ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสี ดูเหมือนจะเป็นนโยบายหลักของสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เจ้าตัวพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง
แต่มีข้อแม้ว่าต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ. ตั๋วร่วม มีผลบังคับใช้ซึ่งคาดว่า จะเป็นช่วงเดือนกันยายนปีหน้าเสียก่อน โดยจะมีการตั้งกองทุนเพื่อจ่ายเงิน ‘ชดเชย’ ให้เจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้า ซึ่งมีทั้ง หน่วยงานรัฐคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. และ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. รวมทั้ง เอกชนเจ้าของสัมปทานคือ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบีทีเอสโฮลดิ้งส์
ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง ดังนั้น เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว ก็ต้องทำ จะทำแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทำแบบมีเงื่อนไขมีข้อแม้ก็ต้องทำไปเท่าที่ทำได้ก่อน เพื่อไม่ให้ถูกตราหน้าว่า ‘ดีแต่พูด’ หรือ ‘คิดใหญ่ทำไม่เป็น’
เหมือนโครงการแจกเงินดิจิทัล ที่ ‘ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่’ ตอนนี้ไม่เหลือคราบดิจิทัล หรือบล็อกเชน ต้องกลับไปใช้เทคโนโลยีโบราณ ‘แจกเงินสด’ ผ่านบัตรคนจน แถมยังจะขอผ่อนจ่ายเป็น 2 งวด สำหรับคนที่ไม่มีบัตร เพราะเงินไม่พอ
ดังนั้น สุริยะ จึงต้องโม้ไปเรื่อย เรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสี จนกว่าจะถึงกลางปีหน้า หาเป็นจริงก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์ ถ้าทำไม่ได้ก็หาเรื่องแก้ตัวไป
รถไฟฟ้าที่เก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ปัจจุบันคือรถไฟฟ้าสายสีม่วงของ รฟม. และ รถไฟฟ้าสายสีแดงของ รฟท. เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ต้องปฏิบัติตามนโยบายของเจ้ากระทรวงอยู่แล้ว และจะหมดเขตเก็บในอัตรานี้ ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
จะเก็บ 20 บาทตลอดสายต่อไปไหม ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นอัตราค่าโดยสารที่ถูก แบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชนได้มาก แต่เป็นราคาที่ทำให้ รฟม. และ รฟท. ขาดทุน รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุน รวมกันแล้วปีละประมาณ260 ล้านบาท
เวลาสุริยะพูดถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะพูดแต่เรื่องจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น แต่ ‘ไม่บอกว่ารัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนไปเท่าไร’
ล่าสุดเขาบอกว่า หากจะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสาย ต้องใช้เงินปีละ ประมาณ 8 พันล้านบาท ถ้า 2 ปี ซึ่งจะครบวาระรัฐบาลนี้ จะต้องใช้เงิน 16,000 ล้านบาท โดยจะเอา **‘เงินส่วนแบ่งราย’**ได้สายสีน้ำเงินของ รฟม. มาใช้
พูดแบบนี้ก็เหมือนหลุดปากว่า จะจับผู้ใช้รถไฟฟ้าใน กทม. เป็นตัวประกัน โดยใช้เงินหลวงเข้าล่อ เพราะจะช่วยแค่ 2 ปี ถ้าอยากนั่งรถไฟฟ้า ในราคา 20 บาท ตลอดสายก็จะต้องเลือกพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลต่อไป
ที่สำคัญคือ เรื่องราคารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสีที่ผ่านมา สุริยะ ‘พูดฝ่ายเดียว’ ไม่รู้ว่า เคยคุยกับเจ้าของ BEM ที่เป็นผู้ถือสัมปทานสายสีน้ำเงินและสายสีส้ม หรือ บีทีเอส เจ้าของสัมปทานสายสีชมพู สีเหลือง และรถไฟฟ้าบีทีเอสว่า เขาเออออ ห่อหมกด้วยหรือไม่ คงไม่ง่ายเหมือน รฟท. และ รฟม. ที่ไม่มีเจ้าของผู้บริหารพร้อม **‘สนองนโยบาย’**นักการเมืองทุกเรื่อง เพราะไม่ใช่ธุรกิจของตัวเอง
ในขณะที่สุริยะ ให้ความสำคัญกับนโยบายรถไฟฟ้า 20บาทตลอดสาย คนที่ต้องใช้รถเมล์กำลังประสบกับ **‘ปัญหา’**ที่กระทบกระเทือนต่อค่าครองชีพและคุณภาพชีวิต หลังจากการปฏิรูปรถเมล์ในกทม. ที่ทำให้เอกชนรายเดียว คือบริษัท ‘สมายล์บัส’ ได้รับใบอนุญาตเดินรถเมล์ ในกทม. เกือบครึ่งหนึ่ง
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผู้โดยสารจำนวนมากต้องรอรถเมล์ ‘นานถึงนานมาก’ คือ ไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงในหลายๆสาย เพราะผู้เดินรถมีรถไม่เพียงพอ หรือมีรถแต่ไม่มีคนขับ เพราะต้องเดินรถถึง123 สาย จากจำนวนทั้งหมด269 สาย
ในขณะที่ค่าโดยสารรถเมล์ที่เป็นรถไฟฟ้าของสมายล์บัสคิดตามระยะทาง ตั้งแต่ 15-25 บาท ถึงแม้ว่า ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงคือ ค่าไฟฟ้า จะต่ำกว่าน้ำมันมากกว่า 50 %ก็ตาม ในกรณีที่ผู้โดยสารต้องต่อรถหลายทอด วันหนี่ง ๆ ค่าโดยสารไปกลับเฉียด ๆ ร้อยบาท
เปรียบเทียบกับค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่สุริยะกำลังผลักดัน กับค่ารถเมล์ 25 ตลอดสาย และความสะดวก ความรวดเร็วในการเดินทางที่ต่างกันลิบลับ ถ้ารัฐบาลสามารถหาเงินปีละ 8,000 ล้านบาท มาอุ้มคนใช้รถไฟฟ้าได้ ทำไมจึง ‘ทอดทิ้ง’ คนนั่งรถเมล์ให้เผชิญกับค่าโดยสารที่สูง และความไม่สะดวกสบายในการใช้บริการ
เป็นเพราะตอนหาเสียง พรรคเพื่อไทยมีแต่นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ไม่เคยหาเสียงว่า จะช่วยคนนั่งรถเมล์ยังไง ใช่ไหม ?