เวลาผ่านไปเกือบ 5 ปี โดยไม่ได้ทำอะไรเลยนับตั้งแต่ซีพี ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วันนี้เริ่มมีสัญญาณที่ดีว่า โครงการนี้จะไปต่อ ได้ตอกเสาเข็มต้นแรกกันสักที เพราะซีพี ได้ในสิ่งที่ต้องการแล้ว
ซีพีต้องการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ที่มีการลงนามไปแล้ว เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ในเรื่องการเงิน 2 เรื่องคือ
1.เงินที่จะต้องจ่ายให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 10,671 ล้านบาท เป็นค่ารับโอนสิทธิเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งต้องจ่ายเต็มจำนวน ทันทีที่รับโอนแอร์พอร์ตลิงค์ ซีพีขอผ่อนจ่ายเป็น 7 งวด งวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10 % งวดที่ 7 ชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย
ซีพี อ้างว่าโควิดทำให้ผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงค์ลดลงไปจากเดิมมาก จึงขอ ‘ผ่อนชำระ’ รัฐบาลที่แล้วอนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาในข้อนี้
2. เงินอุดหนุนค่าก่อสร้าง 117,727 ล้านบาท ที่ รฟท. ต้องจ่ายคืนให้ ซีพี เมื่อเปิดบริการแล้ว 1 ปี โดยทยอยจ่าย 10 ปี ซีพีขอรับเงินเร็วขึ้น คือให้ขอรับเงินอุดหนุนในปีที่ 2 ของการก่อสร้าง เร็วกว่าที่กำหนดในสัญญา 4-5 ปี ซึ่งจะทำให้ซีพี ไม่ต้องกู้เงินมาก สามารถลดต้นทุนดอกเบี้ยได้มหาศาล เพราะสร้างไป เบิกไป แต่ รฟท. มีภาระการเงินเพิ่มต้องหาเงินมาจ่ายตั้งแต่ปีที่ 2 ของการก่อสร้าง
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ‘ไม่ยอมให้แก้สัญญา’ ในข้อนี้ ประจวบกับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล รัฐบาลนี้ไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี’ เลยเพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลที่แล้ว เป็นผู้ริเริ่มโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ คือ รถไฟความเร็วสูง สนามบินและเมืองการบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด ก็ประมูลเซ็นสัญญาไปหมดแล้ว ‘ไม่เหลือ’ อะไรให้รัฐบาลนี้เลย
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จึงหยุดนิ่งอยู่กับที่ จนกระทั่งต้นปีที่ผ่านมาการเจรจาระหว่างซีพี รฟท. และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการลงทุนในอีอีซีจึงเริ่มมีความคืบหน้า
โดยยอมตามความต้องการของซีพี เปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินอุดหนุนให้เร็วขึ้น จากเดิมจ่ายในปีที่ 6 คือ ก่อสร้าง 5 ปี เสร็จแล้วเปิดบริการปีแรก มาเป็นการ สร้างไป จ่ายไป คือเริ่มจ่ายหลังจาก รฟท. ออกหนังสือให้เริ่มงาน หรือ NTP (Notice To Proceed) ไปแล้ว 1 ปีครึ่ง
เพื่อป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยโครงการ โฮปเวลล์ที่สร้างไป เบิกไป พอ ‘กอร์ดอน วู’ มีปัญหาสภาพคล่องก็ทิ้งงาน รฟท. จึงให้ ซีพีวางหลักประกันเป็นแบงก์การรันตี ทั้งในส่วนของค่าสิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์ที่ขอผ่อนชำระ และค่าก่อสร้าง 117,000ล้านบาท
และซีพีต้องโอนกรรมสิทธิ์โครงการให้ รฟท. ทันที่ทีก่อสร้างเสร็จ จากเดิมที่ต้องโอนหลังจากครบอายุสัญญา 50 ปี เพราะ รฟท. ได้กลายเป็น ‘ผู้รับภาระ’ การลงทุนเกือบทั้งหมดแทนซีพีไปแล้ว ทั้งเวนคืนที่ดิน จ่ายค่าก่อสร้าง ซีพีลงทุนแค่ ระบบเดินรถ และบริหารจัดการ เก็บค่าโดยสารไปอีก 50 ปี
การประชุมบอร์ดอีอีซี วันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นชอบการแก้ไขสัญญานี้ หลังจากผ่านด่านที่ 1 คือ บอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ผ่านด่านที่ 2 คือ คณะกรรมการกำกับ บริหารสัญญา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน
เหลือด่านสุดท้ายคือ ครม. ที่จะต้องให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญา ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเรื่องใหญ่แบบนี้คงมีการ ‘พูดคุยตกลง’ กันกับผู้มีอำนาจทั้งบนโต๊ะ ใต้โต๊ะ มาเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้โครงการได้เริ่มต้นสักที และจะมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึง การแจ้งเกิดของอีอีซีด้วย
ถ้าจะมีอุปสรรค เรื่องเดียวคืออาจมีใครไปฟ้องศาลปกครองว่า เป็นการแก้สัญญาที่ไม่ชอบเพราะตอนขายซองเปิดประมูล เป็นสัญญาร่วมลงทุนรัฐ เอกชน แต่ตอนจบทำไมกลายเป็น รฟท. เป็นผู้ลงทุนหลัก รับความเสี่ยงเต็ม ๆ ซีพี เป็นแค่ผู้รับเหมาก่อสร้างและรับจ้างเดินรถ