เงินหมื่นดิจิทัล ความล้มเหลวเชิงนโยบาย

30 ก.ย. 2567 - 02:30

  • ผลักดันทุกวิธีจนทำให้เงินหมื่นดิจิทัล เฟสแรกสามารถแจกได้

  • พอแจกเสร็จก็เร่ง ‘ตีฟู’ ความดีใจของผู้ได้รับเงิน

  • แล้วก็กลับมาปวดหัวกับการหาเงินมาเติมในเฟสสอง

Deep Space เงินหมื่นดิจิทัล-SPACEBAR-Hero.jpg

วันนี้ (30 กันยายน 2567) เป็นวันสุดท้ายที่รัฐบาลจะโอนเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวบัตรประชาชนหลักสุดท้าย เลข 8-9 จำนวน 2.26 ล้านคน หลังจากที่ นายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร เริ่ม ‘คิ๊กออฟ’ แจกเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ในเฟสแรก จำนวน 14.55 ล้านคน ไปตั้งแต่วันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา

มีความพยายามอย่างหนักจากรัฐบาลที่จะ ‘ตีฟู’ เพื่อให้สังคมมีความรู้สึกคล้อยตามว่า ผู้คนจำนวนกว่า 14.55 ล้านคน กำลัง ‘สำลัก’ ความสุขจากการที่ได้รับการแจกเงินหมื่นบาทจากรัฐบาล ซึ่งได้เริ่มเดินหน้าไปตามที่เคยหาเสียงให้สัญญากับประชาชนไว้

ถึงแม้อาจจะ ‘ไม่ตรงปก’ เพราะมีการปรับเปลี่ยนมาเป็นการแจกเงินสดหนึ่งหมื่นบาทให้กับประชาชนที่จัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12.4 ล้านราย และ ผู้พิการ 2.15 ล้านราย โดยการโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์คนละ 10,000 บาท โดยใช้งบประมาณสูงถึง 145,552 ล้านบาท แต่คนที่ได้รับเงินส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจ แถมยังอาจจะชอบมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะไม่มีเงื่อนไข ‘พะรุงพะรัง’ ต่าง ๆ ตามมาให้วุ่นวาย เหมือนเงื่อนไขเดิมของโครงการเรืองธง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’

ก่อนหน้านี้รัฐบาลคาดว่าจะมีคนทั้งหมดราว 45 ล้านคน ที่อยู่ในเป้าหมายของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลตั้งใจจะสร้าง ‘พายุหมุน’ ทางเศรษฐกิจ ครั้งประวัติศาสตร์ของสยามประเทศในตอนแรก แต่ล่าสุดมีการประเมินตัวเลขใหม่ว่าน่าจะลดลงเหลือราว 40 ล้านคน 

ที่ผ่านมามีคนไปลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ไปแล้ว 36.4 ล้านคน และที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเนื่องจากไม่มี ‘สมาร์ทโฟน’ อีกจำนวนหนึ่งที่รอการลงทะเบียนรอบใหม่ แต่คาดว่าเมื่อหักคนที่ได้รับแจกเงินหมื่นบาทใน ‘เฟสแรก’ 14.55 ล้านคนที่ซ้ำซ้อนออกไปก็ยังน่าจะมีจำนวนอีกไม่ต่ำกว่า 26 ล้านคน

ถึงแม้รัฐบาลยืนยันว่าจะมีการดำเนินโครงการต่อในเฟสต่อไป แต่ปัญหาใหญ่ที่กลายเป็นปัญหา ‘จุกอก’ ของรัฐบาลก็คือ เม็ดเงินที่จะนำมาใช้แจกเงินในเฟสต่อไปที่ต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 2.6 แสนล้านบาท เพราะมีงบประมาณที่เตรียมไว้ในปี 2568 เพียง 1.87 แสนล้านบาท ยังขาดอีกราว 7.3 หมื่นล้านบาท  

รัฐบาลอ้างว่าจะเร่งตั้ง ‘คณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ’ ขึ้นมา เพื่อพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณที่มีอยู่ รวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ ว่า จะจ่ายเงินอย่างไร จ่ายเมื่อไหร่ จ่ายด้วยวิธีไหน พร้อมกับใช้กลยุทธ์ในการ ‘ซื้อเวลา’ โดยอ้างว่าจะเร่งพัฒนา ‘แอปพลิเคชัน’ ในการชำระเงิน เพื่อแจกในรูปของดิจิทัลวอลเล็ตให้ทันในต้นปีหน้า

แต่คงเพราะมีเม็ดเงินไม่พอ จึงมีการลองหยั่งกระแสสังคมออกมาเป็นระยะ ๆ ว่า อาจมีการปรับลดขนาดของวงเงินในเฟสที่สองลงจากเดิมที่จะแจกให้คนละหมื่นบาท เหลือเพียงคนละ 5 พันบาท ในช่วงต้นปีหน้า ส่วนที่เหลืออีก 5 พันบาท อาจยืดระยะเวลาไปจ่ายอีกครั้งในปีงบประมาณ 2569  โดยอ้างว่ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณมากขึ้นในการเยียวยา‘ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เป็นปัญหาเร่งด่วนมากกว่า’

ภาพความดีใจของชาวบ้านหลังได้รับเงินหมื่นจากรัฐบาลในเฟสแรกของกลุ่มเปราะบางถึงแม้จะช่วยสร้าง ‘เรตติ้ง’ ให้กับ นายกฯอิ๊งค์ และทำให้เกิดภาพ ‘ลวงตา’ ทางการเมืองได้ในระยะสั้น ๆ แต่จากที่รัฐบาลเคยคาดหวังว่าจะอัดฉีดเม็ดเงินลงไปเพื่อสร้าง ‘พายุหมุน’ ทางเศรษฐกิจ ถึงตอนนี้เมื่อสายลม **‘วูบแรก’**พัดผ่านไปเพียงชั่วครู่ รัฐบาลก็ต้องกลับมาเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง คือต้องหาคำตอบให้กับคนอีก 26 ล้านคนที่กำลังรอเงินหมื่นอย่างไร

เมื่อทศวรรษที่แล้ว โครงการรับจำนำข้าว ในราคาสูงกว่าตลาดทุกเมล็ด กลายเป็น ‘มหากาพย์’ ที่นำไปสู่ความล้มเหลวในเชิงนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลคุณอา‘ปู’ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่น่าเชื่อเมื่อมาถึง พ.ศ.นี้ ในยุคหลาน ‘อิ๊งค์’ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ส่อเค้าว่าจะโดน ‘มรสุม’ ทางการเมืองพัดถล่มจากฝ่ายค้านและฝ่ายแค้นที่จะอาศัย ‘นิติสงคราม’ เล่นงาน และอาจจะมีบทสรุปที่ไม่แตกต่างกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์