อาณาจักร THG ใกล้‘หมด’บุญ วนาสิน

26 ก.ย. 2567 - 02:29

  • ปมร้อน ธุรกรรมทางการเงินของ บริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

  • คณะกรรรมการตรวจสอบของ THG พบธุรกรรมทางการเงินที่ชวนสงสัย

  • ราคาหุ้นของ THG ที่มีการปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง

economy-government-politics-doctor-hospital-stocks-SPACEBAR-Hero.jpg

สำหรับชายคนหนึ่งที่อยู่ในช่วงปัจฉิมวัยอย่าง หมอบุญ วนาสิน ที่มีอายุกว่า 86 ปี คงเป็นเรื่องที่น่า ‘ปวดใจ’ ที่ต้องมาเผชิญวิบากกรรมในชีวิตอีกครั้ง เมื่อถูกตั้งคำถามจากสังคมเนื่องจากเข้าไปเกี่ยวพันกับปมร้อนในธุรกรรมทางการเงินของบริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG ที่ตัวเองก่อตั้งและบุกเบิกมาเมื่อ 46 ปีที่แล้ว จนกลายเป็นหนึ่งกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลรายใหญ่ของไทย

ชื่อของหมอบุญกลับมาเป็นข่าวร้อนอีกครั้ง เมื่อคณะกรรรมการตรวจสอบของTHG ตรวจพบและมีหนังสือแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า พบธุรกรรมทางการเงินที่ชวนสงสัย เมื่อตรวจพบว่าบริษัทย่อย 2 แห่ง คือ บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด THB ซึ่งบริษัทถือหุ้น 81.03% และบริษัท ทีเอช เฮลท์ จำกัด THH ซึ่งบริษัทถือหุ้น 51.22% มีการทำรายการอันควรสงสัย โดยมีการให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด หรือ RTD ซึ่งเป็นบริษัทที่มี ‘กลุ่มครอบครัววนาสิน’ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เมื่อในปี 2565-2566 จำนวน 6 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวม 145 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด TMG ซึ่ง RTD เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 36.10% เมื่อปี 2566 จำนวนเงินรวม 10 ล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้นยังตรวจสอบพบว่า THH มีการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริง ในปี 2566 จำนวนเงินรวม 55 ล้านบาท
การเข้าทำรายการอันควรสงสัยทั้งหมดดำเนินการโดยฝ่ายบริหารบางส่วนของบริษัทย่อย ซึ่งเป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศเรื่องรายการที่เกี่ยวโยงกันของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยปัจจุบันมียอดหนี้คงค้างของรายการอันควรสงสัยประมาณ 105 ล้านบาท

หลังจากมีข่าวดังกล่าวออกไป ราคาหุ้นของ THG ที่มีการปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่องจากที่เคยขึ้นไปสูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ราคา 67.50 บาท โดยล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (25 กันยายน 2567) ปิดที่ 21.20 บาท

ถึงแม้หมอบุญ จะร่อนหนังสือชี้แจงสื่อมวลชนทันที โดยระบุว่า ธุรกรรมทางการเงินที่ควรสงสัยที่ THG แจ้งตลาดหลักทรัพย์ เป็นเพียงเรื่องการเข้าใจผิดภายในองค์กร แต่มีการคุยกันภายในเรียบร้อยแล้ว โดยยอมรับว่ามีการสั่งซื้อสินค้าจริงแต่บริษัทไม่ได้รับมอบสินค้า และได้มีการจ่ายค่าเสียหายแล้วราว 110 ล้านบาท

แต่คำชี้แจงขอหมอบุญก็ถูกปฎิเสธจากฝ่ายบริหารของ THG โดยยืนยันตามข้อมูลและข้อเท็จจริงที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ก่อนหน้า แถมยัง ‘หักหน้า’ ว่าหมอบุญเป็นเพียงอดีตประธานกรรมการบริษัท ซึ่งไม่ได้มีบทบาทในบริษัทแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุดภรรยาของหมอบุญ จารุวรรณ วนาสิน ก็ต้องยอมถอยลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท และมีการแต่งตั้งหมอเอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ จากกลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหงมานั่งในตำแหน่งแทน 

ก่อนหน้านี้คนทั่วไปอาจจะไม่มีใครรู้จักหมอบุญมากนัก แต่ชื่อของหมอบุญกลายเป็นที่รู้จักในช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เมื่อเขาพยายามผลักดันให้มีการนำวัคซีนแบบ mRNA มาใช้แทนวัคซีนแบบเชื้อตาย โดยพยายามที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลนำเข้ามาใช้ และพยายามจะสั่งซื้อวัคซีนเข้ามา แต่ก็ล้มเหลวจนทำให้ถูกวิพากษ์ว่า อาจจะมีเจตนาให้ข่าวเพื่อช่วยสร้างราคาหุ้นของ THG 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. เล่นงานหมอบุญในความผิดจากการเผยแพร่ข้อมูลอันก่อให้เกิดความสำคัญผิดเกี่ยวกับผลดำเนินงานหรือข้อมูลอื่นของ THG และถูก กลต.ลงโทษปรับ 2.34 ล้านบาท แต่หมอบุญไม่ยอมจ่ายค่าปรับ จึงมีการส่งเรื่องให้อัยการฟ้องบังคับคดีในทางแพ่ง และทำให้หมอบุญต้องพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท และไม่มีตำแหน่งอะไรใน THG นอกจากตระกูลวนาสินยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ราว 21% ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงต้นเดือนกันยายนปี 2562 หมอบุญสร้างความฮือฮาให้กับวงการ เมื่อบรรลุข้อตกลงในการร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับกลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง RAM ของหมอเอื้อชาติ โดยปัจจุบัน RAM มีหุ้นอยู่ใน THG ราว 24.59% และส่งทีมเข้ามาร่วมบริหาร THG หลังจากหมอบุญต้องถอยออกไปเนื่องจากถูก กลต.ลงโทษ

ทั้งนี้ปัจจุบัน THG ประกอบกิจการแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งมีโรงพยาบาลภายในประเทศที่เปิดดำเนินการแล้ว 6 แห่ง (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 แห่ง) ต่างประเทศ 2 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลเครือข่ายรวม 18 แห่งทั่วประเทศ ธุรกิจบริบาลผู้สูงอายุและเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจอื่น ๆ ในส่วนของ RAM มีโรงพยาบาลในเครือ 10 แห่งทั่วประเทศ

ปมร้อนเกี่ยวกับธุรกรรมท่างการเงินที่เกิดขึ้น ทำให้มีคำถามว่า มีเรื่องราวสลับซับซ้อนอะไรที่ “ซุกอยู่ใต้พรม” หรือไม่ ซึ่งคาดว่าอาจจะมาจากปัญหาหนี้สินส่วนตัวและหนี้ที่เกี่ยวพันกับ THG ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นประธานคณะกรรมการบริษัท เนื่องจากมีการลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ ถึง 2 โครงการ ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

โครงการลงทุนในโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่มีมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท และโครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ (ที่พักอาศัยวัยเกษียณ) ที่ใช้เงินลงทุนกว่า 4.5 พันล้านบาท บนพื้นที่กว่า 140 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน รังสิต อ.คลองหลวง ปทุมธานี 

ทั้งสองโครงการทำให้หมอบุญค่อนข้างจะมีปัญหาเนื่องจากใช้เงินส่วนตัว และเอาที่ดินและทรัพย์สินส่วนตัวที่มีอยู่ไปจำนอง เพื่อกู้เงินออกมาเพื่อใช้ลงทุน แต่โครงการไม่ประสบความสำเร็จ 

ที่ผ่านมาผลประกอบการ THG ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยงวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิเพียง 49.20 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 339.41 ล้านบาท มีหนี้สิน ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ราว 13,178 ล้านบาท 

ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า บทสรุปของปมร้อนในเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ถึงแม้จะคาดว่าผู้ถือหุ้นในฝั่งของโรงพยาบาลรามคำแหงคงไม่ยอมปล่อยผ่าน และอาจจะมีการตรวจสอบเชิงลึกลงไปอีก เพื่อดำเนินการเอาผิดกับหมอบุญ

แต่สำหรับคนที่รู้จักตัวตนของ หมอบุญจะทราบดีว่า รู้ว่าเขาคงจะต้องพยายามออกมาปกป้องและยืนยันว่าทั้งหมดเป็นเพียงปัญหาภายในองค์กร ที่บางครั้งเขาอาจจะคิดนอกกรอบ และ “คิดเร็ว ทำเร็ว” จนอาจขาดความรอบคอบ เพราะธาตุแท้ของหมอบุญ ก็คือคนที่ไม่มีวันยอมแพ้ และพร้อมที่จะสู้จนถึงนาทีสุดท้าย...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์