่งอยู่ในพิธีไว้อาลัย และฝังศพ นักรบฮิสบุลเลาะห์ที่เสียชีวิตจากเพจเจอร์ระเบิด วันก่อนหน้าจึงทำให้มีคนตายและเจ็บจำนวนมาก
บริษัท ICOM ที่อยู่ในโอซาก้า ออกแถลงการณ์ว่า เคยส่งออก วิทยุสื่อสารไปยังตะวันออกกลาง ในช่วงปี 2004 ถึงเดือนตุลาคม 2014 แต่ได้หยุดการส่งออก วิทยุสื่อสารรุ่น IC V82 มาประมาณ 10ปีแล้ว ปัจจุบันบริษัทไม่มีวิทยุรุ่นนี้ในสต็อกแล้ว และเคยแจ้งเตือนว่าวิทยุรุ่นนี้ ที่ซื้อขายกันในปัจจุบันเป็น ‘ของปลอม’ แทบทุกเครื่อง
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า อิสราเอลมีเป้าหมายอะไร ในปฏิบัติการครั้งนี้เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับฮิซบุลเลาะห์ ไม่ได้มากมายอะไรที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ แต่ผู้บริสุทธ์ ที่เป็นพลเรือนจำนวนมาก ต้องสูญเสียชีวิต อวัยวะ เพราะการระเบิดเกิดขึ้นในที่ชุมชน ในบ้านที่ลูกสาววัย 9 ขวบ ได้ยินเสียงเพจเจอร์ ที่พ่อวางอยู่บนโต๊ะดังขึ้น จึงวิ่งเอาให้พ่อ แต่ระเบิดเสียก่อน จนทำให้เสียชีวิต
ฮิซบุลเลาะห์ ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวูธที่เป็นศัตรูของอิสราเอลที่เข้มแข็งที่สุด เริ่มยิงจรวดจากที่มั่นทางตอนใต้ของเลบานอน ใส่นิคมทางภาคเหนือของอิสราเอล ตั้งแต่อิสราเอลบุกกาซา แก้แค้นที่กลุ่มฮามาสบุกเข้าไปโจมตี และจับประกันในอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว ทำให้รัฐบาลต้องอพยพคน 70,000 คน ออกมา
รัฐบาลอิสราเอลกำลังถูกกดดันจากผู้ที่ต้องอพยพออกมา ให้พาพวกเขากลับบ้านเสียที
‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวที่ประชุม ครม. สงคราม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายนว่า จะทำทุกวิถีทางให้ผู้อพยพ 70,000 คนได้กลับบ้าน แต่พวกเขาเหล่านั้น ยังกลับบ้านไม่ได้ จนกว่า สถานการณ์ด้านความปลอดภัยทางตอนเหนือของประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลง
อีก 2 วันต่อมา ในวันอังคารที่ 16 กันยายน มีคำสั่งให้ เริ่มส่งสัญญาณให้เพจเจอร์ในเลบานอน ทำงาน
ในทางกลยุทธ์ นี่คือการทำลายเครือข่ายการสื่อสาร ก่อนการรบครั้งใหญ่จะเริ่มขึ้น เมื่อฮิซบุลเลาะห์หลบเลี่ยงการดักสัญญาณสมาร์ทโฟน หนีเทคโนโลยีไฮเทค ไปใช้โลว์เทคคือ เพจเจอร์ กลายเป็นเอาระเบิดเวลาที่อิสราเอลแอบใส่ไว้ มาหนีบข้างเอว กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว