ซีพีกับรถไฟความเร็วสูง EEC ยื้อไปก่อน หรือยื้อเพื่อล้ม

29 ก.พ. 2567 - 02:00

  • เวลา 4 ปี หากเริ่มลงมือก่อสร้าง ไม่เล่นเกมยื้อไป ยื้อมา คงเห็นความคืบหน้า

  • รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ซีพี ได้สัมปทานไป เงียบกริบ

  • ตั้งแต่ได้งานไป ก็มีแต่เรื่องการต่อรอง แก้ไขสัญญา พร้อมกับต่อรองเรื่องเงิน

DEEP-SPACEeconomy-high-speed-train-connecting-airports-SPACEBAR-Hero.jpg

ผ่านไป 4 ปีกว่าแล้ว ตั้งแต่วันเซ็นสัญญาร่วมลงทุน (24 ตุลาคม 2562) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือ รถไฟความเร็วสูงอีอีซี ที่กลุ่มซีพี เอาชนะกลุ่มบีทีเอส ของคีรี กาญจนพาสน์ ได้รับสัมปทานไป

จนถึงบัดนี้ ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างเลย แม้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจ้าของโครงการ พร้อมจะส่งมอบพื้นที่เกือบ 100% ตั้งแต่ 2 ปีก่อน บัตรส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับหมดอายุไปแล้ว 2 ครั้ง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เปิดโอกาสให้ต่ออายุครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย แต่ซีพีก็ยังไม่ขยับ 

ล่าสุด กลับไปเอาเรื่องเก่าที่จบไปตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว มาต่อรองใหม่  คือ ขอเอาเงินค่าก่อสร้างช่วง บางซื่อ - ดอนเมือง มูลค่า 9,207 ล้านบาท ที่ รฟท. จะให้บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ซีพีตั้งขึ้นมาทำรถไฟความเร็วสูง เป็นผู้ก่อสร้าง ไปหักออกจาก ค่าสิทธิในรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จำนวน 10,671.09 ล้านบาท 

เส้นทางช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ทับซ้อนกันระหว่าง รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน กับรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-โคราช ที่ รฟท. เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด สามารถใช้ทางร่วมกันได้ เพราะไม่มีพื้นที่พอให้ต่างคนต่างสร้าง ซ้ำซ้อนเปลืองสตางค์โดยใช่เหตุ

รฟท. อ้างว่า ไม่อยากลงทุนเองเพราะต้องเปิดประมูล หาผู้ก่อสร้าง จะทำให้รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช ซึ่งช้ากว่ากำหนดไปมากแล้ว ยิ่งช้าออกไปอีก เลยจะให้ เอเชีย เอราวัน เป็นผู้ก่อสร้างแทน

เรื่องชวนสงสัยคือ เส้นทางช่วง บางซื่อ-ดอนเมือง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินอยู่แล้ว มิใช่หรือ เพราะเป็นเส้นทางที่สร้างต่อออกไปจากแอร์พอร์ตลิงค์ที่มักกะสัน เชื่อม สนามบินสุวรรณภูมิ กับสนามบินดอนเมือง เอเชีย เอราวัน ผู้รับสัมปทานต้องสร้างอยู่แล้ว ถ้ารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-โคราช จะมาใช้เส้นทางร่วม ก็ต้องไปเจรจากับ รฟท. ว่า จะช่วยแบกภาระค่าก่อสร้างเท่าไร 

การใช้วิธีหักกลบลบหนี้ ระหว่าง 2 โครงการ จะทำให้เอเชีย เอราวัน จ่ายค่าแอร์พอร์ตลิงค์แค่ 1,464ล้านบาทเท่านั้น จากเดิมที่จะต้องจ่าย 10,671 ล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติในเรื่องของสัญญาคนละฉบับ คนละโครงการ มีปัญหาว่า ทำได้ไหม

ที่บอกว่า ซีพีเอาเรื่องเก่าที่จบไปแล้วมาต่อรองใหม่ คือ ค่าสิทธิแอร์พอร์ตลิงค์รัฐบาลที่แล้ว อนุมัติตามที่ซีพีขอ คือขอผ่อนชำระค่าสิทธิ 10,671 ล้านบาท จากเดิมที่ต้องจ่ายทันที ทันทีที่รับโอนสิทธิ (24 ตุลาคม 2564) เป็นผ่อนชำระ 7 งวด  พร้อมดอกเบี้ย โดยอ้างว่า วิกฤตโควิด ทำให้รายได้จากแอร์พอร์ตลิงค์ลดลงไปมาก 

ซีพีรับแอร์พอร์ตลิงค์ไปบริหาร 2 ปีกว่าแล้ว โดยยังไม่ได้จ่ายค่าสิทธิงวดที่ 1 และ2 เลย เพราะยังไม่ได้แก้สัญญาร่วมลงทุน มาถึงวันนี้จะกลับไปนับหนึ่งเรื่องค่าสิทธิแอร์พอร์ตลิงค์ที่จบไปแล้วใหม่

เรื่องเก่าเรื่องที่สองที่จบไปแล้ว ถูกซีพี ขุดขึ้นมาต่อรองใหม่ คือ ค่าก่อสร้างช่วง บางซื่อ-ดอนเมือง 9,207 ล้านบาท ซีพีเคยต่อรองแลกกับ ขอให้ รฟท.จ่ายเงินอุดหนุน ค่าก่อสร้าง 116,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปีที่ 2 ของการก่อสร้าง จากเดิมที่สัญญาระบุว่า ต้องสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการแล้ว 

รัฐบาลที่แล้ว ไม่อนุมัติข้อนี้ เพราะผิดหลักการของ การร่วมทุนระหว่างรัฐ กับเอกชน ที่ต้องการให้เอกชนรับผิดชอบทั้งหมดทั้งการก่อสร้างงานโยธา การจัดหาขบวนรถ การติดตั้งระบบ การเดินรถ  การจัดเก็บรายได้ และการจัดหาเงินทุน เมื่อเปิดเดินรถได้แล้ว รัฐจึงจะเริ่มจ่ายเงินอุดหนุน

เป็นหลักประกันว่า เอกชนจะต้องทำงานให้เสร็จ เปิดบริการได้ตามกำหนด

แต่สิ่งที่ ซีพีขอคือ ‘สร้างไป เบิกไป’ ไม่ใช่การร่วมลงทุนรัฐ เอกชนแต่เป็นการรับเหมาก่อสร้าง  เบิกค่าจ้างเป็นงวด ๆ จึงไม่มีใครกล้าอนุมัติ ทั้งรัฐบาลก่อน และรัฐบาลนี้ 

คราวนี้ ซีพีเอาเรื่อง สร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ไปผูกกับขอลดค่าสิทธิแอร์พอร์ตลิงค์

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เอกชนต้องการลดภาระทางการเงินให้น้อยที่สุด แต่ปัญหาคือ มาขอแก้สัญญาเอาต่อเมื่อ ชนะการประมูล เซ็นสัญญาไปแล้ว ถือว่า ไม่เป็นธรรมต่อ รฟท. ที่เป็นคู่สัญญา และต่อผู้ประมูลรายอื่น 

โครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน เป็น 1 ใน 4 โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะขับเคลื่อนอีอีซี ให้มีความน่าสนใจในการลงทุนของต่างชาติ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และท่าเรือมาบตาพุด เดินหน้าไปแล้ว โครงการเมืองการบินและสนามบินนานาชาติ อู่ตะเภา ยังไม่คืบหน้า เพราะรอการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ของกองทัพเรือ และรอว่า  ซีพี จะล้มรถไฟความเร็วสูงไหม

ถ้าซีพี ทิ้งโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเริ่มร่ำลือกันแล้ว จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออีอีซี

อย่างไรก็ตาม การจะบอกเลิกสัญญาฝ่ายเดียว ทำไม่ได้ มีความผิดต้องถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย  ถ้าจะเลิกต้องให้ รฟท. ยอมเลิกด้วย ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่รู้จะหาเหตุผลอะไรมาอธิบาย 

ยื้อไปเรื่อย ๆ อ้างโน่น อ้างนี่ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในตอนนี้ ในขณะที่ผู้มีอำนาจตั้งแต่นายกรัฐมนตรี  รองนายกฯ ‘ภูมิธรรม เวชชชัย’ ซึ่งเป็นประธานบอร์ด อีอีซี ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รัฐมนตรีคมนาคม ก็ไม่สนใจ 

หรือว่าเรื่องนี้ต้องให้ถึงทักษิณ ชินวัตร คนเดียวที่ทุบโต๊ะได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์